วิรัตน์ แสงทองคำ : ยุคบุกเบิก “ซีพี” ของ “ธนินท์”

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ – ข้อเขียนชุดนี้ ถือเป็นเนื้อหา “ทางเลือก” ของเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับซีพีและธนินท์ เจียรวนนท์ จะทยอยนำเสนอเป็นระยะๆ โดยไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องกัน

เรื่องราวผู้นำเครือข่ายธุรกิจใหญ่ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างยากที่ใครจะเทียบในสังคมธุรกิจไทย

“อาคารแห่งหนึ่งในย่านทรงวาด กรุงเทพฯ ด้านหน้ามีป้ายติดว่า “ห้างเจียไต๋จึง” ที่นี่เมื่อกว่า 80 ปีที่แล้ว คือจุดเริ่มนับ 1 ของชีวิตผม” สาระตอนสำคัญในช่วงต้นจากหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” โดย ธนินท์ เจียรวนนท์ เชื่อกันว่าตั้งใจให้มีขึ้นเป็นส่วนหนึ่งเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบอายุ 80 ปีของเขา

หนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน (พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2562) เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ณ งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 24 ระหว่างวันที่ 2-13 ตุลาคม 2562 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี นับเป็นหนังสือที่เผยแพร่อย่างกว้างขวาง เพียงไม่กี่เดือนต้องพิมพ์เป็นครั้งที่ 4 (พฤศจิกายน 2562)

“หนังสือเล่มแรกที่บอกเล่าเส้นทาง วิธีคิด การสร้างธุรกิจ โดยเจ้าของเรื่องตัวจริง ธนินท์ เจียรวนนท์ เพื่อนักธุรกิจรุ่นต่อไป สู่การสร้างเศรษฐกิจชาติที่เข้มแข็ง” แนวเรื่องซึ่งตั้งใจสรุปขึ้นในหน้าแรกๆ ของหนังสือ

อันที่จริงเรื่องราวทำนองเดียวกันเคยมีขึ้นก่อนหน้าเพียง 3 ปี โดยปรากฏ “บันทึกความทรงจำของธนินท์ เจียรวนนท์” หรือ My Personal History : Dhanin Chearavanont ในสื่อยักษ์ใหญ่แห่งญี่ปุ่น-NIKKEI มีความยาวถึง 30 ตอน เปิดฉากเป็นภาษาญี่ปุ่น (http://www.nikkei.com/) และภาษาจีน (http://cn.nikkei.com/) ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2559

และต่อมาได้แปลเป็นภาษาอังกฤษ ปรากฏในสื่อเครือข่าย NIKKEI ที่ชื่อ Nikkei Asian Review (http://asia.nikkei.com/) ในเดือนกันยายน 2559 (รวมทั้งจัดพิมพ์เป็น Special edition ให้กับซีพีจำนวนหนึ่งเป็นการเฉพาะ ผมเองได้รับอภินันทนาการมาหลายเล่ม)

กรณีข้างต้นถือเป็นเรื่องที่ตื่นเต้นมากทีเดียว สำหรับเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพีได้มีการแปล (เข้าใจว่าจากภาษาจีน) มาเป็นภาษาไทยเผยแพร่ในสื่อของซีพีเองตั้งแต่ช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2559 ต่อเนื่องมา จนสื่อในประเทศไทยให้ความสนใจกว้างขึ้นๆ

 

“My Personal History” ของ NIKKEI ถ่ายทอดเรื่องราวบันทึกความทรงจำของบุคคลชั้นนำระดับโลก เพื่อให้ชาวญี่ปุ่นได้เรียนรู้เรื่องราวชีวิตและแรงบันดาลใจ มีมาตั้งแต่ปี 2499 ก่อนหน้านี้มีบุคคลระดับโลก อาทิ George W. Bush อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา Margaret Thatcher อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของอังกฤษ Lee Kuan Yew อดีตประธานาธิบดีสิงคโปร์ รวมถึงนักธุรกิจชั้นนำของญี่ปุ่น อาทิ CEO ของ SONY PANASONIC และ HONDA เป็นต้น

“เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ถือเป็นบริษัทที่เข้าไปปฏิวัติโต๊ะอาหารของญี่ปุ่นโดยได้ส่งออกไก่สดแช่แข็งไปยังประเทศญี่ปุ่นเป็นรายแรกตั้งแต่ พ.ศ.2516 ทำให้คนญี่ปุ่นได้บริโภคไก่ซึ่งเป็นอาหารโปรตีนได้ในราคาถูก นอกจากนี้ ซีพียังประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ในประเทศไทย และยังเป็นบริษัทที่ลงทุนใน Itochu โดยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดในบริษัทการค้าชั้นนำมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศญี่ปุ่น ทั้งยังเป็นบริษัทประสบความสำเร็จในการเข้าไปลงทุนในประเทศจีน” NIKKEI สรุปภาพความเชื่อมยงกับสังคมญี่ปุ่นไว้

เชื่อว่า “บันทึกความทรงจำของธนินท์ เจียรวนนท์” มีอิทธิพลไม่น้อยต่อหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” ซึ่งอาจเป็นภาพขยาย ต่อเติมจากสิ่งที่ธนินท์ เจียรวนนท์ คิดว่ามีความสำคัญอย่างเฉพาะเจาะจง

โดยเฉพาะพยายามนำเสนอข้อคิดและบทสรุปสำเร็จรูปอย่างจับต้องได้ ตามท่วงทำนองของผู้ประสบความสำเร็จในสังคมไทย

“ประมาณปี พ.ศ.2462 คุณพ่อเดินทางมาประเทศไทยและอาศัยอยู่กับญาติ สมัยนั้นรัฐบาลไทยสนับสนุนการเข้ามาของชาวจีนโพ้นทะเล ชาวจีนแต้จิ๋วจำนวนไม่น้อยจึงได้เข้ามาประเทศไทย ปัจจุบันลูกหลานชาวจีนในประเทศไทยมีจำนวนกว่า 7,000,000 คน หรือคิดเป็น 10% ของประชากรทั้งประเทศ…ชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพมาส่วนใหญ่จะยึดอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก คุณพ่อนำเมล็ดพันธุ์ที่นำมาจากเมืองจีนขายให้แก่เกษตรกรและส่งขายให้ร้านค้าปลีก ท่านค่อยๆ เก็บหอมรอมริบ เมื่อได้เงินก้อนหนึ่งในปี พ.ศ.2464 คุณพ่อจึงเปิด “ร้านเจียไต๋จึง” ขึ้นบนถนนเยาวราช” (อ้างจาก “บันทึกความทรงจำของธนินท์ เจียรวนนท์” หรือ My Personal History : Dhanin Chearavanont)

ข้อความสำคัญสะท้อนจุดเริ่มต้นธุรกิจไทยรายหนึ่ง ซึ่งกำลังเดินหน้าสู่เครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทยแห่งศตวรรษ ที่มีจุดกำเนิดสอดคล้องกับกระแสและบริบททางสังคม

 

ผมเองในฐานะผู้ติดตามนำเสนอเรื่องราวซีพีมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 3 ทศวรรษ มีสาระบางตอนที่เคยนำเสนอพอจะเชื่อมโยงกันให้เห็นภาพที่กว้างขึ้น

“ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับขบวนการชาวจีนอพยพมาสู่แผ่นดินสยามนั้นเป็นบริบทที่น่าสนใจ เริ่มต้นครั้งใหญ่ครั้งแรกในช่วงสงครามฝิ่น (2383-2385) เมื่ออาณานิคมอังกฤษเข้ายึดครองแผ่นดินจีนตอนใต้ซึ่งมีท่าเรือสำคัญ โดยเฉพาะเพื่อใช้เป็นฐานการค้าฝิ่นระดับภูมิภาค เป็นช่วงเวลานำความยากจนข้นแค้นสู่ประชาชนจีน ผลักดันให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่สู่โพ้นทะเล ไม่ว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย (อ้างจากหนังสือ The Penguin of History World โดย J M Roberts, 2000) ต่อมาอีกช่วง ขบวนการอพยพได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นจากปีละประมาณ 2,000-3,000 คนในช่วงสงครามฝิ่น เพิ่มเป็นปีละ 16,000 คนในช่วงปี 2425-2435 และเพิ่มขึ้นอีกมากถึงปีละ 68,000 คนในช่วงปี 2449-2458 (อ้างอิงมาจากหนังสือ Capital Accumulation in Thailand 1855-1985 โดย Suehiro Akira,1996) ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายในช่วงปลายราชวงศ์จีนแผ่นดินใหญ่ ต่อเนื่องเข้าสู่ระบอบสาธารณรัฐ นำโดยซุนยัตเซน”

