จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 31 ก.ค. – 6 ส.ค. 2563

จดหมาย

 

0 ผี (1)

ผมดูข่าวเรื่องผีหลอก

ผมเชื่อว่าผีมีจริง

ผีคือร่างที่ไร้วิญญาณ คือตายแล้ว เรียกกันว่าผี แต่วิญญาณยังอยู่

ผมบวชเมื่อปี 2508

ในวัดที่มีป่าช้าฝังศพคนตายรอเผา

เคยไปอยู่แถวป่าช้า แต่ไม่เคยมีผีหลอก ตลอดเวลาบวช 120 วัน

มีแต่ผมหลอกพระแก่ที่เรียกว่าหลวงพ่อ

ท่านมาถ่ายปัสสาวะข้างกุฏิที่ผมนอน ก็เลยหลอกท่าน

โดยเอาผ้าขาวผูกแล้วนั่งดึงเชือกในห้อง

พระท่านกลัว เสียงสั่น สวดได้แต่คำขึ้นต้นว่า ยาเทวตา แล้วสวดต่อไม่ได้

ตั้งแต่นั้นมาท่านก็ไม่ปล่อยเบาข้างห้องผมจนสึก

และก็ไม่เคยกลัวผี และไม่เคยถูกผีหลอก

ขับรถคนเดียวจากอำเภอหนึ่งไปอำเภอหนึ่ง ก็ไม่เจอ

แต่ผมไม่เคยประมาท

สวดมนต์เป็นประจำเวลาเดินทาง

ผีมีจริง เราแผ่เมตตาเป็นประจำ

เราเชื่อว่ามีผี

แต่เราไม่กลัว

ผีย่อมไม่หลอกเรา

ตะวันรอน

อ.ลอง จ.แพร่

 

ผีมีจริง แต่เมื่อเราไม่กลัว

ผีก็ไม่หลอก

ตามที่ตะวันรอนเชื่อนั้น–น่าพิจารณา

เลยขอแถมหน่อยได้ไหม

คือ ถ้าเราไม่ทำสิ่งที่ไม่ควร หรือไม่ทำผิด

ผีก็คงไม่หลอกด้วยเช่นกันกระมัง

ต่างกับกรณีที่โด่งดังตอนนี้

ที่คงเจอผีหลอกตลอดชีวิต

เพราะทำสิ่งที่ไม่ควร หรือทำผิดแล้วไม่ยอมรับ

อ่านจดหมายฉบับต่อไป

 

0 ผี (2)

ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ออกมาแถลงยืนยันว่าพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายวรายุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแล้ว

และดำเนินการเพิกถอนหมายจับต่อไปนั้น

คดีดังกล่าว ถูกสังคมไทยวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง

ถึงการใช้อำนาจที่อาจเข้าข่ายการเลือกปฏิบัติในการสั่งคดีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อาจเพราะผู้ถูกกล่าวหาเป็นทายาทของผู้มีสถานะทางสังคมที่สูง

เป็นทายาทนักธุรกิจที่ร่ำรวยในลำดับต้นๆ ของประเทศ

ซึ่งเหตุแห่งคดีไม่ได้มีข้อยุ่งยากในการสืบสวนสอบสวนแต่อย่างใด

เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ต้องหาในคดีที่มีลักษณะเดียวกัน

เช่น คดีเสี่ยเบนซ์เมาชนรอง ผกก.เสียชีวิต

อัยการกลับอุทธรณ์สู้จนถึงที่สุดแม้จำเลยจะชดใช้ดูแลบุตรผู้ตายแล้ว 45 ล้านก็ตาม

แต่ทว่าคดีที่ผู้ตายมียศเพียงแค่ดาบตำรวจ

ผลการสั่งคดีกลับแตกต่างกัน

ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการใช้แท็กติกในการทำสำนวนคดี หรือประวิงเวลา

แต่เมื่อมีการประวิงเวลาจนทำให้ผู้ต้องหาหลบหนีไปยังต่างประเทศ

และตำรวจไม่สามารถนำตัวมาส่งให้อัยการยื่นฟ้องต่อศาลได้

ทำให้ฐานความผิดอย่างน้อย 4 ข้อหาขาดอายุความไปแล้ว

ส่วนข้อหาสุดท้ายคือข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งมีอายุความ 15 ปี อัยการกลับมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง

และตำรวจก็มิได้ทำความเห็นแย้งคัดค้านแต่อย่างใด

จึงถือเป็นข้อพิรุธที่สำคัญ

นายกรัฐมนตรีควรใช้อำนาจตาม ม.11(6) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534

ในการตั้งกรรมการมาสอบอัยการและตำรวจที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

จะอ้างว่านายกฯ ไม่ได้เป็นผู้แต่งตั้งอัยการแล้วจะสั่งให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจของอัยการมิได้นั้น หาชอบด้วยกฎหมายไม่

ประเด็นการสั่งคดีนี้ของอัยการนั้น

แม้รัฐธรรมนูญ 2560 ม.248 วรรคสอง จะให้ความเป็นอิสระของอัยการในการพิจารณาสั่งคดี

แต่ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ไปโดยรวดเร็ว เที่ยงธรรม ปราศจากอคติทั้งปวง

การประวิงเวลาการสั่งคดีมาจนกว่า 8 ปีย่อมถือได้ว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว

อีกทั้งตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ 2553 ม.21 วรรคสอง

ประกอบระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของอัยการ 2547

กำหนดให้อัยการต้องทำหน้าที่ให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาแก่ประชาชน

และระเบียบว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลประโยชน์อันสําคัญของประเทศ 2554

ได้กำหนดไว้ว่า คดีอาญาที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศให้เสนอต่ออัยการสูงสุดเพื่อมีคำสั่ง

แต่กรณีของบอส อยู่วิทยา ความปรากฏว่าอัยการสูงสุดไม่ทราบเรื่องแต่อย่างใด

จึงชี้ให้เห็นว่าคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องบอสในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

และขัดต่อรัฐธรรมนูญดังกล่าว

นายศรีสุวรรณ จรรยา

เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย

 

แม้คนทำผิด จะ “ลอยนวล”

แต่เชื่อว่า “ผี-วิญญาณ” ดาบตำรวจ

ที่คงไปอยู่สวรรค์ สบายแล้ว

แต่เชื่อว่า คงทิ้ง “ความรู้สึกชอบชั่วดี” ไว้ในใจของคนทำผิด

และเป็นตัวแทน “ผี” ที่จะติดตามหลอกหลอนไปชั่วชีวิต

ไม่มีวันเป็นสุข

แม้จะร่ำรวยเพียงใดก็ตาม