ต่างประเทศอินโดจีน : เรื่องของฮุน มะเนต

ความลับที่ไม่เป็นความลับมานานมากแล้วในกัมพูชาก็คือ ฮุน มะเนต คือผู้ที่สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรี เลือกไว้เป็น “ทายาททางการเมือง”

แม้แต่ฮุน เซน เองก็จำต้องยอมรับในที่สุด เมื่อ 22 มิถุนายนปีนี้ นายกรัฐมนตรีพูดถึงลูกชายคนโตว่า ในฐานะที่เป็นพ่อ ก็ต้องสนับสนุนแล้วก็อบรมลูกให้มีความสามารถเพียงพอต่อการรับตำแหน่งผู้นำพรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) และตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว

“ถึงเขาอาจจะไม่สามารถเป็นเหมือนพ่อ อย่างน้อยก็ควรให้ได้สัก 80-90 เปอร์เซ็นต์”

 

ฮุน เซน เป็นนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี 1985 ในวัย 67 ปียังกลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจอยู่ในมือมากที่สุดเท่าที่กัมพูชาเคยมี

ฮุน มะเนต ลูกคนที่ 2 แต่เป็นลูกชายคนโต ถูกบ่มเพาะมาเนิ่นนานเต็มทีเพื่อสืบทอดอำนาจของผู้เป็นพ่อ

หลังจากเรียนพื้นฐานในประเทศ ฮุน มะเนต ไปศึกษาวิชาการทหารจากสถาบันวิชาการทหารแห่งสหรัฐอเมริกาหรือเวสต์ปอยต์ รับปริญญาตรีเมื่อปี 1999 อีก 3 ปีถัดมาสำเร็จปริญญามหาบัณฑิตด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ในปี 2008 ก็ได้ดุษฎีบัณฑิตสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาบริสตอล ในประเทศอังกฤษ

กลับบ้านเกิดก็ได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการกองบัญชาการพิเศษเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายแห่งชาติแบบทันควัน แม้อายุยังน้อยและไม่มีประสบการณ์ก็ตาม

พอถึงปี 2013 ก็ครองยศพลโทประจำกองทัพบกกัมพูชา เพียง 5 ปีก็ทะยานขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกและรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตำแหน่งที่ว่ากันว่ามีอำนาจมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในกัมพูชา ครองยศพลเอก

เป็นรองก็เพียงแค่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดอย่างฮุน เซน ผู้เป็นบิดาเท่านั้นเอง

 

ในทางการเมือง ฮุน มะเนต ถูกแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกคณะกรรมการกลางพรรคซีพีพี ก่อนจะก้าวขึ้นเป็นประธานองค์กรยุวชนพรรคซีพีพี เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้นี่เอง

อาจบางที เป็นเรื่องธรรมดาที่ยิ่งความชัดเจนเรื่อง “ทายาท” นี้มีมากขึ้น เสียงครหาเกี่ยวกับตัวฮุน มะเนต ก็ทวีขึ้นตามไปด้วย

นอกจากจะถูกกล่าวหาว่าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายธุรกิจการเมืองที่สร้างความมั่งคั่งให้กับ “คนตระกูลฮุน” และเครือข่ายญาติมิตรใกล้ชิดมาตลอดแล้ว

หลังสุด ฮุน มะเนต ยังถูกโม โสชัว แกนนำอดีตพรรคฝ่ายค้านที่ถูกยุบไปแล้วกล่าวหาว่า “มีลับลมคมใน” ในโครงการจัดซื้อรถบรรทุกทหาร 290 คันจากจีน มูลค่า 20 ล้านดอลลาร์

ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังดิ่งลงอย่างหนัก ชาวกัมพูชาเป็นจำนวนมากเดือดร้อนสาหัสจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอคอยความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์จากรัฐบาล

 

เมื่อถูกถามเรื่องนี้ ฮุน มะเนต ตอบหน้าตาเฉยว่า การจัดซื้อครั้งนี้ไม่ได้ใช้เงินงบประมาณของแผ่นดิน “แม้สักแดงเดียว”

ฮุน มะเนต อธิบายต่อว่า เงินที่ใช้ในการจัดซื้อทั้งหมดมาจาก “พลเรือนและบริษัทธุรกิจกัมพูชา” ที่ “รักชาติ” และเห็นความจำเป็น

แต่ไม่บ่งบอกชื่อบริษัท หรือรายนามบุคคลออกมาให้กระจ่างชัดแต่อย่างใด

ตำหนิใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นผู้สื่อข่าว ฝ่ายค้านหรือนักวิเคราะห์อิสระ ที่หยิบยกเอาเรื่องนี้มาวิพากษ์วิจารณ์และตั้งข้อกังขาถึงที่มาของเงินจำนวนมากก้อนนี้ว่า “ไม่รักชาติ”

แล้วก็ยอมรับอย่าง “ภาคภูมิใจ” ว่า ผู้เป็นบิดามี “บุคคลผู้มั่งคั่ง” จำนวนหนึ่งรายล้อมอยู่โดยรอบ พร้อมทำตามความประสงค์ของท่านผู้นำ

ฮุน มะเนต ยืนกรานว่า ตนสามารถใช้เงินไปในทางใดก็ได้ที่เห็นว่าเหมาะสม โดยไม่จำเป็นต้องหารือหรือบอกกล่าวกับสาธารณะ แม้ในยามเกิดวิกฤตด้านสาธารณสุขเช่นในตอนนี้ก็ตาม

อาจบางที สิ่งที่ประชาชนกัมพูชาหวั่นกลัว ไม่ได้เป็นอย่างที่ฮุน เซน กำลังวิตก

ไม่ได้กลัวว่า ฮุน มะเนต จะไม่เหมือนผู้เป็นบิดา กลัวแต่ว่าจะเหมือนมากจนเกินไปเท่านั้น