จิตต์สุภา ฉิน : รถขับอัตโนมัติที่ปลอดภัย ต้องมาพร้อมกับอะไร

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

รถอัตโนมัติแบบไร้คนขับที่สามารถขับพาเราไปไหนต่อไหนได้โดยที่เราทำหน้าที่เป็นเพียงแค่ผู้โดยสารเท่านั้น เป็นความฝันอันสูงสุดของการพัฒนารถที่ขับเคลื่อนตัวเองได้

เมื่อไปถึงจุดที่รถทุกคันบนท้องถนนเป็นรถไร้คนขับ การจราจรก็จะปลอดภัยมากขึ้น และเรามีเวลามากขึ้นเพราะไม่ต้องคอยนั่งกุมพวงมาลัยอยู่ตลอด

รถไร้คนขับประเภทนี้ถือเป็นรถไร้คนขับระดับที่ 5

ซึ่งเรายังไปไม่ถึงขั้นนั้นกันในตอนนี้ค่ะ

 

ผู้เชี่ยวชาญแบ่งระดับของการขับอัตโนมัติออกเป็น 5 ระดับ

เริ่มจาก ระดับที่ 1 การเป็นผู้ช่วยคนขับ รถยนต์หลายต่อหลายคันที่ขายในท้องตลาดมีระบบนี้ติดตั้งมาอยู่แล้ว ซึ่งก็คือระบบสำหรับช่วยผู้ขับให้ขับได้ง่ายและปลอดภัยขึ้น อย่างการเว้นระยะระหว่างรถเรากับรถคันข้างหน้าให้อัตโนมัติ หรือระบบเบรกอัตโนมัติเพื่อป้องกันการชน เป็นต้น

ระดับที่ 2 การขับอัตโนมัติบางส่วน นี่ก็เป็นระดับที่ขับกันบนท้องถนนอยู่แล้วเหมือนกัน รถจะมาพร้อมกับฟังก์ชั่นอย่างการควบคุมรถให้อยู่ในช่องเดินรถ เบรก เหยียบคันเร่ง หรือการเข้าควบคุมพวงมาลัย ไปจนถึงระบบช่วยจอดแทนให้ ระดับนี้ผู้ขับยังต้องเป็นคนควบคุมรถอยู่ แต่ระบบแค่จะเข้ามาช่วยควบคุมบ้างเท่านั้น ซึ่งถ้าหากจะเห็นภาพให้ชัดขึ้น ระบบขับอัตโนมัติของ Tesla ที่เรารู้จักกันดี ก็นับว่ายังอยู่ในระดับนี้

ระดับที่ 3 การขับอัตโนมัติขั้นสูง ระดับนี้ผู้ขับจะสามารถปล่อยให้รถขับตัวมันเองได้ ผู้ขับละสายตาจากท้องถนนไปสนใจสิ่งอื่นๆ รอบตัวได้ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม รถขับไปเองได้ยาวๆ บนถนนบางรูปแบบอย่างเช่นบนมอเตอร์เวย์ แต่ผู้ขับจะต้องพร้อมขับแทนภายในเวลาไม่กี่วินาทีถ้าหากเงื่อนไขเปลี่ยนแปลงไป อย่างการขับมาเจอไซต์ก่อสร้าง เป็นต้น

ระดับที่ 4 การขับอัตโนมัติเต็มรูปแบบ ระดับนี้ถือว่ารถขับตัวเองได้แล้วแต่ก็ยังจำเป็นต้องมีคนขับนั่งอยู่ด้วย ภายในรถยังมีค็อกพิตเหมือนรถตามปกติ รถสามารถรับมือกับการขับได้แทบทุกสถานการณ์โดยไม่ต้องพึ่งการควบคุมจากมนุษย์เลย ระดับนี้คนขับที่นั่งไปด้วยสามารถผ่อนคลายได้ถึงขั้นงีบหลับได้ ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินบางอย่างและผู้ขับไม่ตอบสนอง รถจะสามารถนำเข้าโหมดเพื่อความปลอดภัย อย่างเช่นจอดเองได้

และระดับที่ 5 ระบบอัตโนมัติเต็มตัว เป็นระดับที่ไม่จำเป็นต้องมีคนขับนั่งไปด้วยอีกต่อไป คนที่นั่งอยู่ในรถทุกคนจะถือเป็นผู้โดยสารเพราะภายในรถอาจจะไม่มีค็อกพิต ไม่มีพวงมาลัย ไม่มีเกียร์ หรือเบรก ในแบบที่เราคุ้นเคยแล้วก็ได้ ระดับนี้นี่แหละค่ะอนาคตแห่งการจราจรที่มนุษย์คาดฝันจะไปถึง

