ส.อ.ท.จับตาเศรษฐกิจไทยครึ่งปี หวั่นสึนามิเศรษฐกิจ เอสเอ็มอีเจ๊ง

ส.อ.ท.จับตาเศรษฐกิจไทยครึ่งปี หวั่นสึนามิเศรษฐกิจ เอสเอ็มอีเจ๊ง แนะรัฐเร่งอัดมาตรการกระตุ้นแรงซื้อ งบฟื้นฟูฯต้องคัดโครงการกระตุ้นศก.ได้จริง

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฟื้นฟูหลังโควิด-19 ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้หารือเพื่อปรับยุทธศาสตร์ให้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมในการปรับตัวรองรับผลกระทบหลังโควิด-19 ที่จะเปลี่ยนแปลงหลายด้าน พบว่า ความกังวลหลักยังคงกังวลเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ที่ไทยและโลกยังเผชิญกำลังซื้อที่ลดต่ำลง อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ไม่สามารถประคองตัวเองให้อยู่รอดได้ อาจนำไปสู่สึนามิเศรษฐกิจในที่สุด

“แม้ไทยและหลายประเทศเริ่มคลายล็อกดาวน์ ทำให้กิจการส่วนใหญ่กลับมาเปิดดำเนินธุรกิจได้ แต่เศรษฐกิจที่ถดถอยทั้งไทยและโลก ยังคงส่งผลต่อกำลังซื้อที่ลดต่ำ และโควิด-19 ยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อใด ไทยเองพึ่งพิงการส่งออก และท่องเที่ยวจากต่างประเทศ อาจทำให้ธุรกิจบางราย โดยเฉพาะเอสเอ็มอี อาจต้องปิดกิจการ จะกระทบต่อเนื่องเป็นสึนามิเศรษฐกิจแต่จะรุนแรงระดับไหนต้องดูผลจากมาตรการรัฐในการดูแลและกระตุ้นเศรษฐกิจนับจากนี้”นายเกรียงไกรระบุ

คอฟฟี่เบรก วันที่ 29 เมษายน 2563 : เว้นระยะห่างเป็นเหตุ
เกรียงไกร เธียรนุกูล

ธุรกิจที่มีทุนสำรองมากพอ และธุรกิจที่เป็นไฮเทคโนโลยี ดิจิทัล สุขภาพ การแพทย์ อาหาร จะมีโอกาสรอดสูง ที่เหลือจะต้องปรับตัวให้เร็วเพื่อรับมือกับโลกที่เปลี่ยน นโยบายของแต่ละประเทศที่เน้นพึ่งพาตนเองมากขึ้น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ดังนั้นมาตรการภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ พยุงธุรกิจ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ต้องเร่งหามาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเร่งด่วน ทั้งการขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้ยาวเป็น 2 ปี การเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ การตลาด เทคโนโลยี

เดิมงบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาทที่อยู่ในงบพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เป็นอีกหนึ่งความหวังของเอกชนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ตอนนี้คงจะต้องติดตามใกล้ชิดเพราะมีโครงการมายื่นขอสนับสนุนงบสูงถึง 1.36 ล้านล้านบาท หลายฝ่ายจับตาการคัดเลือกโครงการ ซึ่งเอกชนหวังว่าจะเป็นโครงการที่กระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ผลจริงลงสู่ท้องถิ่น และดำเนินการโปร่งใส ถ้างบดังกล่าวกระตุ้นเศรษฐกิจได้ผลต่ำ ย่อมไม่ได้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว