เกษียร เตชะพีระ | การเมืองไทยหลังโควิด (1)

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองไทยหลังโควิด (1)

ทีมงานสำนักข่าวออนไลน์เดอะสแตนดาร์ดได้ตั้งคำถามชวนคิดให้ผมไปร่วมเสวนา “A New Era of Nation-States นิยามใหม่ของรัฐชาติหลังโควิด-19” เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมศกนี้ 3 ข้อ ข้อแรกความว่า :

1) การเมืองไทยหลังโควิด : วิกฤตความชอบธรรมและความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลในการรับมือเชื้อไวรัสจะส่งผลอย่างไรต่อการจัดระเบียบและฉันทามติในหมู่ชนชั้นนำ สร้างผลกระทบต่อกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของไทย และโจทย์ใหญ่ที่รัฐราชการไทยต้องเผชิญและปรับตัว…

คำถามท้าทายเหล่านี้ยั่วให้ผมขบคิดทำบันทึกย่อเค้าโครงประเด็นเพื่อตอบมันอยู่ครึ่งค่อนวัน หลังเสวนาผ่านไปเรียบร้อย (ดูคลิปตัวอย่างที่ www.youtube.com/watch?v=PF1GnJ_c_GI) เผอิญผมไม่มีโอกาสนำเสนอทั้งหมดที่เตรียมไป จึงขอนำมาเรียบเรียงสู่ท่านผู้อ่านในคอลัมน์นี้ไปตามลำดับครับ

เริ่มจากการเมืองไทยหลังโควิด

ผมเห็นว่าโครงการทางการเมือง (political project) ที่ คสช.ทำหลังรัฐประหาร พ.ศ.2557 เป็นต้นมาร่วม 6 ปีได้พารัฐไทยมาผิดทาง กล่าวคือ คสช.มุ่งสร้าง :

รัฐอำนาจนิยม (authoritarian state) ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนพลเมือง โดยเฉพาะสิทธิการแลกเปลี่ยนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างเสรีและสิทธิในการมีส่วนร่วมใช้อำนาจการเมืองมากำหนดชีวิตตนเองร่วมกัน รวบริบอำนาจไปไว้ในมือคนกลุ่มน้อยหรือผู้นำหลักคนเดียว เพื่อความสงบราบคาบรู้รักสามัคคีในชาติโดยปลอดการเมือง (ดู เกษียร เตชะพีระ, “ความขัดแย้งทางชนชั้นกับการเมืองมวลชนรอยัลลิสต์ : ความย้อนแย้งของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยกับพระราชอำนาจนำ”, ฟ้าเดียวกัน, 14:2 (พฤษภาคม-ธันวาคม 2559), 13-37)

– รัฐขั้นต่ำ (minimal state) ที่ทำหน้าที่แค่พื้นฐานขั้นต่ำให้แก่สังคม ที่สำคัญได้แก่ รักษาความสงบราบคาบและกฎหมายซึ่ง คสช.ออกเองในบ้านเมือง และป้องกันประเทศจากศัตรูภายนอก ทว่า อิดเอื้อนบ่ายเบี่ยงลังเลที่จะทำหน้าที่ขั้นสูงตามความเรียกร้องต้องการของสังคม เช่น โครงการสวัสดิการสุขภาพถ้วนหน้าที่เรียกกันว่า “30 บาทรักษาทุกโรค” โดยอ้างว่าขาดแคลนงบประมาณ เป็นต้น และ

– รัฐเพื่อความมั่นคง (security state) ในความหมายของความมั่นคงแบบดั้งเดิม (conventional security) จึงเน้นการทุ่มงบประมาณสั่งซื้อและสร้างสมอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับทำสงครามยึดพื้นที่และน่านน้ำแบบเดิม เช่น เรือดำน้ำ รถเกราะ เป็นต้น

– ทั้งนี้ โดยอาศัย กลไกรัฐราชการ (bureaucratic state apparatus) เป็นเครื่องมือหลักในการสร้างรัฐตามแนวทางข้างต้นนี้ จึงได้ใช้อำนาจอาญาสิทธิ์ออกกฎหมายประกาศคำสั่งจำนวนมากมายหลายร้อยฉบับเพื่อเพิ่มขยายเขตอำนาจของหน่วยงานราชการ โดยมิได้ใส่ใจจริงจังในการแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐราชการซึ่งรวมศูนย์สูงแต่ด้อยเอกภาพ (overcentralized but under-unified state structure) ทำให้ขาดประสิทธิภาพเรื้อรัง