แต่การที่จะไปถึงระดับที่ 5 นี้แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยทั้งหมด ผิดพลาดไม่ได้แม้แต่นิดเดียว และท้ายที่สุดแล้วก็อาจจะต้องจำกัดการใช้งานแค่ในบางพื้นที่ หรือจำกัดความเร็วในบริเวณที่มีคนอยู่หนาแน่นด้วย

 

การพัฒนารถไร้คนขับโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นชนิดที่แต่ละค่ายต่างก็พัฒนาของตัวเองไป แต่จะให้ดีที่สุดก็จะต้องมีกฎระเบียบให้ยึดถือ ซึ่งล่าสุดก็มีการประกาศว่ากว่า 53 ประเทศจะใช้กฎในรูปแบบเดียวกัน

ซึ่งก็คือกฎเกี่ยวกับ Automated Lane Keeping Systems หรือระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องเดินรถ ที่มีประเทศหลักๆ ที่เข้าร่วมคือกลุ่มประเทศในยุโรป โดยมีประเทศในทวีปอื่นอย่างแอฟริกา และเอเชีย เข้าร่วมด้วยประปราย

กฎที่ได้รับการขานรับโดย UNECE ครั้งนี้จะเริ่มบังคับใช้ในเดือนมกราคมปีหน้า ซึ่งมุ่งเน้นในการใช้กับยานพาหนะที่อยู่ในระดับที่ 3 คือระดับที่ปล่อยให้ระบบอัตโนมัติขับ

แต่ผู้ขับที่เป็นมนุษย์ต้องพร้อมเข้าขับแทนอยู่ตลอดเวลา

รายละเอียดที่ระบุไว้ในกฎเหล่านี้ก็น่าสนใจและจะเพิ่มความปลอดภัยให้กับรถขับอัตโนมัติได้มากขึ้น อย่างเช่น การกำหนดว่าระบบอัตโนมัติจะทำงานได้ก็ต่อเมื่อมีผู้ขับนั่งอยู่หลังพวงมาลัยและต้องรัดเข็มขัดเรียบร้อยเท่านั้น

ระบบจะใช้งานได้บนถนนที่รถวิ่งสวนเลนกันก็ต่อเมื่อมีวัตถุที่แบ่งแยกสองเลนนั้นอย่างชัดเจน

รถจะต้องถูกกำหนดความเร็วไว้ที่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

รถทุกคันต้องมาพร้อมระบบเก็บข้อมูลสำหรับการขับอัตโนมัติ ซึ่งหากจะพูดให้เห็นภาพได้ชัดขึ้นก็คือกล่องดำ หรือ Black Box แบบที่เครื่องบินมี และกล่องดำนี้จะเริ่มบันทึกข้อมูลก็ต่อเมื่อมีการเปิดใช้ระบบขับอัตโนมัติเท่านั้น

เมื่อรถขับอัตโนมัติอยู่ จอต่างๆ ก็จะสามารถเปิดได้ตามต้องการ แต่ทันทีที่คนเข้าควบคุมแทน จอทั้งหมดที่ไม่ใช่จอที่เกี่ยวข้องกับการขับรถจะต้องถูกปิดทันที เพื่อให้คนขับสามารถมีสมาธิกับการขับได้เต็มที่

ผู้ผลิตรถจะต้องติดตั้งระบบที่ตรวจสอบความพร้อมของคนขับในกรณีที่จะต้องเข้ามาขับแทนได้ อย่างเช่น การตรวจจับรูปแบบการกะพริบตา หรือตรวจว่าคนขับหลับตาอยู่หรือไม่

และเมื่อเป็นรถที่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ ก็จะต้องมีการอัพเดตซอฟต์แวร์ของรถอยู่อย่างสม่ำเสมอ และทำตามข้อกำหนดทางด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ด้วย

 

ทั้งหมดนี้เป็นเนื้อหาที่จะอยู่ในกฎระเบียบการผลิตรถที่มาพร้อมฟังก์ชั่นขับอัตโนมัติที่หลายประเทศพร้อมใจกันเข้าร่วม ส่วนประเทศไหนไม่เข้าร่วม อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ถ้าอยากจะขายรถที่เข้าข่ายให้กับประเทศที่เข้าร่วมก็จะต้องทำตามโดยไม่มีข้อแม้

ถ้ามีกฎระเบียบที่รัดกุมและครอบคลุมพอก็น่าจะช่วยให้เราสบายใจได้มากขึ้น เมื่อไหร่ก็ตามที่รถไร้คนขับแบบเต็มรูปแบบสามารถให้บริการได้จริงๆ

หมายถึงว่า ถ้าเราอยู่ทันได้เห็นด้วยนะคะ