ตั้งศูนย์บริหารเศรษฐกิจฉุกเฉิน คู่คิด “ศบค.” ชุบชีวิตธุรกิจ-รากหญ้า “กุนซือนายกฯ” สั่งตรงจากทำเนียบ

อย่างช้าที่สุด ที่การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเกิดขึ้นได้ คือภายในกลางเดือนตุลาคม 2563 อย่างเร็วที่สุดคือสิ้นเดือนกันยายน 2563

เป็นไปตามวันเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ปักหมุดไว้ว่าหลังสภาผู้แทนราษฎรโหวตผ่านวาระ 2-3 พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้าน

รวมทั้งกระบวนการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้าน ที่แบ่งเป็น ก้อนแรก 6 แสนล้าน เพื่อการเยียวยาผู้เดือดร้อนจากผลกระทบโควิด-19 และเพื่อการสาธารณสุข ส่วนอีก 4 แสนล้านเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับพื้นที่เบ็ดเสร็จ

หากยึดตามวัน-เวลาดังกล่าว คู่ขนานกับการพิจารณาของสภาผู้แทนฯ ตามรัฐธรรมนูญกำหนดคือ เมื่อรัฐบาลส่งร่าง พ.ร.บ.งบประมาณถึงสภา ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน

กรณี พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2564 รัฐบาลส่งสภาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564 จะครบ 105 วันในวันจันทร์ที่ 28 กันยายน 2563

จากนั้นวุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ (กรณี พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2563 วุฒิสภาใช้เวลาพิจารณาเพียง 1 วัน)

แต่เกือบ 2 เดือน กว่าจะถึงวันที่ทุกอย่าง “ผ่าน” อาจไม่ทันการณ์ต่อการบริหารจัดการปัญหาเศรษฐกิจที่รุกถึงหน้าบันไดตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล แทบทุกวัน

 

ระหว่างที่ยังไม่มีทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจชุดใหม่ ทางหนี-ทีไล่ที่ดีที่สุดของนายกรัฐมนตรี คือต้องเซ็ตทีมที่ปรึกษา เป็นทีมบริหารจัดการเศรษฐกิจ แบบวันต่อวัน และตอบโจทย์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เบ็ดเสร็จ ตามที่นายกรัฐมนตรีเรียกวิธีนี้ว่าจัดการแบบ “นิวนอร์มอล”

นายกรัฐมนตรีพลันคิดตกหลังเห็นข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอีจ่อจะพังครืนในไม่นาน ทั้งที่มีศักยภาพ ต้องการทุนฟื้นฟู กลุ่มที่แข็งแรงต้องการส่งเสริมระดับแข่งขันในต่างประเทศ และกลุ่มที่ต้องปล่อยให้ล้มหายตายจาก

ธุรกิจการท่องเที่ยว-โรงแรมเตรียมปิดฉากมากกว่า 20%

ขณะที่ภาระหนี้เสียหรือเอ็นพีแอลท่วมธนาคารพาณิชย์ ประสานเสียงกับหัวขบวนเอกชน ทั้ง 3 สมาคมธนาคารไทย, สภาอุตสาหกรรม และหอการค้าไทย ที่ประกาศกลั้นหายใจได้ถึงสิ้นปี

สารพัดปัญหาเหล่านี้ จึงเป็นที่มาในการจัดตั้ง “ศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ” หรือ “ศบศ.” ที่แม้ไม่ได้รวบอำนาจการใช้กฎหมายถึง 40 ฉบับมาไว้ในศูนย์เดียว เหมือนกับศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ “ศบค.”

แต่จะทำงานคู่ขนาน-คู่คิดกับ “ศบค.” ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน และ “ศบศ.” จะรวบอำนาจการสั่งการไว้ที่ “ทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี” และส่งตรงให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจ สั่งการไปยังกระทรวง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการ

โดยไม่ต้องผ่านรัฐมนตรีประจำกระทรวงนั้นๆ

 

1ในทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีระบุว่า ทีม ศบศ.ต้องนำเสนอวิธีการการแก้ปัญหาเป็นรูปธรรม เช่น ชาวบ้านขาดเงินทุนหมุนเวียนในการทำมาหากิน จะทำอย่างไรไม่ให้เข้าสู่หนี้นอกระบบ เมื่อได้คำตอบแล้ว จะนำไปเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การสั่งการทางตรงให้กระทรวงการคลังไปดำเนินการ

หรือจะให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ไปทำทันที เรื่องใดที่เห็นว่าควรเข้า ครม.เศรษฐกิจ หรือ ครม.ชุดใหญ่ก็ให้เลขาธิการสภาพัฒน์เป็นแม่งาน เป็นเชิงปฏิบัติ ลงมือทันที

ทีมตึกไทยคู่ฟ้าอีกรายอธิบายว่า ความจำเป็นในการตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ หรือ ศบศ. จะมีรูปแบบการบริหารและปฏิบัติการเช่นเดียวกับศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค.

