ธงทอง จันทรางศุ | ข้อสอบ “นิสิต”

ธงทอง จันทรางศุ

ด้วยอารามที่มัววุ่นวายกับเรื่องโน้นเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นปี

เผลอตัวเพียงครู่เดียว ปฏิทินบนโต๊ะทำงานก็พลิกผ่านไปหกเดือนแล้ว

วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษามาถึงแบบรวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม

เมื่อไม่กี่วันมานี้ มีลูกศิษย์ถือพานดอกไม้ธูปเทียนเข้ามาในบ้าน บอกว่าจะมาลาบวช

ผมถามว่าจะบวชตลอดพรรษาใช่หรือไม่

เจ้าตัวอธิบายยืดยาวว่ายังไม่แน่ใจ ว่าจะมีบุญอยู่ได้ตลอดพรรษาหรือไม่ เพราะอาจมีงานการที่เรียกไปทำกลางพรรษา ช่วงเวลาที่งานหายากอย่างนี้ไม่ควรจะเล่นตัวมากเกินไป จึงตั้งใจจะบวชก่อนเข้าพรรษา แต่ไม่อธิษฐานพรรษา ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็จะอยู่ไปจนออกพรรษา

เรียกว่าสุดแต่บุญวาสนาจะบันดาลให้เป็นไป

ผมนึกในใจแล้วบอกกับลูกศิษย์ว่า เมื่อบวชแล้วก็ทำให้ดีที่สุดก็แล้วกัน เพียงแค่การได้บวชก็เป็นบุญกุศลยิ่งใหญ่แล้ว ตอนนี้ไม่ต้องคิดอะไรมาก ใช้เวลาในผ้าเหลืองให้เป็นประโยชน์กับตัวเองมากที่สุด

เพียงนี้ก็คุ้มค่าแล้ว

มานั่งนึกแล้วก็เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเราได้ชัดนะครับ

ในสมัยโบราณนานโพ้น ลูกผู้ชายบ้านเราแทบทุกคนก็ว่าได้ต้องบวชต้องเรียนตามประเพณี

เรียกว่าเป็นวิถีชีวิตที่ทุกคนเข้าใจตรงกันทั้งบ้านเมือง และการบวชที่ว่านี้ก็ต้องบวชให้ได้พรรษาด้วย

การเล่าเรียนที่เป็นแก่นสารมากที่สุดในยุคนั้นไม่ได้อยู่ที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยซึ่งยังไม่เกิดขึ้น หากแต่อยู่ในวัดวาอารามต่างๆ นั่นเอง

การเข้าไปเป็นพระภิกษุอยู่ในวัดอย่างน้อยหนึ่งพรรษา จึงเป็นโอกาสที่กุลบุตรจะได้รับการศึกษาอบรมในหลักสูตรมาตรฐาน

เมื่อสึกหาลาเพศมาแล้วจึงเรียกว่า ทิด ซึ่งมีคำอธิบายว่าเป็นคำย่อมาจากคำว่า บัณฑิต อันมีความหมายถึงคนที่ได้รับการศึกษาโดยบริบูรณ์แล้วนั่นเอง

เมื่อในหลวงรัชกาลที่ห้าพระองค์ท่านทรงเริ่มคิดจะตั้งโรงเรียนขึ้น พระองค์ท่านทราบความเดิมในเรื่องนี้ และน่าจะเป็นด้วยเหตุนี้เองทำให้พระองค์ท่านฝากโรงเรียนไว้กับวัด ได้ประโยชน์ทั้งในเรื่องอาคารสถานที่ และครูบาอาจารย์ โดยได้อาศัยพระสงฆ์องค์เจ้าที่เป็นครูมาแต่ก่อนนั้นเองสอนหนังสือต่อไป ในวิชาที่ท่านสอนได้สอนดีมาแต่เดิม

ถ้าจะเพิ่มวิชายุคใหม่ เช่น ภาษาอังกฤษ หรือวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์เข้าไป ค่อยคิดอ่านหาครูที่เป็นฆราวาสเข้าไปเสริม ทำแบบนี้ก็ประหยัดเงินไปได้มาก