มิหนำซ้ำ คสช.กลับแทรกแซงการเลือกเลื่อนโยกย้ายแต่งตั้งตำแหน่งบังคับบัญชาในหน่วยงานราชการต่างๆ อย่างพลการ โดยข้ามระเบียบกฎเกณฑ์กระบวนการขั้นตอนปกติ เพื่อสนองตอบเป้าประสงค์ทางการเมืองของตน อันเป็นการซ้ำเติมความระส่ำระสายในระบบราชการเนื่องจากการแทรกแซงทางการเมืองของรัฐบาลต่างขั้วสลับกันในช่วงสงครามเสื้อสีสิบปีก่อนหน้านั้นอีก (ดู ประจักษ์ ก้องกีรติ กับ วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร, “ระบอบประยุทธ์ : การสร้างรัฐทหารและทุนนิยมแบบช่วงชั้น”, ฟ้าเดียวกัน, 16:2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2561, 7-41)

เหล่านี้ส่งผลให้รัฐราชการภายใต้ คสช. อำนาจเพิ่มมากขึ้น แต่สมรรถภาพกลับน้อยลง

เมื่อรัฐ คสช.เผชิญเข้ากับวิกฤตโควิด-19 ระบาดทั่วซึ่งมันเล่นบทเสมือน :

– ตัวสำแดงปัญหา (bring to the surface) เช่น ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ความด้อยเอกภาพและขาดประสิทธิภาพของระบบราชการ ดังกรณีหน้ากากอนามัยขาดแคลน กรณีอธิบดีกรมการค้าภายในขู่จะฟ้องโฆษกกรมศุลกากร การกระจายเงินเยียวยา 5,000 บาท/เดือนให้ประชาชนผู้เดือดร้อนไม่ทั่วถึง เป็นต้น

– ตัวเร่งวิกฤต (an accelerant) เช่น วิกฤตการบินไทยขาดทุนติดต่อกันหลายปีจนล้มละลาย เป็นต้น และ

– ตัวตกผลึกปัญหา (a catalyst for changes) เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิตอลที่มาปรากฏชัดเมื่อการศึกษาทุกระดับต้องเรียนออนไลน์ เป็นต้น (ประยุกต์จาก The Economist Intelligence Unit, “Geopolitics after Covid-19 : is the pandemic a turning point?”, The Economist, 2020)

ประเทศไทยจึงตกอยู่ในสภาวะพิลึกพิลั่นราวสองสัปดาห์ก่อนประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อรับมือโควิด-19 ที่รัฐแทบล้มเหลว แต่รัฐบาลกลับมั่นคง (รัฐบาลชนะญัตติไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านในสภา ขณะที่ผู้นำกองทัพสนับสนุนรัฐบาลอย่างเหนียวแน่น)

ภายใต้ระบอบการเมืองตามรัฐธรรมนูญไม่น่ารักฉบับ 2560 ที่อำนาจกับความพร้อมรับผิด (power vs. accountability) แปรผกผันกัน (ผู้มีอำนาจทำอะไรก็ไม่ต้องรับผิด ไม่ว่ากรณีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้อยคำตามรัฐธรรมนูญ หรือนาฬิกายืมเพื่อน ฯลฯ ส่วนผู้ถูกเล่นงานให้รับผิดคือผู้ไม่มีอำนาจ เช่น การยุบพรรคอนาคตใหม่ เป็นต้น)

กายาพยพของการเมืองไทย (the Thai body politic) จึงเปรียบเหมือนคนท้องเสีย แต่ถ่ายยังไงก็ไม่ออก จุกอุกอั่งท้องอืดท้องเยิงอยู่อย่างนั้น แล้วพาลไปกินอาหารเป็นพิษ (โควิด-19) ซ้ำเข้าไปอีก!

