‘สมคิด’ ลุยมอบนโยบาย ‘ออมสิน’ เน้นเป็นที่พึ่งให้คนตัวเล็ก พร้อมอัดสินเชื่อแสนล้านอุ้มธุรกิจท่องเที่ยว

สมคิดลุยมอบนโยบายออมสินเน้นเป็นที่พึ่งให้คนตัวเล็ก พร้อมอัดสินเชื่อแสนล้านอุ้มธุรกิจท่องเที่ยว

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานแก่ให้ธนาคารออมสิน ว่า ที่ผ่านมามีนโยบายที่ต้องการให้ธนาคารออมสินเป็นฐานในการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดเล็กๆ โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ในช่วงครึ่งปีแรก กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจย่อยได้รับผลกระทบรุนแรง โดยธุรกิจขนาดใหญ่ยังมีทางไปได้เพราะมีธนาคารพาณิชย์ให้ความช่วยเหลือและดูแลได้ แต่ในส่วนของธุรกิจรายเล็ก อาทิ พ่อค้าแม่ค้า หรือหาบเร่แผงลอยต่างๆ ไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ ไม่มีที่พึ่งพิง ทำให้หลายรายต้องเข้าสู่การเป็นหนี้นอกระบบ สิ่งที่หารือร่วมกันคือ ธนาคารออมสินต้องเตรียมขยายการพักชำระหนี้ และการเตรียมสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างธุรกิจที่เกี่ยวกับภาคการท่องเที่ยวและบริการ ที่มีความเดือดร้อนหนัก เพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดแคลนเงิน (Credit crunch)

บรรดาพอร์ตสินเชื่อของธนาคารออมสินมีกค้าที่เป็นรัฐบาลกว่า 30% ซึ่งต่อไปจะต้องเพิ่มสัดส่วนลูกค้าในส่วนของกลุ่มคนตัวเล็ก และกลุ่มเอสเอ็มอี หรือสตาร์ทอัพเข้าไปอีก เพื่อให้เป็นธนาคารรัฐแห่งแรกที่กระโดดเข้ามาดูแลและช่วยเหลือด้านสินเชื่อให้กับคนตัวเล็กอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นธนาคารที่รับฝากเงินเพียงอย่างเดียว โดยจะเตรียมทุกอย่างไว้เพื่อการเดินหน้าต่อ ไม่ใช่การถอยหลังนายสมคิดกล่าว

นายสมคิดกล่าวว่า ทิศทางในอนาคต เนื่องจากธนาคารออมสินมีความได้เปรียบในด้านการมีลูกค้าเป็นคนตัวเล็กๆจำนวนมาก ในหลายธุรกิจ ไม่ใช่แค่พ่อค้าแม่ค้าเท่านั้น ส่วนกลุ่มลูกค้าชนชั้นกลางพอมีบ้าง ซึ่งยุดหลังโควิด-19 จะเป็นยุคความเปลี่ยนแปลงวิถีใหม่ (นิวนอร์มอล) จะมีผู้ประกอบการรายใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก มีผู้ประกอบกาารใหม่ทำธุรกิจใหม่ และเอสเอ็มอีทั้งหลายจะเข้ามาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ธนาคารออมสินจะต้องกลับไปถามตัวเองว่า จะเป็นธนาคารที่ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการใหม่ๆ เหล่านี้ได้อย่างไร โดยโครงสร้างของธนาคารก็จะต้องพัฒนาสูตรการช่วยเหลือสตาร์ทอัพรายใหม่ที่จะเกิดขึ้น อาทิ นักศึกษาที่เพิ่งจบแล้วยังไม่มีงานทำ แต่มีทักษะพิเศษ สามารถประกอบอาชีพอะไรใหม่ หรือแม่บ้านที่ต้องการทำอาหารขาย ก็สามารถมาปรึกษาธนาคารออมสินได้ โดยออมสินต้องพร้อมให้ความช่วยเหลือ และมีมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สนับสนุนกลุ่มคนเหล่านี้ร่วมกัน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารออมสินได้เตรียมวงเงินเพิ่มเติมกว่า 2 หมื่นล้านบาท กันไว้ในส่วนของสินเชื่อเพื่อช่วยลูกค้ารายย่อย หรือลูกค้าตัวเล็กต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวและบริการ เพราะเป็นธุรกิจที่ก่อให้เกิดการจ้างงานสูงมาก โดยจากเดิมมีการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ารายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาปล่อยไปเกือบหมดแล้ว และมีลูกค้าได้รับอนุมัติกว่า 1 ล้านราย รวมถึงได้ตั้งวงเงินไว้อีก 1 แสนล้านบาท ในการใช้เป็นแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟท์โลน) เพื่อเป็นสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ ช่วยลดภาระให้กับผู้ประกอบการ เพิ่มสภาพคล่อง และพยายามช่วยให้สามารถจ้างงานต่อไปได้ ซึ่งมาตรการนี้ คาดว่าจะสามารถออกมาได้ในเร็วๆ นี้แล้ว

ส่วนเรื่องที่ต้องการให้ธนาคารออมสิน เป็นส่วนช่วยสร้างผู้ประกอบการใหม่ จะเป็นส่วนที่ให้ออมสินขยายงาน ในการปรับโครงสร้าง เพื่อให้มีหน่วยงานกลางดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นการให้ทุนคู่กับการสร้างงานไปด้วยกันไม่ใช่การให้ทุนไป แต่ไม่ได้มีการต่อยอดเพิ่มเติม อาทิ ให้ไป 1 บาทก็เท่ากับ 1 บาท ไม่ได้แล้ว จะต้องต่อยอดให้ออกเป็น 2-4 บาทต่อไปให้ได้ โดยได้ให้ออมสินจัดทัพใหม่ เน้นไปที่ผู้ประกอบใหม่ เพราะโควิเด-19 จะทำให้เกิดธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมากนายอุตตมกล่าว

ด้านนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าวว่า มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการตัวเล็กๆ จะใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับสินเชื่อฉุกเฉิน แต่มีการปรับเงื่อนไขจากเดิมเป็นรายละไม่เกิน 3-5 หมื่นบาท โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน และไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ในอัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน ซึ่งผู้เข้าโครงการจะต้องมาลงทะเบียนใช้สิทธิ์ เพราะเป็นการเปิดรอบใหม่ โดยจะมีการนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบในสัปดาห์หน้า รวมถึงมีมาตรการซอฟท์โลนในวงเงิน 1 แสนล้านบาท ที่จะเน้นปล่อยให้แก่ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุนอื่นเป็นหลัก ขณะที่ธุรกิจการบิน ถือเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ โดยวงเงินที่จะปล่อยให้นั้น จะไม่เกินรายละ 50 ล้านบาท โดยมีการกำหนดเงื่อนไขชัดเจน และแตกต่างจากซอฟท์โลนก้อน 5 แสนล้านบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาทิ ต้องเป็นลูกค้ารายใหม่ ส่วนสินเชื่อรายย่อย เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขและรายละเอียดต่างๆ ซึ่งเป็นแผนระยะกลางที่ธนาคารออมาสินจะดำเนินการภายใน 6 เดือน ซึ่งเบื้องต้นมีเป้าหมายจะช่วยลดต้นทุนดอกเบี้ยสินเชื่อนอกระบบที่อยู่ในอัตรา 24-28% ต่อปี ให้ลดลงเหลือ 10% ต่อปี หากสามารถทำได้