ปฏิกิริยา สังคม ต่อ “หมุดคณะราษฎร” จากปี 2503-2560

กรณีการถอด “หมุดคณะราษฎร” เมื่อเดือนเมษายน 2560 กับกรณีการถอด “หมุดคณะราษฎร” เมื่อเดือนพฤษภาคม 2503 มีความแตกต่างกัน

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2503 เป็นยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

เป็นการถอด “หมุดคณะราษฎร” ออกจากที่เคยวางไว้บนลานพระบรมรูปทรงม้าตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคม 2479 เป็นการถอดโดยไม่มีการนำ “ของใหม่” มาแทน

บริเวณตรงนั้นจึงว่างเปล่า ไม่มีหมุด กระทั่งภายหลังหมดยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และมีการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญใหม่ในเดือนมิถุนายน 2511 สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา จึงได้มีการนำ “หมุดคณะราษฎร” กลับมาวางไว้เหมือนเดิม

กระทั่งเพิ่งถูกถอดออกไปอีกครั้งในเดือนเมษายน 2560

กระบวนการถอด “หมุดคณะราษฎร” ในเดือนเมษายน 2560 ดำเนินไปอย่างเงียบเชียบ ท่ามกลางความงุนงงสงสัยของสังคมเป็นอย่างสูง ไม่มีใครตอบได้ว่า “หมุดคณะราษฎร” ไปอยู่ที่ใด

ไม่มีใครตอบได้ว่า “หมุดหน้าใส” ที่เข้ามาแทนเป็นของใคร

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

พฤษภาคม 2503 กับเมษายน 2560

สถานการณ์ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2503 กับสถานการณ์ในเดือนเมษายน 2560 มีทั้งความเหมือนและความต่างในทางการเมือง

ความเหมือนอยู่ตรงที่เป็นสถานการณ์หลัง “รัฐประหาร”

ครั้งแรกเป็นความต่อเนื่องจากรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2501 ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ บ้านเมืองอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2502 และอยู่ภายใต้มติ ครม. ยกเลิกวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งเคยเป็นวันชาติตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2481

อาจมีหลายฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิก “คณะราษฎร” ที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่เห็นด้วยกับการถอด “หมุดคณะราษฎร” หรือแม้กระทั่งการยกเลิกวันที่ 24 มิถุนายน มิให้เป็นวันชาติ

แต่มิได้มีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นขบวนการอย่างใด

การประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นปฐมฤกษ์ ณ ตึกสำนักนายกรัฐมนตรีในสมัย จอมพล ป. (ภาพจาก “ข่าวโฆษณาการ” มิถุนายน 2482)

ต่อเมื่อ นายทวี บุณยเกตุ ซึ่งเป็นผู้ก่อการสำคัญแห่ง “คณะราษฎร” เข้าดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญและผลักดันรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 ออกประกาศและบังคับใช้ในเดือนมิถุนายนนั่นแหละ

สำนักงานเลขาธิการรัฐสภาจึงได้นำ “หมุดคณะราษฎร” ที่เก็บไว้ในห้องสมุดรัฐสภากลับไปวางไว้ในพื้นที่เดิมที่เคยวางไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2479

ทั้งหมดนี้ต่างจากสภาพที่ปรากฏในเดือนเมษายน 2560 เป็นอย่างมาก

เดือนเมษายน 2560
มากด้วยความเร้นลับ

ต้องยอมรับว่าปฏิบัติการย้าย “หมุดคณะราษฎร” ในเดือนเมษายน 2560 ดำเนินไปอย่างเป็นความลับ แม้จะผ่านการรับรู้ในทางสังคม แต่ก็แทบไม่มีคำตอบที่แน่ชัด

เขตดุสิต กทม. ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ตอบไม่ได้

กรมศิลปากร ซึ่งรับผิดชอบพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันตอบไม่ได้

เมื่อมีผู้นำความไปสอบถามจาก พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ก็ตอบไม่ได้

ทั้งๆ ที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และที่สำคัญดำรงตำแหน่งเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ยิ่งเมื่อมีการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ สน.ดุสิต เพื่อให้หาที่มาที่ไปของ “หมุดคณะราษฎร”

พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ระบุว่า การร้องทุกข์หรือแจ้งความไม่สามารถทำได้เพราะมิได้เป็นทรัพย์สินหรือมรดกของบุคคลคนนั้น

ยิ่งสร้างความสับสนมากยิ่งขึ้น

ไม่เพียงแต่ต่อสถานะของ “หมุดคณะราษฎร” ว่าเป็นทรัพย์สินแผ่นดินหรือไม่ แม้ว่าการก่อสร้างจะเป็นไปตามคำบัญชาของนายกรัฐมนตรี และดำเนินการโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเด่นชัดว่าสร้างจากงบประมาณแผ่นดิน แม้ไม่เป็นมรดก “ส่วนตัว” ของผู้ใด แต่จะสามารถถือได้ว่าเป็นมรดกของ “ชาติบ้านเมือง” ได้หรือไม่

จากปี 2503 ถึง 2560
จุดต่าง ในทาง “สังคม”

ปฏิกิริยาที่ปรากฏต่อสังคมภายหลังกรณี “หมุดคณะราษฎร” หายไปแล้วมี “หมุดหน้าใส” เข้ามาแทนที่ สะท้อนความต่างและความเหมือนในห้วง 57 ปีอย่างเด่นชัด

1 การเมืองไทยยังหนีไม่พ้นจาก “รัฐประหาร”

ยิ่งกว่านั้น ยังมีการสืบทอดมรดกจาก “มาตรา 17” ธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2502 มาเป็น “มาตรา 44” รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 และยังดำรงอยู่ในบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

1 ปฏิกิริยาในทางสังคมมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก

ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2560 ไม่เพียงแต่สะท้อนสภาพในทางสังคมที่เปลี่ยนแปลง หากยังเน้นย้ำให้เห็นบทบาทและความหมายของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เด่นชัดยิ่งขึ้น จากกรณี “หมุดคณะราษฎร” หายไป และจากกรณี “หมุดหน้าใส” เข้ามาแทนที่