รู้จักนักบุกเบิกแห่งป๊อปอาร์ต ผู้เปลี่ยนวัฒนธรรมสมัยนิยมให้กลายเป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ที่ผ่านมา เล่าเรื่องนิทรรศการศิลปะติดกันมาหลายตอน

ตอนนี้ขอเปลี่ยนบรรยากาศด้วยการหยิบเอาเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปินคนสำคัญในประวัติศาสตร์อีกคนมาเล่าให้ฟังกันดีกว่า

ศิลปินผู้นี้เป็นหนึ่งในศิลปินผู้บุกเบิกกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะป๊อปอาร์ต (Pop art) อเมริกัน

เขาเป็นศิลปินผู้มีชื่อเสียงในวงกว้าง และเปล่งประกายเจิดจ้าจนดึงดูดสาธารณชนให้หันมาสนใจศิลปะแนวทางนี้ไม่แพ้ศิลปินผู้ได้ชื่อว่าเจ้าพ่อป๊อปอาร์ตอย่างแอนดี้ วอร์ฮอล เลย

ศิลปินผู้นี้มีชื่อว่า

รอย ลิกเทนสไตน์ (Roy Lichtenstein)

ศิลปินป๊อปอาร์ตชาวอเมริกันคนสำคัญ ผู้หยิบเอาภาพจากการ์ตูนช่อง, สิ่งพิมพ์เชิงพาณิชย์, วัฒนธรรมสมัยนิยม (Pop culture) และวัฒนธรรมมวลชน (Mass culture) มาเปลี่ยนให้เป็นศิลปะอันเปี่ยมสไตล์ เปล่งประกายเตะตา น่าดึงดูดใจ

ในช่วงแรกๆ เขาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในหลากสื่อหลายสไตล์ ก่อนที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสเคลื่อนไหวป๊อปอาร์ตจากอังกฤษที่เข้ามาสู่สหรัฐอเมริกาในช่วงปลายยุค 1950

รวมถึงได้แรงบันดาลใจจากอลัน คาโพรว (Allan Kaprow) ศิลปินหัวก้าวหน้าชาวอเมริกัน ผู้ริเริ่มแนวทางศิลปะอันแหวกแนวอย่างแฮพเพนนิ่งอาร์ต (Happening art) ที่เน้นปฏิสัมพันธ์ตอบโต้ระหว่างศิลปินกับสภาพแวดล้อม บรรยากาศ พื้นที่แสดงงาน ไปจนถึงปฏิกิริยาโต้ตอบของคนดู

ต่อมาเขาเริ่มสร้างผลงานในแนวทางที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนช่อง (Comic strips) และภาพประกอบโฆษณา ที่ผู้คนเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในนิตยสารและหนังสือพิมพ์ ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นของโหลเกลื่อนกลาด ดาษดื่น ไร้ราคา ไร้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

มาเปลี่ยนให้กลายเป็นผลงานศิลปะที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมมวลชนอย่างทรงพลังและโดดเด่น จนกลายเป็นหนึ่งในภาพจำของศิลปะป๊อปอาร์ต

การผสมผสานมุมมองแห่งการผลิตซ้ำในระบบอุตสาหกรรมด้วยเครื่องจักรกลเข้ากับการวาดด้วยมือของเขาเช่นนี้นี่เอง ที่กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์อันโดดเด่นของกระแสเคลื่อนไหวป๊อปอาร์ตในที่สุด

ด้วยการหยิบเอาลักษณะทางเทคนิคของระบบอุตสาหกรรมการพิมพ์มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สีสันอันสดใส ลายเส้นอันคมชัด รวมถึงการใช้กรอบแบ่งช่อง ของการ์ตูนช่อง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการหยิบเอาเม็ดสีที่พิมพ์ลงบนกระดาษในอุตสาหกรรมการพิมพ์ออฟเซ็ต ที่เรียกว่า “Ben-Day dots” มาใช้ (ถ้านึกไม่ออกว่าเป็นอย่างไร ให้ลองเอาแว่นขยายไปส่องภาพบนสิ่งพิมพ์อย่างหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารดู) มาวาดขยายให้มีขนาดใหญ่ในลักษณะเดียวกับงานจิตรกรรม

แนวทางการทำงานของลิกเทนสไตน์เช่นนี้ นับเป็นการแสดงปฏิกิริยาต่อต้านกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ (Abstract Expressionism) ที่มุ่งเน้นในการนำเสนออารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวและจิตวิญญาณภายในของศิลปิน

Whaam! (1963), ภาพจากhttps://bit.ly/2VyFQR

ซึ่งตรงกันข้ามกับการทำงานแบบป๊อปอาร์ต ที่ได้แรงบันดาลใจจากกระแสสังคมและวัฒนธรรมมวลชนมากกว่า

ถึงแม้ในช่วงต้นยุค 1960 ลิกเทนสไตน์มักจะถูกกล่าวหาว่าจงใจลอกภาพจากการ์ตูนมาใช้ในผลงานของเขา แต่เขาก็ไม่ได้หยิบมาแบบทื่อๆ หากแต่ดัดแปลงภาพการ์ตูนเหล่านั้นให้แตกต่างจากต้นฉบับ จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และใช้ผลงานเหล่านั้นกระตุ้นเร้าและช็อกผู้ชมให้รับรู้ถึงผลกระทบอันหนักหน่วงของวัฒนธรรมสมัยนิยมที่มีต่อวิถีชีวิตของพวกเขา

ด้วยการใช้ภาพการ์ตูนประกอบถ้อยคำในบอลลูนคำพูดและเสียงเอฟเฟ็กต์ในการ์ตูนช่อง ภายใต้รูปลักษณ์เปลือกนอกที่ดูฉูดฉาดบาดตาและอาจจะฉาบฉวยในสายตาของนักวิจารณ์ศิลปะในยุคนั้นหลายคน

