นพมาส แววหงส์ | GET OUT “โหดสยอง”

นพมาส แววหงส์

GET OUT

กำกับการแสดง
Jordan Peele

นำแสดง
Daniel Kaluuua
Allison Williams
Catherine Keener
Bradley Whitford
Caleb Landry Jones
LelRey Howery

 

นี่เป็นหนังอินดี้แนวระทึกใจ-เขย่าขวัญ ที่ทำได้ดีมาก

ขอแนะนำสำหรับคนที่ชอบหนังแนวนี้ค่ะ

เรื่องของเรื่องคือ เราเห็นชายผิวดำคนหนึ่งขัดขืนต่อสู้กับถูกจับตัวขึ้นรถไปอย่างลึกลับในฉากแรก

และแล้วก็เปิดเรื่องให้เห็นตัวละครหลักสองคน คือ คริส วอชิงตัน (แดเนียล คาลูยา) กับ โรส อาร์มิเทจ (แอลลิสัน วิลเลียมส์ ผู้มีใบหน้าเหมือนดาราดังคนหนึ่งคือ เจนนิเฟอร์ คอนเนลลี ยังกะแกะ ถ้านึกหน้าไม่ออก ก็ลองนึกถึงดาราหญิงที่เคยเล่นคู่กับ รัสเซลล์ โครว์ ใน A Beautiful Mind และได้รางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมไปนะคะ)

สองคนนี้เป็นคู่รักหวานชื่น แต่ความแตกต่างที่ต้องสะดุดใจใครทุกคนที่พบเห็นคู่รักคู่นี้อย่างช่วยไม่ได้ คือคริสมีอาชีพช่างภาพและผิวดำสนิทราวกับถ่าน ขณะที่โรสเป็นสาวสวยผิวขาวผ่อง

เมื่อเริ่มเรื่อง คริสตกลงตามคำชวนของโรสให้ไปเยี่ยมบ้านพ่อแม่ของเธอในชนบทระหว่างช่วงวันหยุด แบบที่ประหม่าตื่นเต้นเล็กน้อยเหมือนผู้ชายที่ต้องไปให้พ่อแม่แฟนดูตัวเป็นหนแรก ซึ่งมีเรื่องให้ตกประหม่ามากกว่าปกติเพราะพ่อแม่โดยมากมักไม่ชอบใจกับเขยหรือสะใภ้ต่างสีผิวต่างเผ่าพันธุ์

อย่างไรก็ไม่รู้ อดไม่ได้ที่จะนึกถึงหนังเมื่อหลายสิบปีมาแล้วชื่อ Guess Who’s Coming to Dinner? ที่ ซิดนีย์ ปอยเตียร์ เล่นเป็นหนุ่มผิวดำที่แฟนสาวพาไปแนะนำตัวและกินข้าวบ้านพ่อแม่คือ สเปนเซอร์ เทรซีย์ กับ แคตเธอรีน เฮปเบิร์น ซึ่งได้ออสการ์นักแสดงนำหญิงไปครอง ในช่วงทศวรรษ 1970 เรื่องการเหยียดผิวยังเป็นประเด็นใหญ่ในอเมริกาอยู่มาก

คริสถามโรสว่าพ่อแม่เธอรู้หรือยังว่าเขาผิวดำ ซึ่งโรสตอบอย่างไม่เห็นเป็นประเด็นว่ายังไม่รู้ เพราะพ่อแม่ของเธอไม่ใช่พวกเหยียดผิว เธอบอก…และต่อมาพ่อเธอจะย้ำอีกครั้งว่า…เขาไม่เห็นความแตกต่างของผิวเลย ถึงขนาดที่ถ้าโอบามาจะลงเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สาม พ่อแม่ก็จะเลือกเขาอีก

แต่หนังเรื่องนี้ก้าวข้ามการกีดกันทางสีผิวขึ้นไปอีกระดับหนึ่งที่รุนแรงกว่าการกีดกันไม่ให้หนุ่มสาวรักและแต่งงานกัน

มิไยที่เพื่อนรักของคริสที่ชื่อ ร็อด (ลิลเรย์ เฮาเวอรี) จะห้ามปรามไม่เห็นด้วยกับการที่คริสจะไปเยี่ยมบ้านของแฟนผิวขาวในครั้งนี้ และร็อดอาจเป็นบุคคลเดียวที่รู้ว่าคริสออกจากเมืองไปไหน

หนังเรื่องนี้ย้ำหลายครั้งหลายหนเรื่องการที่ร็อดเป็นพนักงานของ “ที.เอส.เอ.” ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการรักษาความปลอดภัยในการเดินทาง ย้ำเสียจนให้ความรู้สึกว่านี่เป็นการวางตัวสินค้า (product placement) หรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะเดี๋ยวนี้เรื่องแบบนี้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่แพร่หลายและเป็นหนทางหารายได้ของผู้สร้างโดยแลกกับการ “โฆษณา” สินค้าและบริการให้อย่างแนบเนียนผ่านทางการนำเสนอของตัวละคร