กรมศึกษาธิการครั้งนั้นจึงเป็นกรมที่อยู่ในสังกัดของกระทรวงธรรมการ

ชื่อกระทรวงธรรมการก็บอกอยู่แล้วว่าดูแลเรื่องพระเรื่องวัดเป็นหลัก แล้วนำงานด้านการศึกษาไปฝากเพาะเลี้ยงเอาไว้

นานปีเข้า เรื่องการศึกษากลายเป็นเรื่องใหญ่โตมากขึ้นทุกที

ส่วนงานด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นกลายเป็นเรื่องรอง

เมื่อตอนผมเริ่มทำงานเป็นอาจารย์เมื่อ 40 ปีก่อน กระทรวงธรรมการสูญหายลี้ลับไปนานแล้ว มีแต่กระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานที่ดูแลการศาสนาทั้งหลายก็รวมอยู่ในกรมการศาสนาที่อยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ

เรื่องมันโอละพ่อขนาดนี้

ไม่ว่าจะเป็นด้วยสาเหตุใดก็ตาม คงไม่ผิดเพี้ยนไปจากความจริงถ้าผมจะกล่าวว่า คนไทยทุกวันนี้ห่างไกลจากวัดวาอารามมากพอสมควร

ยังมิพักต้องพูดถึงหลักธรรมคำสอนที่จะพากันไปพระนิพพานหรอกนะครับ

นึกแต่เพียงแค่กิริยามารยาท การพูดจา การแต่งกายให้เหมาะควรกับการเข้าวัดดูจะกะพร่องกะแพร่งอยู่มากเอาการแล้ว

เมื่อในราว 30 ปีมาแล้ว ยุคนั้นผมเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนวิชากฎหมายในคณะนิติศาสตร์ แต่คณะนิเทศศาสตร์ซึ่งเป็นคณะเพื่อนบ้านกันเชิญผมไปสอนวิชาวัฒนธรรมไทยให้กับนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ด้วย ตั้งแต่ต้นเทอมจนปลายเทอม ผมก็ว่าของผมไปเรื่อย

แน่นอนว่าเรื่องหนึ่งต้องรวมถึงบทบาทความสำคัญของพระพุทธศาสนากับสังคมไทยด้วย เพราะเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงผูกพันกันโดยตรง

ถึงตอนปลายภาคเรียน ผมนึกว่าถ้าผมออกข้อสอบแบบปกติ ให้นิสิตท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองมาเขียนตอบในกระดาษ ผมก็ไม่แน่ใจนักว่าเราจะวัดผลสัมฤทธิ์ของการศึกษาอะไรได้แท้จริง

คนเก่งทฤษฎี แต่พอถึงเวลาปฏิบัติจริง ทำไม่ได้ก็มีถมไป

ผมเลยกำหนดวิธีสอบของผมเอง ว่าให้นิสิตในชั้นเรียนแบ่งเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 10 คน ข้อสอบคือให้แต่ละกลุ่มจัดงานเลี้ยงพระ เป็นการทำบุญที่บ้านของใครก็ได้ที่เป็นสมาชิกในกลุ่ม ห้ามไม่ให้ไปจัดงานที่วัด เพราะถ้าเป็นแบบนั้นจะสะดวกเกินไป พระท่านจะจัดให้ทุกอย่าง นิสิตเลยไม่ได้ปฏิบัติอะไรจริง

แต่ตามวิธีการของผมนี้ เรื่องจะวุ่นวายยุ่งเหยิงไปหมด

เป็นที่สาแก่ใจของผู้สอนยิ่งนัก

เริ่มตั้งแต่นิสิตต้องไปนิมนต์พระให้มาเจริญพระพุทธมนต์ที่บ้าน

นิสิตต้องช่วยกันเตรียมสถานที่ข้าวของเครื่องใช้ โต๊ะหมู่บูชาจะจัดอย่างไร อาสน์สงฆ์ หม้อน้ำมนต์ ภัตตาหาร การโยงสายสิญจน์ และอีกร้อยแปดพันเก้าประการ

