ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 10-16 กรกฎาคม 2563

ขอแสดงความนับถือ

 

คอลัมน์ “เดินตามดาว”

เปลี่ยนจาก “หลวงเมือง” ซึ่ง ณ วันนี้ เดินทางไปสู่ “ดวงดาว” ที่ส่องแสงสกาวอยู่บนฟากฟ้าแล้ว

มาเป็น “ศรินทิรา” ร่วมหนึ่งเดือนแล้ว

ยังไม่ได้แนะนำให้รู้จัก

ขอถือโอกาสนี้ เปิดตัว “ศรินทิรา”

 

“ศรินทิรา” แม้จะเป็นนามปากกาใหม่

แต่ในแวดวงโหราศาสตร์แล้ว มิใช่คนหน้าใหม่

เป็นปรมาจารย์โหราศาสตร์ชั้นนำของประเทศ

หากเปิดชื่อไป ทุกคนต้องร้องอ๋อ

แต่เพื่อความสดใส และใหม่

จึงได้นำนามของลูกสาว–ศรินทิรา

มาเดินตามดาว เป็นแนวทางดำเนินชีวิตให้ผู้อ่าน

 

โหราศาสตร์ ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นศาสตร์

ศาสตร์ที่สะสมสถิติการเคลื่อนไหวของดวงดาว อันมีส่วนกำหนดดวงชะตาของผู้คนซึ่งได้พิสูจน์ว่ามีความแม่นยำ

ในระดับสามารถถือเป็นลายแทง “ประกอบ” เพื่อการดำเนินชีวิตได้

จึงไม่แปลกที่การดูหมอหรือคอลัมน์โหรจะได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง

แม้โลกจะเปลี่ยนไปสู่ยุคดิจิตอลแล้วก็ตาม

 

ศาสตร์แห่งโหร ย่อมแตกต่างจากการ “นั่งทางใน” อย่างแน่นอน

แม้จะเป็นการพยากรณ์เช่นกัน

แต่อันแรกอย่างที่บอกเป็นศาสตร์ทางสถิติ

ส่วนอันหลังนั้นเกี่ยวโยงไปถึงเรื่องแห่งดวงวิญญาณ เทพเจ้า เจ้าพ่อ เจ้าแม่

อันโยงกับความเชื่อ ความศรัทธา ของแต่ละบุคคลเป็นหลัก

จำต้องใช้วิจารณญาณในการฟัง ชม หรือรับรู้

อย่างที่รายการโทรทัศน์มักจะ “ออกตัว” ไว้เมื่อนำเสนอรายการเกี่ยวกับความเชื่อนี้

 

รายการ “ส่องผี” กำลังโด่งดัง

อาจารย์เรนนี่กำลังถูกจับตามอง

ทำให้ “คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง” แห่งคอลัมน์ “ผี พราหมณ์ พุทธ” นำเสนอบทความชื่อยาวเหยียด

“ประวัติศาสตร์ฉบับนั่งทางใน

บนเส้นแบ่งของความรู้-ความจริง-ความเชื่อ

กับข้ออ้างแห่งศรัทธาในสังคมอุดมผู้วิเศษ”

มุ่งโฟกัสไปยังกรณีอาจารย์เรนนี่เป็นพิเศษ

ด้วยเพราะออกมาพูดถึงประวัติศาสตร์ฉบับ “ทางใน” มาก

คอลัมน์ “ผี พราหมณ์ พุทธ” จึงขอร่วมวงถกด้วย

ถกด้วยความห่วงใยว่าอำนาจวิเศษควรมากำหนดหรือสร้างประวัติศาสตร์หรือไม่

 

“–จุดยืนของผมเหมือนเดิมครับ ใครอยากจะเชื่ออะไรก็เชื่อไป เป็นสิทธิของท่าน หากความเชื่อนั้นมันไม่ไปละเมิดสิทธิของคนอื่น

แต่ท่านเชื่ออะไร คนอื่นก็มีสิทธิที่จะไม่เชื่ออย่างท่าน แล้วก็ไปบังคับเขาไม่ได้ รวมทั้งหากเขาจะโต้แย้งวิพากษ์วิจารณ์ก็เป็นสิทธิของเขาด้วย”

“ผมเรียนปรัชญา จึงไม่ได้ปฏิเสธว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งที่นอกเหนือประสาทสัมผัส หรือมีความรู้ชนิดพิเศษที่เราอาจเข้าถึงได้”

“แต่ถ้าประสบการณ์เหล่านั้นไม่อาจชี้แจงแสดงให้ยอมรับได้ด้วยเหตุผล มันก็ควรอยู่ในฐานะประสบการณ์ส่วนบุคคล”

“ไม่ใช่ทั้งข้อเท็จจริงหรือความจริงที่คนอื่นต้องยอมรับ”

ยิ่งมีการอ้างว่า ผู้ที่ปลุกกระแสข้างต้น “มีเจตนาดี อยากให้สังคมไทยสร้างบุญกุศล ช่วยให้คนเกรงกลัวบาป ทำบุญ อะไรทำนองนี้”

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ยิ่งย้ำว่าไม่เห็นด้วย

เพราะ “การอ้างศรัทธาหรือความดีนี้ เป็นกับดักที่ทำลายสังคมไทยมายาวนาน”

จึงขออนุญาต “เข้าทางใน” กับอาจารย์เรนนี่

เพื่อถกแถลง “ทางปัญญา” ต่อกรณีนี้

ด้วยความหวังว่า

“ผมอยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมแห่งความรู้…ความเชื่อกับความรู้จะได้มีโอกาสสนทนากันต่อไป

โดยให้ความจริงได้ส่องสว่างไปด้วย”

โปรดพลิกอ่านที่หน้า 79