มนัส สัตยารักษ์ | โควิดทำสมดุล

ผมต้องเจาะเลือดและนำผลการตรวจไปพบแพทย์ผู้ผ่าตัดเปลี่ยนเส้นเลือด bypass ไปหัวใจ เพื่อทำการตรวจและสั่งยา ภารกิจ 2 ประการคือเจาะเลือดกับพบแพทย์เป็นกิจวัตรที่จำเป็นต้องทำ 4 เดือนครั้ง และผมทำอย่างเคร่งครัดมาเป็นเวลา 12 ปีแล้ว

ครั้งล่าสุดไปเจาะเลือดที่คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา ถนนพระราม 9 เดินทางออกจากบ้านแต่เช้ามืดของวันอาทิตย์ที่ 21 และเดินทางไปพบแพทย์โรงพยาบาลจุฬาฯ ตามใบนัด แต่เวลา 16.00 น. ของวันพุธที่ 24 มิถุนายน 2563

ในช่วงเวลาเดินทางทั้งไปและกลับ ทั้งในวันหยุดและวันทำงาน ผมมีความรู้สึกว่ากรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงไปกว่าเมื่อ 4 เดือนก่อน ซึ่งเป็นเดือนที่โควิด-19 เริ่มย่างกรายและสำแดงฤทธิ์

ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดว่าเป็นบวกก็คือ การจราจรไม่ติดขัดและร้านอาหารมีที่ให้นั่ง สภาพที่เป็นบวกแม้จะเพียงเล็กน้อย แต่ก็ทำให้ผมนึกถึงคำกล่าวของแซมมวล โคลต์ ผู้ออกแบบปืนรีวอลเวอร์ที่ว่า “แซม โคลต์ ทำสมดุลให้” (Sam Colt made them equal)

แต่หลานชายที่ตกงานและว่างงานคงไม่ได้คิดอย่างผม เพราะเขามีอาการหงุดหงิดตลอดเวลาที่มาช่วยขับรถให้

ตัวเลขที่บอกจำนวนคนติดเชื้อโควิด-19 และถึงแก่ความตายทั่วโลก เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 คือติดเชื้อ 10.6 ล้านคน เสียชีวิต 5 แสนคนเศษ เฉพาะในสหรัฐอเมริกาผู้ครองหมายเลขหนึ่ง คือ 2 ล้าน 7 แสน 2 หมื่นกว่าคน เสียชีวิตไปแล้วกว่า 1 แสน 3 หมื่นคน!

ประเทศอันดับสองคือบราซิล ติดเชื้อโควิด-19 กว่า 1 ล้าน 4 แสนคน เสียชีวิตไปแล้ว 6 หมื่นคน จำนวนคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละ 3 หมื่น 8 พันคน!

ทำให้ผมได้ยินเสียงไวรัสโควิดแผดตะโกนชัดเจนว่า “โควิดกำลังทำสมดุลให้!”

อาการและการแสดงออกของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ถูกวิจารณ์ว่าไม่มีทิศทางและตรรกะบิดเบี้ยว

เริ่มต้นเขาเห็นว่าโควิดเป็นแค่หวัดธรรมดาและจะหายไปได้เอง เขาไม่ใส่หน้ากากอนามัยทั้งที่คนรอบตัวติดเชื้อและเสียชีวิต

คนอเมริกันมองปัญหาหน้ากากแตกต่างกัน คนที่ต่อต้านการใส่หน้ากากกล่าวว่า “หน้ากากปิดกั้นเสรีภาพแห่งการหายใจ” เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การแก้ปัญหาของฝ่ายบ้านเมืองยุ่งยาก ทำให้โรคแพร่ระบาดมากขึ้นและเร็วขึ้นอย่างน่าวิตก

บราซิลก็เช่นเดียวกับสหรัฐ ภาพที่แพร่ไปทั่วโลกคือภาพที่ฝังศพและโลงไม่พอใช้

ประธานาธิบดีชาอีร์ โบล โซนารี ไม่ยอมรับว่าโควิดเป็นภัยอันตราย เรียกร้องให้แต่ละรัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ตัวนายโบล โซนารีเองไม่ยอมสวมหน้ากากอนามัย จนศาลบราซิลต้องออกคำสั่งบังคับ หากฝ่าฝืนจะต้องโดนโทษปรับคิดเป็นเงินไทยราว 12,000 บาท

ดูราวกับว่าประธานาธิบดี 2 นายนี้ ลึกๆ คงต้องการให้โควิดช่วยทำสมดุลประชากรในประเทศของตัวเอง?

ความลำเอียงอันเกิดจากความเกลียดชังประธานาธิบดีทรัมป์และอดีตทูตสหรัฐประจำประเทศไทยบางนาย ทำให้ผมพลอย “วางเฉย” ไปกับหายนะที่กำลังคืบคลานเข้าหาสหรัฐ

มีความสุขที่ได้อ่านบทความการเมือง “ประชาชาติ” (ฉบับวันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน-วันพุธที่ 1 กรกฎาคม 2563) ที่ปิยะ สารสุวรรณ สัมภาษณ์ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้า หรืออังค์ถัด (UNCTAD) อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าและการพัฒนาโลก (WTO) ที่ตอนหนึ่งพูดเรื่อง “โลกเปลี่ยนขั้วมหาอำนาจ”

ดร.ศุภชัยฉีกทฤษฎี New Normal โดยสรุปว่า เอเชียคือตะวันใหม่

ที่ถูกใจคนอ่านมากที่ ดร.ศุภชัยพูดถึงโลกาภิวัตน์หลังโควิด-19 ว่า “โลกที่เคลื่อนไหวจากผลประโยชน์ของตะวันตกอย่างเดียว เป็นเฉลี่ยทั่วโลกมากขึ้น” ซึ่งหมายถึงว่าประเทศกำลังพัฒนาหรือยากจน (รวมทั้งไทย) จะได้ประโยชน์ด้วย