ลิกเทนสไตน์นำเสนอเนื้อหาสาระในเชิงวิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมร่วมสมัย (ของเขา) อย่างเช่น การเสียดสีอคติและความเหลื่อมล้ำทางเพศในสื่อสมัยนิยม โดยเขามักจะนำเสนอภาพของผู้หญิงที่กำลังร้องไห้ที่ได้แรงบันดาลใจจากความคิดที่นำเสนอในละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ ว่าผู้หญิงต้องพึ่งพาและถูกควบคุมและครอบครองโดยผู้ชาย

เขามักจะวาดภาพผู้หญิงที่กำลังตกอยู่ในห้วงขณะของความสับสนและเศร้าโศกในใจ ดังเช่นในผลงานที่โด่งดังที่สุดของเขาชิ้นหนึ่งอย่าง Drowning Girl (1963) ที่เป็นภาพของผู้หญิงกำลังจมอยู่ในทะเลคลั่ง และหลั่งน้ำตา ประกอบคำพูดเชิงตัดพ้อถึงผู้ชายของเธอในบอลลูนคำพูด

Drowning Girl (1963), ภาพจากhttps://mo.ma/38cPSwJ

ลิกเทนสไตน์แสดงการเสียดสีภาพจำเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงที่ปรากฏในวัฒนธรรมสมัยนิยม ซึ่งมักจะพบเห็นในภาพยนตร์และละครโทรทัศน์น้ำเน่าทั้งหลาย (ในยุคนั้น) ด้วยเนื้อหาแฝงอารมณ์เชิงขบขัน ที่แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงในภาพกำลังตระแหน่แง่งอน และยอมจมน้ำดีกว่าที่จะขอความช่วยเหลือจากคู่รักของเธอ

ในแง่หนึ่ง ทางเลือกของเธอกลายเป็นวีรกรรมสำหรับเพศหญิง ที่ไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากเพื่อนเพศชายที่ควบคุมบงการเธอ ภาพวาดนี้ทำให้เราเข้าใจถึงพลังของการยอมพลีชีพของผู้หญิงคนนี้

พลังแห่งน้ำตาของความสิ้นหวังในภาพวาดนี้ แสดงให้เห็นทั้งพลังและความขาดไร้พลังของเพศหญิง ที่ต้องพึ่งพาเพศชายในการดำรงชีวิต

แต่ในขณะเดียวกัน เธอก็มีเสรีภาพที่จะเลือกชะตากรรมของตนเอง ด้วยการปฏิเสธความช่วยเหลือจากพวกเขา

หรือการนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับความรุนแรงในวัฒนธรรมอเมริกัน ดังเช่นในผลงาน Gun in America (1968) ที่เขาทำขึ้นสำหรับลงหน้าปกนิตยสาร Time ที่ทำสกู๊ปวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสิทธิในการครอบครองอาวุธปืนในสหรัฐอเมริกา

Gun in America (1968), ภาพจาก https://bit.ly/2BPWEMD

อันเป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากเหตุการณ์ลอบสังหารมาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ และประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ในช่วงปี 1968

ในช่วงยุค 1980 ลิกเทนสไตน์หวนกลับไปทำงานที่ได้รับอิทธิพลมาจากกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะอันหลากหลายในอดีต ไม่ว่าจะเป็น เซอร์เรียลลิสต์, คิวบิสต์, เยอรมันเอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง แอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ และงานศิลปะนามธรรมรูปทรงเรขาคณิต รวมถึงหยิบเอาผลงานชิ้นเอกของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ในอดีตอย่างเซซานน์ (Paul C?zanne), มองเดรียน, ปิกัสโซ่ และแวน โก๊ะห์ มาทำขึ้นใหม่ในรูปแบบของการ์ตูนสีสันสดใสสไตล์ป๊อปอาร์ต

Bedroom at Arles (1992), ภาพจากhttps://bit.ly/2NIxSk

การตีความงานศิลปะในประวัติศาสตร์ศิลป์ในอดีตด้วยมุมมองของวัฒนธรรมสมัยนิยมของเขาเช่นนี้นี่เอง ที่ส่งอิทธิพลอย่างมากต่อศิลปินและนักสร้างสรรค์รุ่นหลังๆ และเป็นหนึ่งในแรงผลักดันที่แจ้งเกิดให้ป๊อปอาร์ตกลายเป็นกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่กลายเป็นนิยามแห่งกระแสความคิดในยุคหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) อย่างแท้จริง

ผลงานของเขายังลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างงานพาณิชย์ศิลป์และงานศิลปะสำหรับมวลชน กับงานศิลปะชั้นสูง และหลอมรวมสองสิ่งนี้เข้าไว้ด้วยกันอย่างแนบเนียน

ในช่วงบั้นปลายของชีวิต ลิกเทนสไตน์ทำงานด้วยสื่อ เทคนิค และวัสดุอันหลากหลาย ทั้งงานจิตรกรรม, ประติมากรรม, ภาพพิมพ์, ภาพวาดลายเส้น, สื่อผสม และงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ ไปจนถึงงานสร้างสรรค์ในแขนงอื่นๆ อย่างงานตกแต่งภายใน งานออกแบบสิ่งพิมพ์และโฆษณา ฯลฯ

Cap de Barcelona, (1992) ประติมากรรมสื่อผสม, ภาพจากhttps://bit.ly/3i9nLD

ในปี 1995 เขาได้รับรางวัลเกียรติยศ National Medal of Art ก่อนที่จะเสียชีวิตในปี 1997 ในวัย 73 ปี

เหลือแต่เพียงผลงานและแรงบันดาลใจอันนับไม่ถ้วนสู่คนรุ่นหลัง