เส้นทางขรุขระ “ไทยแลนด์ 4.0” รัฐ-กสทช.เร่งคลอดกฎ คุมเข้ม-รีดภาษีธุรกิจออนไลน์

ขณะที่ด้านหนึ่ง รัฐบาลปักธงประกาศเป้าหมายที่จะนำประเทศไทยก้าวสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ชูการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล เสริมศักยภาพความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจเต็มที่ พร้อมกับการประกาศสนับสนุน “สตาร์ตอัพ” เต็มตัว

แต่อีกด้านหนึ่ง “แอ๊กชั่น” ของหน่วยงานรัฐที่ดูจะสวนทางกันอย่างชัดเจน นั่นก็คือการระดมสมองหากลไกควบคุมธุรกิจออนไลน์!

ทั้งในแง่ของการรีดภาษีตั้งแต่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ไปจนถึง “อี-คอมเมิร์ซ” ข้ามชาติ รวมถึงการออกกฎ จัดระเบียบเพื่อควบคุมผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นและโซเชียลเน็ตเวิร์กยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊ก ไลน์ ฯลฯ ที่รัฐบาลในหลายประเทศระบุว่าเป็นช่องทางเงินไหลออกนอกประเทศโดยไม่ต้องเสียภาษี

และล่าสุดกับความพยายามในการหาช่องทางกำกับดูแลบริการ OTT (Over-The-Top) บริการสื่อสาร แพร่ภาพและเสียงผ่านอินเตอร์เน็ต ของ “กสทช.” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

ซึ่งกำลังพลิกตำราหาข้อกฎหมายเพื่อคุมบริการ OTT ทั้งในส่วนของการเผยแพร่ คอนเทนต์ และการให้บริการอื่นๆ ที่ใช้ประโยชน์จากโครงข่ายโทรคมนาคม จนทำให้เกิดคำถามตามมามากมายว่า ทิศทางไทยแลนด์ 4.0 นั้นจะเดินไปบนเส้นทางไหนกันแน่

พ.อ.นที ศุกลรัตน์

โดยในส่วนของการให้บริการบรอดแคสต์ผ่านอินเตอร์เน็ต “พ.อ.นที ศุกลรัตน์” รองประธาน กสทช. ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ระบุว่า กำลังอยู่ระหว่างการหามาตรการกำกับดูแล

พ.อ.นทีระบุเหตุผลว่า หากแพลตฟอร์มใดที่ส่งคอนเทนต์แล้วมีผลกระทบต่อสังคมก็จำเป็นต้องมีมาตรฐานกำกับ ซึ่งบริการ OTT ในไทยเริ่มเติบโตชัดเจนตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ในฐานะองค์กรกำกับจึงต้องศึกษาหาจุดสมดุลระหว่างการป้องกันจากผลกระทบที่ไม่เหมาะสมกับการส่งเสริมผู้ประกอบการไม่ให้เผชิญกับภาระมากจนทำให้ธุรกิจใหม่ไม่เติบโต

แต่เนื่องจากอยู่ในระหว่างรอยต่อระหว่างการประกาศใช้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ฉบับใหม่ที่เพิ่งผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จึงต้องพิจารณาปรับปรุงให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่ด้วย

อย่างไรก็ตาม การสร้างกลไกกำกับ OTT ไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นปัญหาที่รัฐบาลหลายประเทศต้องหาทางรับมือ โดยแหล่งข่าวภายในสำนักงาน กสทช. ระบุว่า

“ประเด็นนี้ต้องหารือกับผู้ใหญ่ให้รอบด้าน คอนเซ็ปต์ในการกำกับตกผลึกแล้ว แต่จะทำให้สำเร็จต้องให้รัฐบาลสนับสนุน หัวใจสำคัญคือ เมื่อออกกฎมาแล้ว ต้องบังคับใช้ให้ได้ จึงต้องหารือกับรัฐบาลและผู้ประกอบการ เพื่อหาแนวทางเจรจาให้เข้าสู่กระบวนการกำกับดูแล ประเด็นหลักคือต้องหาอำนาจต่อรองที่จะทำให้ผู้ประกอบการยอม เพราะบริการ OTT มาพร้อมอินเตอร์เน็ตที่ใครก็เข้าถึงได้ กสทช. ไม่มีอำนาจไปบล๊อก”

 

สําหรับธุรกิจ OTT ที่ กสทช. เล็งว่าจะเข้ามากำกับดูแล ขีดเส้นไว้ว่า หากเป็นการให้บริการคอนเทนต์บนอินเตอร์เน็ตแบบเดียวกับให้บริการทีวีจะถือเป็นกิจการบรอดแคสต์ที่ต้องกำกับด้วยกลไกเดียวกับบรอดแคสต์อื่นๆ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการ

ดังนั้น OTT ที่จะถูกกำกับจะครอบคลุมทั้งผู้ให้บริการคอนเทนต์ประเภทฟรีทู แอร์ และคอนเทนต์ออนดีมานด์ อาทิ Netflix, iflix เป็นต้น รวมถึงแอพพลิเคชั่นที่ให้บริการบรอดแคสต์ เช่น ไลน์ทีวี (LINE TV) และเฟซบุ๊กไลฟ์ (facebook live)

แต่การจะกำกับดูแลได้ต้องมีการออกประกาศใหม่ เนื่องจาก พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ที่ให้อำนาจ กสทช. ในการกำกับดูแลกิจการ ไม่ได้ระบุถึงการให้บริการแบบหลอมรวมเทคโนโลยี (คอนเวอร์เจนซ์) ขณะที่ พ.ร.บ.กสทช. ฉบับล่าสุดที่เพิ่งผ่าน สนช. เน้นให้กำกับดูแลแบบคอนเวอร์เจนซ์