โลกาภิวัตน์จะเปลี่ยนแปลงจาก unipolar world ที่มีนักเลงโตคนเดียวคุมระบบโลก กลายเป็น multipolar world ระบบพหุภาคี ช่วยกันทำ ทุกชาติมีปากมีเสียง เป็นประโยชน์กับทุกคนและทุกประเทศ แม้เราไม่ได้ถึงกับสาแก่ใจที่อเมริกาจะหมดสิทธิแสดงบทบาทนักเลงโตแล้วก็ตาม แต่เราก็พอใจ

อันที่จริงสถานะนักเลงโตของประธานาธิบดีสหรัฐถดถอยไปนานแล้ว ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดจลาจล “เหยียดผิว” ชายผิวดำถูกตำรวจผิวขาวใช้เข่ากดคอจนถึงแก่ความตายนั้น คำสั่งของทรัมป์ที่ให้ทหารปราบจลาจลถูกท้วงติงจากเพนตากอน และถูกปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่และตำรวจหลายรัฐ

ผู้ว่าการรัฐวอชิงตันประกาศล็อกดาวน์โดยสวนทางกับนโยบายของทรัมป์ และสั่งระงับแผนคลายล็อกดาวน์ เมื่อพบว่าต้านการระบาดของเชื้อโควิดไม่อยู่

ซึ่งเท่ากับว่าโควิดช่วยทำสมดุลให้โดยแท้

ดร.ศุภชัยพูดถึงการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านให้ถูกทิศทางว่า ความจริงแล้วมีผู้ขอทำโครงการถึง 8 แสนล้าน เห็นชัดว่าเป็นโครงการที่คิดขึ้นใหม่นอกเหนือจากที่ผ่านการพิจารณาของสภาพัฒน์มาแล้ว ดร.ศุภชัยก็เหมือนชาวเราที่หวั่นว่าโครงการที่คิดขึ้นใหม่จะไป serve ผลประโยชน์

การรวมตัวกันเปลี่ยนหัวหน้าพรรคและผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลในช่วงเวลาที่เพิ่งผ่านการกู้เงิน นับเป็นการเปลี่ยนม้ากลางศึก ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า น่าจะมีเรื่องของ “ผลประโยชน์” แอบแฝงอยู่ด้วย

ยิ่งเมื่อได้เห็นรายชื่อของคนที่เข้าไปแทนชุดเก่า ปรากฏว่าหลายชื่อเต็มไปด้วยประวัติสีเทาเข้มยาวเหยียด

นอกจากนั้น ยังเป็นช่วงเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ค่อยคุยกับนักการเมือง หันไปคุยกับอาจารย์หมอ ปรับทุกข์กับ 20 มหาเศรษฐี และทำงานกับข้าราชการและเทคโนแครต…ก็ยิ่งทำให้เราคิดลบได้มากยิ่งขึ้น

ตามไปฟัง ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ “สภาพัฒน์” เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการพิจารณาโครงการ ในกรอบ 4 แสนล้านบาท ได้รายละเอียดว่า โครงการรอบแรกที่ผ่านการพิจารณา 213 โครงการ รวมวงเงิน 101,482 ล้านบาท ซึ่งสำนักงบประมาณจะมีการตรวจสอบปรับลดวงเงินต้นทุนต่อหน่วย (unit cost) ของแต่ละโครงการ วงเงินอาจจะลดลงเหลือแค่ 7-8 หมื่นล้านบาท

ส่วนสำคัญจาก 213 โครงการนี้คาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานได้ราว 410,415 ราย

เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวว่า “เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ทุกโครงการจะต้องส่งแบบรายงานประเมินความเสี่ยงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) การจ่ายเงินเดือนการจ้างงานต้องจ่ายผ่านระบบ e-Banking และถ้ามีการจัดซื้อจัดจ้างต้องทำตามระเบียบราชการ และหากมีการจัดซื้ออุปกรณ์ วัสดุภัณฑ์ต้องมีการสืบราคาผู้ค้าในตลาดอย่างน้อย 3 ราย”

ฟังดูราวกับว่าทางราชการได้รับ “บทเรียนความไม่โปร่งใส” มากมายหลายบท

ย้อนกลับไปถึงวันที่ไปพบแพทย์โรงพยาบาลจุฬาฯ ผมกลับถึงบ้านราว 3 ทุ่ม ด้วยความอิ่มเอมใจที่คิดว่าโควิดช่วยทำสมดุลให้ จนหลานผู้ว่างงานออกอาการหมั่นไส้

“อาอย่าเข้าใจผิดว่ารถไม่ติดเพราะมาตรการต้านโควิดนะ ช่วงนี้มันเป็นช่วงปิดเทอมต่างหาก วันที่ 1 กรกฎาคม โรงเรียนเปิดเทอมคอยดูอีกทีก็แล้วกัน”

ตอนนี้โรงเรียนเปิดเทอมแล้ว อะไรหลายอย่างเหือดหายไปจากความคาดหวัง รวมทั้งไอ้ที่ผมคิดว่าโควิดจะทำสมดุลนั้นอาจจะเป็นจริงที่อเมริกา แต่ในเมืองไทยน่าจะไม่ใช่

ที่เมืองไทย ผู้ที่จะทำสมดุลได้คือ “บิ๊กวิตร” ครับ ไม่ใช่โควิด