หนังเดินเรื่องได้ดีมาก สร้างความสงสัยใคร่รู้ชวนระทึกใจจากเหตุการณ์แปลกๆ ลักษณะและการกระทำของตัวละครที่ดูเพี้ยนๆ พิสดาร

ระหว่างทางขับรถผ่านป่า โรสขับรถชนกวางตัวเบ้อเริ่ม และมีตำรวจทางหลวงมาสอบถาม

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจขอดูใบขับขี่ของคริส ซึ่งไม่ใช่ผู้ขับรถในตอนเกิดเหตุ โรสก็โมโหฉุนเฉียวเข้าใส่ ห้ามคริสไม่ให้ควักบัตรให้ดู และกล่าวหาว่านี่เป็นการกระทำแบบเหยียดผิวชัดๆ

คริสขอบคุณเธอที่ปกป้องเขา แต่ทว่าเหตุผลที่แท้จริงของโรสจะเป็นที่กระจ่างแจ้งในเวลาต่อมา

From left to right: Missy (Catherine Keener), Dean (Bradley Whitford), Rose (Allison Williams), Georgina (Betty Gabriel) and Chris (Daniel Kaluuya) in Universal Pictures’ Get Out, a speculative thriller written, produced and directed by Jordan Peele.

คริสได้รับการต้อนรับจากพ่อแม่ของโรสอย่างดี คุณพ่อดีน (แบรดลีย์ วิตฟอร์ด) เป็นศัลยแพทย์ทางประสาทวิทยา และคุณแม่มิสซี (แคตเธอรีน คีเนอร์) เป็นจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการสะกดจิต ขณะที่น้องชายเจเรมี (เคเล็บ แลนดรี โจนส์) ดูเป็นหนุ่มเฮี้ยวและมีปัญหา

ทว่า ที่ประหลาดจนน่าสะกิดใจ คือชายหญิงผิวดำสองคนที่ดูเหมือนเป็นคนสวนและสาวใช้ในบ้านหลังใหญ่นี้ ซึ่งมีพฤติกรรมพิลึกเป็นที่น่าสังเกต

เมื่อคริสตื่นขึ้นกลางดึกเพื่อออกไปสูบบุหรี่ เขาได้เจอมิสซี ซึ่งเรียกเขาเข้าไปคุยด้วย และดูเหมือนสะกดจิตเขาอย่างที่เธอบอกว่าสามารถทำให้เขาเลิกบุหรี่ได้โดยเด็ดขาด คริสยิ่งรู้สึกในบรรยากาศแปลกๆ มากขึ้น

วันต่อมาเป็นวันรวมญาติประจำปีของครอบครัว และคริสยิ่งเห็นสิ่งผิดปกติมากขึ้นอีก โดยเฉพาะการที่หนุ่มผิวดำท่าทางแปลกคนหนึ่งเกิดน็อตหลุด และบอกให้เขารีบออกไปเสียเร็วๆ ก่อนที่จะสายเกินไป

นี่คือที่มาของชื่อหนังว่า Get Out

เพื่อไม่ให้เป็นการสปอยล์เรื่อง จึงขอโดดข้ามไปสู่เวลาที่ออกจะสายเกินไปหน่อยแล้วสำหรับคริสที่จะกลับออกไป ตราบเท่าถึงตอนนี้ ผู้เขียนคิดว่าหนังเดินเรื่องได้ดีมาก น่าสนใจ วางองค์ประกอบต่างๆ ไว้อย่างเหมาะเจาะ โดยมีความน่าติดตามชวนระทึก

แต่น่าเสียดายที่ในช่วงท้าย หนังออกจะรีบร้อนไปสู่ตอนจบแบบรวบรัด จึงกระหน่ำใส่ความรุนแรงแบบไม่ต้องให้คิดมาก กลายเป็นหนังเขย่าขวัญแบบชวนสยดสยองเลือดสาด แกมด้วยตลกร้ายแบบดาดดื่น

ช่วงนี้แหละค่ะที่รู้สึกว่าหนังน่าจะทำได้ดีกว่านี้

ด้วยความยาวที่เป็นอยู่ที่หนึ่งชั่วโมงสี่สิบสี่นาที และการบิลต์เรื่องอย่างดีถึงครึ่งค่อนเรื่อง ถ้าวางจังหวะ องค์ประกอบและการพัฒนาเรื่องโดยยืดต่อไปอีกสักหน่อย ก็น่าจะมีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น