สถานการณ์ซึ่งเคยนำเสนอไว้เมื่อปี 2559 สะท้อนให้เห็นภาพ จุดกำเนิดซีพีอยู่ในช่วงปลายของขบวนการอพยพของชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งมีนักวิชาการบางคนสรุปอีกว่า มิได้มาจากความวุ่นวายของสังคมและความอดอยากยากแค้นเท่านั้น หากเป็นขบวนการเคลื่อนย้ายผู้คนตามความต้องการแรงงานที่เพิ่มขึ้นในยุคอาณานิคมซึ่งกำลังครอบงำทั้งภูมิภาค

การเกิดขึ้นของ “ร้านเจียไต๋จึง” อยู่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (World War I) สงครามใหญ่ที่มีศูนย์กลางในยุโรป (2448-2452) ในช่วงเวลานั้นอิทธิพลอาณานิคมลดบทบาทไปบ้าง ขณะเครือข่ายธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลเริ่มมีบทบาทมากขึ้น

 

หนังสือ Capital Accumulation in Thailand 1855-1985 ของ Suehiro Akira (1996) บทที่ 3 The Rise of Capitalist Group 1855-1932 หรือปี พ.ศ.2389-2475 ให้ภาพกลุ่มอิทธิพลทางเศรษฐกิจในสังคมไทย 3 กลุ่มซึ่งเชื่อมโยงกัน

กลุ่มแรก-บริษัทการค้าระบบอาณานิคม พลังอันน่าเกรงขาม ดำเนินกิจการค้าทั่วไป ตั้งแต่การเดินเรือ ตัวแทนธนาคารอาณานิคม โรงสี โรงเลื่อย ส่งออกข้าว-ไม้สัก และเหมืองแร่

กลุ่มที่สอง กลุ่มพ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเล ส่วนใหญ่เริ่มจากฐานะส่วนหนึ่งของระบบอาณานิคมและค่อยๆ พัฒนาก้าวขึ้นมามีกิจการตนเอง ในบางช่วงบางตอน อาณานิคมอ่อนแรงกลุ่มเหล่านี้ก็เติบโต

และอีกกลุ่มโดยราชสำนัก โดยเฉพาะผ่านกรมพระคลังข้างที่ ดำเนินกิจการต่างๆ อย่างคึกคัก ทั้งดำเนินภายใต้การเริ่มของราชสำนักเอง ไปจนถึงการร่วมมือกับกิจการอาณานิคมและพ่อค้าเชื้อสายจีน ควรกล่าวถึงโดยเฉพาะการก่อตั้งธนาคารไทยพาณิชย์ (ธนาคารไทยแห่งแรกในปี 2449) และบริษัทปูนซิเมนต์ไทย (กิจการอุตสาหกรรมแห่งแรก ปี 2456)

เมื่อเทียบกันกรณีปูนซิเมนต์ไทยในช่วงระหว่างหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 กับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (2475) นับเป็นช่วงโอกาสทองช่วงหนึ่ง สามารถขยายตลาดปูนซีเมนต์ในราชอาณาจักรกว้างออกไป จากเมืองหลวงสู่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะตลาดภาคใต้ ซึ่งโอกาสมาจากการก่อสร้างทางรถไฟสายใต้เสร็จสิ้น

การมาถึงเมืองไทยของบิดาธนินท์ เจียรวนนท์ (เจี่ย เอ็ก ชอ) และ “ร้านเจียไต๋จึง” จึงเป็นจังหวะเวลาที่ดี