ขณะที่การให้บริการ OTT ด้านบรอดแคสต์ในไทย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1. ฟรีแพลตฟอร์มที่ผู้ชมดูฟรี ผู้ประกอบการมีรายได้หลักจากโฆษณา เช่น LINE TV และ youtube รวมถึงช่องทีวีที่นำคอนเทนต์มาให้บริการ OTT เช่น ช่อง 3 ช่อง 7 ช่อง 8 ช่อง Workpoint หรือเพย์ทีวีแบบ PSI

ประเภทที่ 2 ให้บริการแบบเพย์แพลตฟอร์ม ซึ่งมีการจ่ายค่าสมาชิกรายเดือนหรือรายปี หรือจ่ายเป็นรายครั้ง มีทั้งผู้ประกอบการแบบ OTT อิสระ เช่น ผู้ให้บริการดูภาพยนตร์ออนไลน์ เช่น Netflix, iflix, Hollywood HDTV, Primetime รวมถึงผู้ให้บริการโทรคมนาคม เช่น AIS Play และผู้ให้บริการเพย์ทีวีรูปแบบ OTT เช่น ทรูวิชั่นส์ แอนิแวร์ (true visions anywhere)

และ 3. ผู้ให้บริการแบบผสม คือมีทั้งคอนเทนต์ทั่วไปที่รับชมฟรี และแบบพรีเมียมที่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

ส่วนรายได้ของผู้ให้บริการ OTT กลุ่มที่มีรายได้จากโฆษณา พบว่าปี 2559 เฉพาะยูทูบมีรายได้ 1,663 ล้านบาท คิดเป็น 77% ของมูลค่าโฆษณาในวงการ OTT ส่วนผู้ประกอบการรายอื่น อาทิ LINE TV มีรายได้รวมกัน 502 ล้านบาท

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์

มุมมองจากเลขาธิการ กสทช. “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เห็นว่า ในปัจจุบันผู้ประกอบการ OTT ทั้งแอพพลิเคชั่นและการให้บริการบรอดแคสต์ ไม่ต้องถูกกำกับดูแล ไม่ต้องมีส่วนในการลงทุนด้านโครงข่ายโทรคมนาคม รวมถึงไม่ต้องมีการประมูลหรือจ่ายค่าธรรมเนียมไลเซนส์เหมือนผู้ประกอบการทีวีประเภทอื่นๆ

หลายฝ่ายจึงมองว่าไม่เป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะในประเทศไทย แต่ล่าสุดในการประชุมผู้นำและผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรกำกับดูแลของประเทศสมาชิกอาเซียน (ATRC Leaders) ที่มาเลเซียเมื่อเดือนก่อน ก็มีประเด็นเรื่อง OTT เป็นหัวข้อสำคัญในการหารือ

“OTT เป็นปัญหาหลักของทั่วโลก ทั้งในแง่การคุ้มครองผู้บริโภค และผลกระทบทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่เปิดให้บริการ เนื่องจากแต่ละทรานแซ็กชั่นที่เกิดขึ้นมีแต่เงินไหลออกนอกประเทศโดยไม่ได้เสียภาษี”

ดังนั้น เพื่อหาแนวทางในการกำกับดูแล กสทช. จะเป็นเจ้าภาพการประชุมร่วมระหว่างผู้ประกอบการ OTT และผู้ประกอบการโทรคมนาคมของ 10 ประเทศอาเซียน ระหว่างวันที่ 12-13 กันยายน 2560 รวมถึงรวบรวมข้อมูลจัดทำรายงานสถานการณ์ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากธุรกิจ OTT ในประเทศไทย ซึ่งเป็นแนวทางที่ 10 ประเทศในอาเซียนตกลงร่วมกันไว้

แต่บรรดาแอ๊กชั่นของหลายหน่วยงานภาครัฐนี้ ฝั่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) “พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์” ดูจะไม่เห็นด้วยสักเท่าไร โดยระบุว่า การเข้ามาของโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ข้ามชาติเป็นผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอลและก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้เร็วขึ้น จึงควรโฟกัสที่การส่งเสริมผู้ประกอบการไทยหาช่องทางสร้างมูลค่าเพิ่มจากบริการของยักษ์ใหญ่เหล่านั้นมากกว่า

“ต้องบาลานซ์ระหว่างการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐกับการส่งเสริมนวัตกรรม เพราะหลายเรื่องเป็นสิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ทุกอย่างใหม่จนโลกตั้งรับไม่ทำ จะให้ทำตามระเบียบเดิมที่วางไว้ก็ไม่ได้แล้ว และถ้าเราเหยียบเบรกอย่างรวดเร็วรุนแรง นวัตกรรมก็จะไม่เกิด”

 

จากนี้คงต้องจับตาว่า ถึงที่สุดแล้ว รัฐบาลจะสนับสนุนฝ่ายไหน

การกำกับดูแล OTT สารพัดบริการออนไลน์ดังกล่าวจะมีเป้าหมายเพื่ออุดรูรั่วเงินไหลออกนอกประเทศ หรือกลายเป็นประเด็นความมั่นคงในการเผยแพร่เนื้อหากันแน่

เร็วๆ นี้คงได้เห็นภาพชัดเจนว่า จากกลไกกำกับ OTT ที่ กสทช. กำลังผลักดัน ว่าจะคลอดได้อย่างรวดเร็วอย่างที่แสดงท่าทีขึงขังอยู่ในขณะนี้

และคงเป็นจุดที่ทุกฝ่ายกำลังจับตาเช่นกันว่า นี่จะเป็นจุดเปลี่ยนที่ส่งผลกระทบต่อการก้าวไปสู่เส้นทาง “ไทยแลนด์ 4.0” มากน้อยเพียงใด