สมชัย ศรีสุทธิยากร | ทุจริตเลือกตั้ง ยุคนิวนอร์มอล

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ย้อนหลังไปปี พ.ศ.2500 การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่พรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขับเคี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดยนายควง อภัยวงศ์ และฝ่ายแรกได้รับชัยชนะไปอย่างท่วมท้นโดยได้ ส.ส.ไป 85 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคคู่แข่งได้ไปเพียง 31 ที่นั่ง

แต่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยกลับจารึกว่า การเลือกตั้งในปีนั้นเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศ

การใช้ความได้เปรียบในฐานะผู้มีอำนาจรัฐในมือ ใช้คนและกลไกต่างๆ ของรัฐเป็นประโยชน์ในการหาเสียง ใช้เครื่องบินราชการโปรยใบปลิวโจมตีฝ่ายตรงข้าม ข่มขู่คุกคามผู้สมัครและประชาชนผู้ใช้สิทธิ มีข่าวเรื่องพิมพ์บัตรปลอมนับแสนใบ เกณฑ์ทหารมาใช้สิทธิ ใช้คนเวียนเทียนลงคะแนนโดยกรรมการประจำหน่วยรู้เห็นเป็นใจ นับคะแนนไฟดับ เปลี่ยนหีบเลือกตั้งยัดบัตรใส่หีบในที่ลับตาคน นับคะแนนกันล่าช้า กว่าจะประกาศผลกันได้ก็ 7 วัน 7 คืน

ปรากฏการณ์ราวบ้านป่าเมืองเถื่อนเกิดขึ้นจริงในประเทศไทยเมื่อกว่า 60 ปีที่ผ่านมา สมควรเป็นอดีตและควรมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น แต่น่าแปลกว่า เรื่องราวการทุจริตการเลือกตั้งที่รับรู้กันกลับไม่หมดไป แต่มีพัฒนาการของมันเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

โลกยุคนิวนอร์มอล

การเกิดขึ้นและแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ทำให้คนในโลกต้องปรับวิถีการดำรงชีวิต

มีปรากฏการณ์ที่เรียกว่าการทำงานที่บ้าน (Work from Home)

มีการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีการสื่อสารทางไกลเพื่อใช้ในการประชุม การสั่งการ การเรียนการสอน ในทางราชการมีการออกระเบียบให้การประชุมทางไกลเป็นวิธีการที่มีผลถูกต้องตามกฎหมาย

มีการให้เหลื่อมเวลาในการทำงาน และให้ทุกคนรู้จักป้องกันตนเองโดยสวมหน้ากาก และรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distancing)

ในขณะที่สถานการณ์ของโรคร้ายยังไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ รัฐก็ใช้อำนาจในการควบคุมการติดต่อของประชาชน เช่น การออกคำสั่งห้ามออกจากบ้าน ห้ามเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัด ให้ปิดธุรกิจบริการต่างๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก

ห้ามการชุมนุมของประชาชนในทุกรูปแบบ

ให้ประชาชนต้องรายงานตนเองตลอดเวลาว่าไปไหน อยู่ที่ไหน เป็นเวลาเท่าใด ภายใต้แอพพลิเคชั่นที่เรียกแบบส่งเสริมกำลังใจกันว่า “ไทยชนะ”

ประชาชนเริ่มคุ้นชินกับวิถีชีวิตแบบใหม่ที่อาจลำบากมากขึ้น เศรษฐกิจต้องยอมถอยหลังเพื่อแลกกับสุขภาพและความปลอดภัยของชีวิต

แต่กิจกรรมทางสังคมและการเมืองยังต้องเดินหน้า สภาต้องมีการประชุม ยุบสภาหรือครบวาระก็ต้องเลือกตั้ง

ผู้บริหารและสภาท้องถิ่นที่ค้างเติ่งในตำแหน่งมานานกว่า 10 ปีสมควรจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เพื่อให้ประชาชนเขาเลือกและตัดสินใจในการปกครองของเขา จะให้ทุกอย่างหยุดนิ่งคงเป็นไปไม่ได้

