The Longest Way Round is the Shortest Way Home การสำรวจเส้นทางกลับบ้านของแรงงานพลัดถิ่น

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
The Longest Way Round is the Shortest Way Home

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจ เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า

The Longest Way Round is the Shortest Way Home

โดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล นักทำหนังชาวไทยที่ปกติเราจะคุ้นเคยกับเขาจากผลงานหนังสารคดีกลิ่นอายแปลกใหม่

อย่าง “ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง” ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตผู้คนในพื้นที่พิพาทระหว่างชายแดนไทย-เขมร

และ “สายน้ำติดเชื้อ” ที่นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับชาวบ้านคลิตี้ล่าง หมู่บ้านกะเหรี่ยงเล็กๆ ใน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากแหล่งน้ำปนเปื้อนสารตะกั่วที่ลักลอบปล่อยโดยอุตสาหกรรมเหมืองแร่

และ “#BKKY” สารคดีผสมเรื่องแต่ง ที่สำรวจชีวิตและความใฝ่ฝันของวัยรุ่นในกรุงเทพฯ

รวมถึงผลงานล่าสุด “ดินไร้แดน” สารคดีที่สำรวจชีวิตของวัยรุ่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณรัฐกันชนระหว่างภาคเหนือของไทยและพม่า ซึ่งเคยเป็นดินแดนของผู้อพยพชาวไทใหญ่และชนกลุ่มน้อยผู้ลี้ภัยสงคราม

ในนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกนี้ นนทวัฒน์นำเสนอผลงานที่มุ่งเน้นในการสำรวจชีวิตของแรงงานชาวไทใหญ่ในเชียงใหม่ จากการสังเกตการณ์และการวิจัยในพื้นที่ภายในประเทศเมียนมา ด้วยการติดตามการเดินทางของเด็กหนุ่มชาวไทใหญ่คนหนึ่ง ในระหว่างที่เขากลับสู่หมู่บ้านในรัฐฉาน เพื่อเยี่ยมเยียนครอบครัวหลังจากที่ไม่ได้กลับไปเป็นเวลา 6 ปี และการทำเอกสารประจำตัวประชาชนอันจำเป็นอย่างยิ่งของเขา

The Longest Way Round is the Shortest Way Home

ผลงานชิ้นนี้ของนนทวัฒน์สะท้อนความไม่มั่นคงของชีวิตผู้อพยพย้ายถิ่น ที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากจากการไม่มีเอกสารระบุตัวตนจากทางราชการ และกระบวนการข้ามเขตแดนอันยุ่งยาก โดยเฉพาะระหว่างเมียนมาสู่ประเทศไทย ที่บังคับให้พวกเขาต้องเลือกระหว่างสิทธิเสรีภาพอันจำกัดในต่างแดน หรือการหวนคืนบ้านเกิดอันยากไร้

“งานชุดนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2016 ที่ผมเริ่มสนใจพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ เพราะแต่ก่อนผมเคยไปแต่พื้นที่ชายแดนอีสานและเขมร แต่ผมไม่เคยรู้เรื่องเกี่ยวกับพื้นที่ชายแดนภาคเหนือเลย ผมเลยอยากสำรวจว่าที่นั่นเป็นอย่างไร

The Longest Way Round is the Shortest Way Home

บังเอิญโชคดีที่ผมได้เข้าไปในพื้นที่รัฐกันชนระหว่างภาคเหนือของไทยและพม่าตอนทำสารคดีเรื่อง “ดินไร้แดน” เลยได้รู้ว่าที่นั่นมีชาวไทใหญ่อาศัยอยู่เยอะมาก คือตอนไปเที่ยวเชียงใหม่หรือไปภาคเหนือหลายๆ ครั้ง ผมไม่เคยสังเกตว่ามีชาวไทใหญ่อยู่ร่วมกับคนไทยเลย แต่พอเริ่มทำสารคดีเรื่องนี้ หันไปที่ไหนก็เจอชาวไทใหญ่ ไปเชียงใหม่นั่งร้านอาหาร คนเสิร์ฟอาหารก็เป็นชาวไทใหญ่ คนงานก่อสร้าง คนสวนก็เป็นชาวไทใหญ่ ผมเลยรู้สึกอยากรู้ว่าทำไมเขาถึงมาอยู่เชียงใหม่กันเยอะขนาดนี้

หลังจากนั้นผมมีโอกาสได้เข้าไปสำรวจในพื้นที่ที่เขาฝึกทหารของกองทัพกู้ชาติแห่งรัฐฉาน ได้พูดคุยกับวัยรุ่นชาวไทใหญ่หลายคน และพบว่าพวกเขาเองไม่อยากเป็นทหาร แต่ต้องเป็นเพราะความจำเป็น เพราะเขาเป็นผู้อพยพที่ไม่มีที่ไป ไม่มีเงิน