พอถึงเวลาวันงานผมก็ไปล่วงหน้าประมาณครึ่งชั่วโมง สอดส่ายสายตาดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วบอกนิสิตว่าผมจะไม่ทำอะไรเลย จะนั่งนิ่งเป็นพรหมลูกฟัก ต่อเมื่อพระกลับหมดแล้วเราค่อยว่ากัน

นั่นหมายความว่านิสิตต้องดูแลทุกรายละเอียด ข้าวของสิ่งใดไม่มีก็ต้องหยิบยืมมาใช้สอยให้ถูกต้อง

พอถึงวันงานหรือวันสอบ นิสิตก็ลงมือปฏิบัติตั้งแต่จัดการเดินทางของพระจากวัดมาที่บ้าน ทั้งขาไปขากลับ

การต้อนรับเมื่อพระมาถึงบ้านแล้ว จะต้องประเคนน้ำเย็นน้ำร้อนอย่างไร กิริยาประเคนถูกต้องหรือไม่

“ครูไหวใจร้าย” คนนี้ก็คอยจ้องดูอยู่ทุกขณะจิต พอได้เวลาจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย การกราบเบญจางคประดิษฐ์ถูกแบบแผนหรือไม่ อาราธนาศีล อาราธนาพระปริตร ตลอดไปจนถึงการประเคนภัตตาหาร การปรนนิบัติพระสงฆ์ระหว่างท่านฉันภัตตาหาร หรือการถวายเครื่องไทยธรรม การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล และการส่งพระกลับวัด

ยังไม่เคยปรากฏผลว่ามีนิสิตล้มตายจากการสอบชนิดนี้

มีแค่ปางตายครับ ฮา!

เมื่อพระกลับวัดแล้วจึงเป็นหน้าที่ของผมสาธยายมนต์อธิบายให้นิสิตเข้าใจอีกรอบหนึ่งว่าสิ่งที่ได้ปฏิบัติมาตั้งแต่ต้นจนจบ ถูกต้องหรือผิดพลาดอย่างไรบ้าง สำหรับจำไว้ใช้เป็นบทเรียนในชีวิตต่อไปในวันข้างหน้า ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่บนแผ่นดินไทย ความรู้อย่างนี้เป็นของที่ควรมีติดตัว อย่าให้ขายหน้าใครเขาได้

การที่ลูกหลานของบ้านไหนก็ตามได้เข้าไปบวชเป็นพระภิกษุ แม้จะมีกำหนดช้านานเพียงใดก็ตาม จึงเป็นโอกาสสำคัญที่สมาชิกในครอบครัวจะได้เข้าใกล้พระพุทธศาสนา

อย่างที่โบราณท่านบอกว่า เมื่อมีลูกหลานไปบวชเป็นพระภิกษุแล้ว ก็เท่ากับว่าญาติโยมทั้งหลายได้เป็นญาติกับพระพุทธศาสนา ได้เห็นความเป็นไปที่พอเหมาะพอควรว่าตนควรปฏิบัติอย่างไร

ถ้าใส่ใจสังเกตหรือศึกษาให้ลึกซึ้งไปอีกนิดเดียว ผู้ที่ไม่ได้บวชพระแต่เป็นญาติโยมของพระก็จะได้ความรู้และบุญกุศลติดตัวไปเป็นอันมาก

ความรู้ในเรื่องอย่างนี้เรียวลงจนน่าใจหาย ผู้หลักผู้ใหญ่ในราชการก็พลอยเป็นไปกับเขาด้วยจำนวนมาก ทำอะไรก็เก้ๆ กังๆ ไปหมด

วันหลังผมจัดสอนพิเศษแบบที่เคยสอนมาเมื่อ 30 ปีก่อน รุ่นแรกขอเชิญรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงและอธิบดีทั้งปวงมาเรียนกันให้ครึกครื้นดีกว่า

คนไหนสอบตก ต้องพ้นจากตำแหน่งนะเออ!

ดีไหมครับ