ดังนั้น การเลือกตั้งก็ปรับตัวเองให้เข้ากับยุคเช่นกัน

การเลือกตั้งยุคนิวนอร์มอล
โจทย์ของการเลือกตั้งในอดีตที่ผ่านมาคือ เลือกอย่างไรได้คนดี จัดการเลือกตั้งอย่างไรให้สุจริตและเที่ยงธรรม แต่เมื่อมีสถานการณ์เรื่องโควิด-19 เข้ามาเกี่ยว การเลือกตั้งจึงต้องตอบโจทย์เพิ่มอีกข้อว่าเลือกอย่างไรให้ปลอดภัยต่อทั้งประชาชนและกรรมการประจำหน่วยด้วย

การออกแบบการจัดการเลือกตั้งที่จำลองแบบจากการใช้ชีวิตทางสังคมจึงถูกสร้างขึ้น ผู้มาใช้สิทธิต้องสวมหน้ากาก ก่อนเข้าหน่วยเลือกตั้งต้องวัดไข้ ต้องล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ก่อนและหลังการใช้สิทธิ ต้องรักษาระยะห่างในการใช้สิทธิ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่กรรมการการเลือกตั้งคิดได้

และเอาประเด็นความปลอดภัยเป็นโจทย์ใหญ่ที่อยู่เหนือการเลือกอย่างไรได้คนดี เลือกอย่างไรให้สุจริตและเที่ยงธรรม

ทุจริตเลือกตั้งยุคนิวนอร์มอล

ความยากลำบากในการเดินทางกลับภูมิลำเนาในการเลือกตั้ง เนื่องจากมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายคนข้ามจังหวัด ความหวั่นกลัวมาตรการในการเก็บตัวเพื่อเฝ้าระวังโรคถึง 14 วัน ขนส่งสาธารณะที่มีน้อย และรายได้ที่ลดลงของคนในประเทศ ทำให้ยากที่จะให้คนมีสิทธิเลือกตั้งแต่อยู่ในต่างพื้นที่จะกลับมาใช้สิทธิเลือกตั้ง

จุดอ่อนดังกล่าว กลายเป็นจุดเน้นที่สำคัญของการทุจริตการเลือกตั้งในยุคโควิด-19 โดยเริ่มจากการใช้กลไกของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ทำการสำรวจผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่อยู่ในภูมิลำเนา จดบ้าน จดชื่อ จดเลขบัตรประชาชน ไปจนถึงการขอสำเนาบัตรประชาชนจากญาติพี่น้องของคนที่ไม่อยู่ในพื้นที่

ข้ออ้างที่เนียนไปกับกิจกรรมดังกล่าว คือ ทางการให้สำรวจว่าบ้านนี้มีใครมีสิทธิเลือกตั้งแล้วไม่สามารถมาใช้สิทธิได้บ้าง ขอให้บอกชื่อและเลขบัตรประชาชนมา เพียงแค่นี้ประชาชนก็เต็มใจให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนโดยไม่อาจทราบถึงเจตนาที่แท้ของผู้ดำเนินการ

ชื่อของผู้ไม่สามารถมาใช้สิทธิถูกประมวลอย่างเป็นระบบ ตรวจสอบกับบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (แบบ ส.ส.11) ว่าคนเหล่านี้อยู่หน่วยเลือกตั้งที่เท่าไร หมู่ใด ตำบลใด เพื่อเตรียมการใดในการเข้าสวมสิทธิเลือกตั้งแทนโดยมีระบบที่รู้กันระหว่างกรรมการประจำหน่วยกับ “ผี” ที่มาใช้สิทธิแทนผู้อื่น