ต่างกันตรงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ได้นั่งเป็นประธาน ไม่ต้องออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ขึ้นมารองรับอีกฉบับ

การสั่งการจะเป็น “สายตรงจากทำเนียบ” ให้หน่วยงาน-บุคคลลงมือปฏิบัติการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว ภายใต้กลไกที่มีอยู่แล้ว ให้กระชับขึ้น สายการบังคับบัญชาสั้นขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

แม้จะเป็นคณะทำงานแบบไม่เป็นทางการ คณะนี้เป็นคณะทำงานชุดเล็ก แต่ต้องทำงานเชิงรุก เข้าถึงปัญหาไว special task force นอกจากทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีแล้ว จะมีทีมเสริมที่นายกรัฐมนตรีเคยแต่งตั้งไว้แล้ว

ทีม ศบศ.สามารถเชิญผู้นำองค์กรด้านเศรษฐกิจ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาให้ข้อมูลได้ตลอดเวลา โดยมี “นายทศพร ศิริสัมพันธ์” เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือเลขาฯ สภาพัฒน์ ผู้ที่นายกรัฐมนตรีไว้วางใจ เป็นผู้ดำเนินการรวบรวมวาระปัญหาและวิธีการแก้ไข เสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อสั่งการไปยังกระทรวงได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านรัฐมนตรี

นอกจากนี้ จะมีการเรียกหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาเข้ามาให้ข้อมูล และรับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีไปปฏิบัติได้ทันที เช่น อาจจะเชิญสภาอุตสาหกรรม, หอการค้าไทย, สมาคมธนาคารไทย เข้ามาเป็นครั้งคราว

“คณะทำงานชุดนี้เป็นเหมือนสตาฟฟ์กลั่นกรองงานให้นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีตัดสินใจ นายกรัฐมนตรีสามารถบัญชาการได้ทันที พร้อมวิธีปฏิบัติ ไม่ต้องไปศึกษาต่อ จึงคล้ายกับการทำงานของ ศบค.ที่รวมศูนย์สั่งการมาไว้ที่นายกรัฐมนตรี”

ทีม ศบศ.บอกวิธีการทำงาน

 

การตั้งรับวิกฤตเศรษฐกิจรากหญ้าคืออีกวาระที่นายกรัฐมนตรีคาดหวังให้ “ศบศ.” หรือคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ทั้งในระบบและนอกระบบรับไปบริหารจัดการเพราะเห็นว่าปัญหาขณะนี้มีผลกระทบในวงกว้างกว่าวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

บุคคลที่ทำงานใกล้ชิดนายกรัฐมนตรีชี้ให้เห็นว่า “ผลสะเทือนทางเศรษฐกิจในปัจจุบันมีรายละเอียดมากกว่าปี 2540 ไม่ใช่เฉพาะธุรกิจอย่างเดียว แต่ต้องลงไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนด้วย จึงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่ายเพื่อช่วยดูแลสังคม เศรษฐกิจ ปากท้องเข้าไปด้วย”

จากนี้ไป จึงไม่ใช่เพียงการเชิญคณะบุคคล-องค์กร ผู้รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจมาฟัง มารายงานข้อมูลเท่านั้น แต่จะนำข้อมูลที่ฟังมาประมวลเป็นภาคปฏิบัติ โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นคนตัดสินใจเชิงนโยบายขั้นสุดท้าย เมื่อนายกรัฐมนตรีเห็นชอบจึงให้สั่งการให้คนที่เกี่ยวข้องดำเนินการทันที

“การสั่งการบริหารราชการแผ่นดิน ผู้บังคับบัญชาสูงสุดคือนายกฯ ต้องสั่งการในการปฏิบัติ แต่ทีมงานที่ปรึกษาต้องหาหนทางเสนอผลทางปฏิบัติที่ดีที่สุดมา หรือมีทางเลือกให้ผม 2-3 ทาง เพื่อให้เกิดความรวดเร็วขึ้น” คือคำพูดที่ติดปากนายกรัฐมนตรี ที่ห้องประชุมรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจในตึกไทยคู่ฟ้า และการประชุมระดับหัวหน้าส่วนราชการ

การตั้ง “ศบศ.” ขึ้นมา นายกรัฐมนตรีคลี่คลายปัญหาได้ 2 เด้ง ทั้งแก้ปมดุลอำนาจหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และยื้อเวลาปรับคณะรัฐมนตรีไปได้อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 เดือน