ในฐานะที่โรคโควิด-19 เป็น the Big Unknown คือมนุษย์เราทั่วโลกยังรู้อะไรเกี่ยวกับภัยความมั่นคงแบบใหม่นี้ทางด้านการแพทย์และระบาดวิทยาน้อยมาก ไม่ว่าจะในแง่อาการ การเยียวยารักษา วัคซีนป้องกัน ฯลฯ

มิพักต้องพูดถึงผลกระทบมหาศาลโดยรวมทางด้านเศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยา ฯลฯ รวมไปถึงการฟื้นฟูความเสียหายและปรับวิถีชีวิตหลังภัยพิบัติเพื่ออยู่กับมันได้อย่างปลอดภัย

คำถามเร่งด่วนร้อนลวกใจทางรัฐศาสตร์จึงเป็นว่า ในท่ามกลางความ (ยัง) ไม่รู้ดังกล่าว อะไรคือระบอบการเมืองการปกครองที่เหมาะกับการรับมือโควิด-19?

ตรงข้ามกับแนวทางแห่งโครงการการเมืองของ คสช.ที่พารัฐไทยมาปะทะเข้ากับวิกฤตโควิด-19 จนร่อแร่แทบล้มเหลว ผมกลับเห็นว่ารัฐไทยที่พอเพียงจะรับมือกับภาวะโควิด-19 ระบาดและสภาพหลังจากนี้ได้ถนัดถนี่เหมาะสมอย่างน้อยควรต้องเป็น :

– รัฐเสรีนิยมที่ตั้งอยู่บนฐานสิทธิ (right-based state) คือมีเส้นแบ่งจำกัดอำนาจรัฐไว้ไม่ให้ล่วงล้ำก้ำเกินข้ามมาได้ โดยเส้นดังกล่าวได้แก่สิทธิเสรีภาพของผู้คนพลเมืองเหนือชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของตนเองทั้งในฐานะปัจเจกบุคคลและชุมชนหมู่คณะ โดยมีศาลสถิตยุติธรรมที่อิสระเป็นกรรมการคุมเส้น

เพื่อทำให้มีการไหลเวียนแลกเปลี่ยนตรวจสอบพิสูจน์ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโรคระบาดทั่วโควิด-19 ในหมู่ประชาชนนานาชาติผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างเสรี (free flow of information) แทนที่มันจะถูกปิดบังกีดกั้นกดเก็บอำพรางเซ็นเซอร์โดยรัฐหรือผู้นำจำนวนน้อย คนไทยและนานาชาติจะได้สามารถเชื่อมโยงความรู้เฉพาะส่วนจากแหล่งสำรวจวิจัยต่างๆ ทั่วโลกให้สั่งสมองค์ความรู้ที่พอเพียงขึ้นมาได้ และ

– รัฐขั้นสูงตามวิถีประชาธิปไตย (maximal state) คือเป็นรัฐที่เพิ่มขยายหน้าที่ของตนออกไปตามความเรียกร้องต้องการและกำกับควบคุมของประชาชนผู้ร่วมใช้อำนาจปกครองตนเองมากขึ้น

จากการรักษาความสงบราบคาบและกฎหมายในประเทศและป้องกันประเทศจากศัตรูภายนอกขั้นพื้นฐาน ไปสู่ -> การประกันชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนพลเมืองให้ได้มาตรฐานที่ดีสมเป็นเพื่อนคนไทยและเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก

ทั้งในแง่ชีวปัจจัยสี่ บริการการแพทย์และสาธารณสุข การศึกษา การมีงานทำ โอกาสในการพัฒนาชีวิตของตนไปในแนวทางที่ตนปรารถนาและสามารถไปได้ (ดูแนวคิดรัฐที่ตั้งอยู่บนฐานสิทธิ vs. รัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์, รัฐขั้นต่ำ vs. รัฐขั้นสูงในนอร์แบร์โต บ๊อบบิโอ, เสรีนิยมกับประชาธิปไตย, 2558, บทที่ 3 ขีดจำกัดของอำนาจรัฐ)

ภายใต้อำนาจอัตตาณัติของประชาชนผู้เป็นเจ้าของ และฉะนั้นจึงควรได้เป็นผู้กำหนดชีวิตตนเอง

ซึ่งก็คือรัฐสวัสดิการ (welfare state) แบบประชาธิปไตยนั่นเอง

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)