สมัย พ.ศ.2500 มีการระดมคนเวียนเทียนเข้าไปใช้สิทธิโดยมีสัญลักษณ์ติดที่อกเสื้อให้รู้กันกับกรรมการประจำหน่วย ศัพท์บัญญัติคำว่า “พลร่ม” จึงเกิดขึ้น ตกเย็นนับคะแนนมีการกาบัตรยัดหีบไปจนถึงนำบัตรผีใส่เข้าไปเพิ่มในเวลามืดค่ำ จึงมีศัพท์บัญญัติว่า “ไพ่ไฟ”

สมัยนิวนอร์มอล เปลี่ยนเป็นเอาสถานการณ์คนไม่กลับบ้านมาใช้สิทธิเนื่องจากเงินไม่มี ไปไม่คุ้ม จัดให้มีคนไปใช้สิทธิแทนโดยอาจมีค่าตอบแทนให้กับเจ้าบ้านเป็นสินน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ ส่วนคนดำเนินการก็มีค่าตอบแทนให้เป็นชิ้นเป็นอัน

ยิ่งสวมหน้ากากไปใช้สิทธิเพราะกลัวโควิด ไม่มีการถอดหน้ากากให้กรรมการประจำหน่วยตรวจสอบ ทำทียื่นบัตรของตัวเองให้กรรมการประจำหน่วยตรวจพอเป็นพิธี ไม่มีการขานชื่อดังๆ ว่า นาย ก. นาย ข. มาใช้สิทธิ เสร็จแล้วก็ไปกาชื่อของผู้มีสิทธิที่รู้ว่าไม่มีทางกลับมาใช้สิทธิเลือกตั้ง

แค่ 10% ของหนึ่งหน่วยเลือกตั้ง ก็เท่ากับ 50-60 ราย แต่ฟังจากประชาชนเขาบอกกันมาว่า ดูจากจำนวนคนที่ไม่สามารถมาใช้สิทธิน่าจะอยู่ที่ 20-30% ของแต่ละหน่วย

หากเขตเลือกตั้งหนึ่งมี 300 หน่วยเลือกตั้ง จะเป็นจำนวนบัตรที่มีคะแนนฝ่ายทุจริตเท่าไร ลองไปคำนวณกันดูเอง

ทางออกของการแก้ทุจริตเลือกตั้งยุคนิวนอร์มอล
สิ่งแรกคือ กกต.ต้องอย่าหลงทาง ตื่นเต้นตื่นกลัวกับการจัดการเลือกตั้งที่ห่างไกลโรค ต้องเน้นเป้าหมายการเลือกตั้งที่สุจริตมาก่อน ไม่หลงกับความภาคภูมิใจว่าจัดการเลือกตั้งได้ดี มีระยะห่างทางสังคม ถึงขนาดป่าวประกาศว่า นี่คือต้นแบบการจัดการเลือกตั้งยุคใหม่

ผู้ใช้สิทธิสวมหน้ากากได้ แต่ต้องถอดเมื่อแสดงตน กรรมการประจำหน่วยสวมหน้ากากได้ แต่เมื่อผู้ใช้สิทธิแสดงตนก็ต้องถอดหน้ากากอ่านชื่อผู้มาใช้สิทธิด้วยเสียงอันดัง ไม่ใช่อ้อมแอ้มอู้อี้ภายใต้หน้ากากที่ปกปิด

บัตรประชาชนต้องถูกสแกนโดยเครื่องมือที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ จะเป็นการเสียบอ่านและบันทึกข้อมูลโดย Card reader ซึ่งมีราคาแค่หลักร้อย หรือพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อถ่ายภาพบัตร หรือให้ผู้ใช้สิทธิ scan QR code แบบ “ไทยชนะ” เพื่อป้อนข้อมูลว่ามาใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยนี้แล้วและทำได้ครั้งเดียว เรื่องของการเวียนเทียนใช้สิทธิก็จะหมดไป

ประเทศไทย 4.0 แล้วนี่ครับ ว่าแต่ว่า กกต. เลขอะไร ยังไม่แน่ใจเหมือนกัน