The Longest Way Round is the Shortest Way Home

อย่างตอนเราทำ #BKKY เราถามถึงความฝันของวัยรุ่นกรุงเทพฯ เขาก็อยากเป็นโน่นเป็นนี่กันเต็มไปหมด แต่พอถามถึงความฝันของวัยรุ่นไทใหญ่คือ เขาอยากไปอยู่เชียงใหม่เพื่อจะได้มีโอกาสมีความฝันแบบคนปกติบ้าง

พอผมไปสำรวจที่เชียงใหม่ก็พบว่าสถานการณ์ของชาวไทใหญ่ในเชียงใหม่นั้นค่อนข้างละเอียดอ่อน เพราะชาวไทใหญ่ที่มาหางานทำที่เชียงใหม่ส่วนใหญ่เป็นคนไร้สัญชาติ ไม่มีบัตรประชาชน ทำให้เราไม่สามารถถ่ายทำเรื่องของพวกเขาเป็นสารคดีออกมาได้ เลยตัดสินใจทำออกมาเป็นเรื่องแต่งในหนังชื่อ Doi Boy แทน

หลังจากทำสารคดีและหนังเรื่องที่ว่าเสร็จ ผมก็มีโอกาสได้เข้ามาคุยกับทางแกลเลอรี่เวอร์ ว่าอยากทำงานที่ต่อยอดจากประเด็นในสารคดีเรื่องนี้ เพราะมีข้อมูลที่ค้นคว้ามาเยอะมาก ก็เลยตั้งใจว่าจะทำออกมาในสื่อหลายๆ แบบ อย่างผลงานในนิทรรศการนี้

ผมคัดเลือกหนุ่ม-สาวชาวไทใหญ่ช่วงอายุประมาณ 18-25 ปี ราวๆ 30 คน ที่ข้ามแดนมาพำนักอาศัยที่เชียงใหม่มาสัมภาษณ์ และคัดเลือกจนเหลือหนึ่งคนเพื่อมาทำเป็นสารคดี ก็คือต๊ะ (จายจันทร์ต๊ะ) เด็กหนุ่มชาวไทใหญ่ที่เข้ามาอยู่เชียงใหม่เป็นเวลา 6 ปีโดยไม่ได้กลับบ้านเลย

ผมเสนอเขาว่าจะออกเงินค่าเดินทางกลับบ้านให้ แต่ขอตามเขาไปถ่ายทำสารคดีด้วย ก็ออกมาเป็นเหมือนโร้ดมูฟวี่ที่ติดตามเขากลับบ้านไปหาครอบครัว และทำบัตรประชาชนพม่า”

นนทวัฒน์กล่าวถึงที่มาที่ไปของนิทรรศการครั้งนี้

สิ่งที่น่าสนใจอย่างมากก็คือ สารคดีโร้ดมูฟวี่ของนนทวัฒน์เรื่องนี้ไม่ได้ฉายบนจอแบบที่เราดูกันตามปกติในโรงหนัง หากแต่ถูกนำเสนอในรูปแบบของวิดีโอจัดวางที่ฉายภาพเคลื่อนไหวบนจอผ้าใบขึงไม้ไผ่คล้ายกับจอหนังกลางแปลง จำนวน 4 จอ ล้อมรอบผู้ชมในห้องแสดงงานของแกลเลอรี่เวอร์

โดยในแต่ละจอฉายภาพเหตุการณ์จากมุมมองที่แตกต่างกัน สร้างมิติในการดูหนังอันแปลกใหม่ที่ทำให้ผู้ชมอย่างเรารู้สึกราวกับได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วยจริงๆ

“ปกติเวลาดูหนังคนดูจะเคยชินกับการถูกบังคับให้จดจ่อกับจอหนังจอเดียว แต่พอมาอยู่ในพื้นที่หอศิลป์ก็เหมือนกับเราได้ทดลองเล่นสนุกกับคนดูมากกว่าการฉายแค่จอเดียว แต่ให้คนได้ดูหนังจาก 4 จอไปพร้อมๆ กัน โดยที่เรื่องราวในแต่ละจอดำเนินไปพร้อมๆ กันจากแต่ละมุมมอง คนดูก็จะสามารถเลือกได้ว่าอยากดูมุมไหน”

นอกจากหนังสารคดี 4 จอแล้ว ผลงานชุด The Longest Way Round is the Shortest Way Home ยังถูกนำเสนอในรูปภาพถ่ายสื่อผสม รวมถึงวิดีโอจัดวางในชื่อ Casting call จัดแสดงในห้องแสดงงาน โปรเจ็กต์รูม แกลเลอรี่เวอร์ ที่นำเสนอความรู้สึกนึกคิดและความใฝ่ฝันของแรงงานข้ามชาติหนุ่มสาวชาวไทใหญ่ที่นนทวัฒน์สัมภาษณ์มาโดยไม่แสดงหน้าตาของพวกเขา มีแต่เสียงพูดและคำบรรยาย

Casting call

ขับเน้นให้ผู้ชมอย่างเรารับรู้ถึงสถานภาพอันไร้ตัวตนในสังคมของพวกเขา

Casting call

นอกจากนี้ ผลงานชุดนี้ยังถูกทำออกมาในรูปแบบของหนังสือ in process of time ที่บันทึกกระบวนการวิจัยเพื่อค้นคว้าข้อมูลสำหรับบทภาพยนตร์ของนนทวัฒน์ในรูปของภาพถ่ายสารคดี ตั้งแต่ปี 2016-2020 โดยเชิญนักเขียน นักวิชาการ และศิลปินที่เข้าใจบริบทและประเด็นเกี่ยวกับการพลัดถิ่น ประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม มาร่วมหาคำตอบผ่านบทความในหนังสือเล่มนี้ โดยเปิดตัวพร้อมกับภาพถ่ายและประติมากรรมจัดวาง ที่ daily delay

in process of time

“ผมสนใจใน Microhistory (ประวัติศาสตร์ส่วนบุคคลของคนตัวเล็กตัวน้อย) เพราะมันเป็นสิ่งที่สะท้อนภาพใหญ่ๆ ของสังคม อย่างที่บอกว่าจุดเริ่มต้นมาจากความอยากรู้ของผม ที่ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยรู้ถึงการมีอยู่ของคนเหล่านี้มาก่อน ผมอยากสื่อสารให้คนดูได้รู้ถึงการมีอยู่ของพวกเขา ได้รู้ว่าพวกเขามีตัวตน มีพื้นเพ มีที่มาที่ไป พวกเขามาอยู่ที่นี่เพราะอะไร และพวกเราสามารถอยู่ร่วมกันกับเขาได้อย่างไร”

in process of time

นิทรรศการครั้งนี้เป็นการร่วมงานระหว่างนนทวัฒน์ และลอรีดาน่า พาซซินี่-พาราคเซียนี่ ภัณฑารักษ์อิสระผู้มีความสนใจในประเด็นเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและกลุ่มชาติพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เธอกล่าวถึงแนวคิดเบื้องหลังผลงานครั้งนี้ว่า

“เมื่อเราต้องการทำความเข้าใจกับผู้คนต่างๆ นอกจากการทำความเข้าใจกับภาษาของพวกเขาแล้ว ภาพที่เราเห็นก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ บางครั้งภาพสามารถพูดแทนถ้อยคำโดยไม่ต้องมีคำบรรยาย เราสามารถทำความเข้าใจผ่านดวงตาของเรา ในฐานะคนทำหนัง ฉันคิดว่านนทวัฒน์เข้าใจเรื่องเหล่านี้ และนำเสนอออกมาได้อย่างชาญฉลาด ยิ่งทำงานนานเข้า ฉันยิ่งตระหนักมากว่าศิลปะมีพลังอันมหาศาลในการสื่อสารแง่มุมสำคัญของชีวิต รวมถึงสังคม และวัฒนธรรมของมนุษย์ ฉันคิดว่าศิลปะ, มานุษยวิทยา และชาติพันธุ์วรรณนา (มานุษยวิทยาเกี่ยวกับการศึกษาวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ต่างๆ) นั้นมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออกในโลกศิลปะร่วมสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้างานศิลปะนั้นมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสังคม”

นิทรรศการ The Longest Way Round is the Shortest Way Home และ Casting call โดยนนทวัฒน์ นำเบญจพล จัดแสดงที่แกลเลอรี่เวอร์ และโปรเจ็กต์รูม ซอยนราธิวาส 22 ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม – 22 สิงหาคม 2560

สอบถามข้อมูลได้ที่ [email protected] และเบอร์โทรศัพท์ 08-9988-5890, สำหรับหนังสือ in process of time เปิดตัวและวางจำหน่ายที่ daily delay ซอยนราธิวาส 24 สอบถามข้อมูลได้ที่ [email protected]

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากแกลเลอรี่เวอร์ (ภาพถ่าย : ปรีชา ภัทรอัมพรชัย), daily delay