ต่างประเทศ : ถึงคราวจีนผงาดบนอวกาศ มุ่งหน้าสู่ดาวอังคาร

หลังจากที่มนุษย์โลกเคยประสบความสำเร็จในการขึ้นไปเหยียบพื้นผิวบนดวงจันทร์กันมาแล้ว เวลาล่วงเลยผ่านไปหลายสิบปี มนุษย์ยังคงมีความพยายามที่จะกลับไปยังดวงจันทร์อีกครั้ง

แต่ไม่ใช่เพียงแค่ดวงจันทร์เท่านั้นที่มนุษย์หมายมั่นปั้นมือว่าจะไปให้ถึง ยังมี “ดาวอังคาร” อีกดวงหนึ่ง ที่มนุษย์วาดฝันไว้ว่าจะต้องขึ้นไปสัมผัสให้ได้

ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 4 ในระบบสุริยะ เป็นดาวเคราะห์ที่เล็กที่สุดลำดับที่ 2 ในระบบสุริยะ รองจากดาวพุธ ขณะที่โลกอยู่ในลำดับที่ 3 ของระบบสุริยะ

ระยะห่างจากโลกไปถึงดาวอังคารนั้น จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับตำแหน่งวงโคจร หากดาวอังคารเข้าใกล้โลกมากที่สุด จะอยู่ห่างจากโลกราว 54.6 ล้านกิโลเมตร แต่ถ้าระยะห่างที่สุด ก็จะอยู่ที่ประมาณ 401 ล้านกิโลเมตร หรือถ้าคิดโดยเฉลี่ย ก็จะอยู่ที่ 225 ล้านกิโลเมตร

หลังจากที่สหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในการนำยานลงจอดและปล่อยยานสำรวจทำหน้าที่สำรวจดาวอังคารได้แล้ว ก็ยังไม่มีใครทำได้อีก

มีแต่ส่งยานไปโคจรสำรวจเท่านั้น

 

แต่ล่าสุด จีนหนึ่งในมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ของโลกก็ได้ประกาศศักดาด้วยการส่งจรวดลองมาร์ช-5 มุ่งหน้าสู่ดาวอังคาร พร้อมกับยานสำรวจดาวอังคารที่ติดขึ้นไปด้วย

โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา จีนได้ปล่อยจรวดลองมาร์ช-5 วาย-4 ที่บรรทุกยานสำรวจดาวอังคารแบบไร้มนุษย์ ออกจากศูนย์ปล่อยยานอวกาศเหวินชาง ที่เมืองเหวินชาง มณฑลไห่หนาน ประเทศจีน ภายใต้โครงการ “เทียนเวิ่น-1” เพื่อปฏิบัติภารกิจในการสำรวจดาวอังคาร โดยเทียนเวิ่นเป็นคำภาษาจีน แปลว่า “คำถามถึงสวรรค์”

ซึ่งการปล่อยจรวดดังกล่าว ถือว่าประสบความสำเร็จ ราบรื่น

และหากเป็นไปตามเป้าหมาย จรวดนี้จะไปถึงดาวอังคารในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า และมีกำหนดจะปล่อยยานสำรวจลงพื้นผิวดาวอังคารให้สำเร็จภายในเวลา 90 วัน

โดยสำนักงานอวกาศแห่งชาติของจีนระบุว่า หลังถูกปล่อยออกไป จรวดลองมาร์ช-5 บรรทุกยานสำรวจเอาไว้ราว 36 นาที ก่อนจะประสบความสำเร็จในการปล่อยยานสำรวจเข้าสู่เส้นทางที่จะทำให้ยานสำรวจนี้อยู่นอกวงโคจรของโลก และอาจจะเข้าไปในวงโคจรของดาวอังคารที่อยู่รอบดวงอาทิตย์มากขึ้น

หลิว ถง เจีย โฆษกของโครงการเทียนเวิ่น-1 กล่าวระหว่างการแถลงข่าวว่า การปล่อยจรวดครั้งนี้ ถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญของจีนในการมุ่งสู่อวกาศที่ไกลออกไปมากขึ้น โดยที่เป้าหมายไม่ใช่การแข่งกับประเทศอื่นๆ แต่เพื่อเป็นการสำรวจอวกาศอย่างสันติ

ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่จีนจะปล่อยจรวดครั้งนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เพิ่งจะส่งยานสำรวจดาวอังคารที่ชื่อว่า “อามัล” หรือ “โฮป” ออกไปเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม จากประเทศญี่ปุ่น แต่เป็นเพียงการส่งยานไปโคจรเพื่อสำรวจชั้นบรรยากาศของดาวอังคารเท่านั้น

ไม่ได้ลงจอดแต่อย่างใด

 

อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้ไม่ใช่ความพยายามมุ่งสู่ดาวอังคารครั้งแรกของประเทศจีน โดยเมื่อปี 2011 ยานโคจรของจีนที่ไปพร้อมกับยานขนส่งของรัสเซียได้สูญหายไป หลังจากที่ยานขนส่งไม่สามารถออกจากวงโคจรของโลกได้ หลังจากทะยานออกจากฐานปล่อยยานที่ประเทศคาซัคสถาน ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะถูกเผาผลาญไปในชั้นบรรยากาศแล้ว

แต่ครั้งนี้ ถือเป็นปฏิบัติการที่จีนทำเพียงลำพัง ไม่ได้เกาะไปกับประเทศใดเหมือนที่ผ่านมา

โดยโครงการนี้ จริงๆ แล้วจะมีการปล่อยจรวดออกไปในช่วงต้นปี แต่เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้บรรดานักวิทยาศาสตร์ต้องทำงานจากที่บ้าน และในเดือนมีนาคม เครื่องมือที่ต้องการใช้จะต้องส่งจากกรุงปักกิ่งไปยังนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งต้องใช้เวลาในการขนส่งนานถึง 12 ชั่วโมง

กระทั่งทุกอย่างคลี่คลาย ก็ได้ฤกษ์ในการปล่อยจรวดลองมาร์ช-5 ในที่สุด

 

ทั้งนี้ หนึ่งในปฏิบัติการบนดาวดวงอื่นๆ ที่ยากมาก คือเรื่องของ “การลงจอด” ที่ถือเป็นสิ่งสำคัญและยากลำบากอีกอย่างหนึ่งสำหรับบนดาวอังคาร โดยนายหลิว ถง เจีย โฆษกของโครงการเทียนเวิ่น-1 เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวก่อนหน้าการปล่อยจรวดว่า ครั้งนี้ถือเป็นความท้าทายที่เข้าใกล้ดาวอังคารมาก เมื่อเข้าไปใกล้ดาวอังคาร จะยิ่งเป็นช่วงวิกฤตในการปรับให้จรวดช้าลง ซึ่งหากไม่เป็นไปอย่างถูกต้อง หรือเที่ยวบินมีความแม่นยำไม่เพียงพอ ยานสำรวจก็จะไม่สามารถลงจอดบนดาวอังคารได้

นายหลิวกล่าวด้วยว่า ยานสำรวจจะโคจรรอบดาวอังคารก่อนเป็นเวลาประมาณ 2 เดือนครึ่ง แล้วจึงค่อยหาโอกาสในการเข้าสู่ชั้นบรรยากาศและหาทางลงจอดอย่างนุ่มนวล ซึ่งนายหลิวกล่าวว่า การเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ แล้วลดความเร็ว แล้วลงจอด เป็นกระบวนการที่ยากอย่างมาก แต่เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จและลงจอดได้อย่างปลอดภัย

โดยบทความที่ถูกตีพิมพ์เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาในวารสารเนเจอร์ แอสโตรโนมี นายว่าน เว่ย ซิง หัวหน้าวิศวกรของโครงการ เปิดเผยว่า เทียนเวิ่น-1 จะเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารในเดือนกุมภาพันธ์ และมองหาพื้นที่ที่เรียกว่า “ยูโทเปีย พลานิเทีย” บนดาวอังคาร และจะพยายามหาทางลงจอดให้ได้ในเดือนเมษายน หรือพฤษภาคม

หากทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ยานสำรวจที่มีขนาดเท่ากับรถกอล์ฟ น้ำหนัก 240 กิโลกรัม ก็จะได้ทำหน้าที่สำรวจพื้นผิวดาวอังคารเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน ส่วนยานโคจรจะอยู่ราว 2 ปี

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีเพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จในการนำยานอวกาศลงจอดบนพื้นผิวของดาวอังคาร หลังจากส่งไปถึง 8 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 1976 เป็นต้นมา

โดยปัจจุบันมีเพียงยานลงจอดอินไซต์และยานสำรวจคิวริออซิตี้ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซ่า) ของสหรัฐเท่านั้นที่ยังคงทำงานอยู่บนดาวอังคาร และมียานอวกาศอีก 6 ลำที่สำรวจดาวอังคารจากวงโคจร

ในจำนวนนี้เป็นของสหรัฐ 3 ลำ ของยุโรป 2 ลำ และของอินเดีย 1 ลำ

หากจีนทำสำเร็จครั้งนี้ ก็จะถือเป็นชาติที่ 2 ที่สามารถนำยานสำรวจลงจอดบนดาวอังคารได้

แต่จะสำเร็จตามที่หวังหรือไม่ ต้องรอดูกันปีหน้า