ฐากูร บุนปาน : งัดนิทานขึ้นมาเล่าสู่กันฟัง

ในบรรยากาศ “ล้อมคอกหลังหมุดหาย” อย่างนี้

เพื่อความสบายใจทั้งฝ่ายผู้เขียน และผู้อ่าน (บางท่าน)

ไม่มีอะไรดีกว่างัดนิทานขึ้นมาเล่าสู่กันฟัง

 

เรื่องแรก

นิทานอีสปเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียว

ชายผู้หนึ่งอาศัยอยู่ในป่า ทุกๆ วันเขาจะเข้าป่าไปหาน้ำผึ้งมาขายหรือแลกเปลี่ยนกับของอื่นๆ ภายในหมู่บ้าน

วันนี้โชคดีสามารถหาน้ำผึ้งจากในป่าได้มาก จึงคิดจะนำน้ำผึ้งเข้าไปขายในเมืองใหญ่

เมื่อชายชาวป่าคนนี้เข้าไปถึงในตัวเมือง แลเห็นพระราชวังมีความสวยงามมาก

สิ่งก่อสร้างทั้งหลายล้วนสีทองอร่ามตา ประดับประดาด้วยกระจกแก้วสีต่างๆ จึงเดินเข้าไปดูใกล้ๆ

ทันใดนั้นเอง ทหารก็ออกมาตีฆ้องตีกลองร้องป่าวประกาศ

ชายชาวป่าได้ยินเสียงดังก็ตกใจรีบวิ่งหนีกลับบ้าน

ระหว่างที่วิ่งหนี เขาทำน้ำผึ้งหยดลงบนพื้นทางเดินหนึ่งหยด

แมลงวันตัวหนึ่งได้กลิ่นหอมหวานของน้ำผึ้งก็บินมาตอม

แมงมุมเห็นแมลงวันก็ย่องเข้าไปจะจับกิน

จิ้งจกมาเห็นแมงมุมก็ย่องเข้าไปจะจับแมงมุม

แมวเห็นจิ้งจกก็ค่อยๆ ย่องเข้าไปหมายจะจับจิ้งจกกิน

พอดีขณะนั้นสุนัขของพระราชาผ่านมาเห็นแมว ก็กระโจนเข้ากัดแมว

เจ้าของแมวเห็นแมวของตนโดนสุนัขกัดก็โกรธ คว้าไม้มาตีสุนัขของพระราชาจนตาย เพราะไม่รู้ว่าเป็นสุนัขของใคร

มหาดเล็กผู้ดูแลสุนัขของพระราชาก็โกรธ ตรงเข้าตีเจ้าของแมว

พ่อค้าและชาวบ้านเห็นเจ้าของแมวโดนมหาดเล็กตีก็เข้าไปห้าม

แต่พวกมหาดเล็กเข้าใจผิดคิดว่าพวกชาวบ้านจะรุมทำร้ายตนจึงเกิดการต่อสู้กันขึ้น

แล้วการต่อสู้ก็ขยายวงกว้างออกไป ทั้งพ่อค้า มหาดเล็ก และชาวบ้านเข้าต่อสู้กันเป็นจำนวนมาก

เสียงการต่อสู้ดังสนั่นจนพระราชาออกมาดู

เมื่อชาวบ้านเห็นพระราชาออกมาก็จะเข้าไปร้องทุกข์

แต่พระราชาเข้าใจผิดคิดว่าชาวบ้านถืออาวุธจะมาทำร้ายตนด้วย

จึงสั่งให้ทหารออกสู้ทำให้บาดเจ็บล้มตายเป็นอันมาก

ก่อนที่ทุกฝ่ายจะรู้ความจริง


เรื่องต่อมา

ที่มาของสำนวน “ฟางเส้นสุดท้ายบนหลังลา”

สำนวน “ฟางเส้นสุดท้าย” นี้ มาจากสุภาษิตอาหรับ ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ

ว่า “the last straw that breaks the camel”s back” (ฟางเส้นสุดท้ายที่วางบนหลังอูฐ)

แต่ฝรั่งมาแปลงเป็น “the straw that broke the donkey”s back” (ฟางเส้นที่ทำให้หลังลาหัก)

ฟางเส้นสุดท้ายไม่ใช่สำนวนของไทย แต่ไทยเราก็รับมาใช้จนบางครั้งนึกว่าเป็นสำนวนไทย

ข้อความที่ว่า the last straw that breaks the camel”s back มีความหมายว่า

เมื่อเจ้าของอูฐนำของบรรทุกหลังอูฐมากขึ้นเรื่อยๆ

พอถึงจุดที่อูฐทนต่อไปไม่ไหว แม้จะใส่ฟาง (ซึ่งมีน้ำหนักเบามากๆ) อีกเส้นเดียว

ก็ทำให้อูฐหลังหักได้

 

เรื่องสุดท้าย

เป็นนิทานเซน ว่าด้วยปรัชญาชีวิต

ชายคนหนึ่งเดินอยู่ในป่าเผชิญหน้ากับเสือท่าทางหิวโซตัวหนึ่ง

เสือวิ่งตรงเข้าหาอย่างรวดเร็ว เขาวิ่งหนีสุดชีวิต

เสือใกล้เข้ามา ชายคนนั้นผงะเพราะทางที่วิ่งไป สุดทางเป็นหน้าผาสูงชัน

ทางรอดเหลือทางเดียวคือเถาวัลย์ที่อยู่ตรงหน้า

เขาไต่เถาวัลย์ลงไปด้านล่าง

มองกลับขึ้นไปก็เห็นเสือยังคงจ้องมองลงมาไม่ยอมจากไป

และสิ่งที่เพิ่งเห็นคือ ข้างล่างก็มีเสือท่าทางหิวโซจ้องมองขึ้นมา

เขาหยุดด้วยความสิ้นหวัง ลอยอยู่กลางอากาศกับเถาวัลย์เพียงเส้นเดียว

เถาวัลย์นี้ช่างมีค่าต่อชีวิตของเขาเหลือเกิน

ทันใด สายตาก็เหลือบไปเห็นหนูขาวและหนูดำกำลังแทะและกัดกินเถาวัลย์ที่เป็นความหวังเดียวของเขา

จะตะโกนไล่อย่างไรอย่างไร หนูก็ไม่สนใจ

ช่วงเวลาที่สิ้นหวังที่สุด กลับเห็นลูกสตรอว์เบอร์รี่สุกปลั่งสีแดงสด

เขาแกว่งเถาวัลย์ที่จะขาดแหล่มิขาดแหล่เพื่อเหวี่ยงตัวไปให้ถึงสตรอว์เบอร์รี่นั้น

เมื่อคว้าได้ ก็บรรจงกินสตรอว์เบอร์รี่อย่างมีความสุข

นิทานจบ

แต่มีอรรถกถาต่อท้ายว่าจบจริงหรือ?

กับความสุขของผู้คนนั้นที่อยู่บนพื้นฐานของความทุกข์

ย้อนกลับมาดูตัวเองว่าวันนี้ต้องกินสตรอว์เบอร์รี่กี่เข่ง

เพื่อจะกลบเกลื่อนเสือ (อดีต)-เสือ (อนาคต)

และหนูดำและขาว (กลางคืนกลางวัน) ที่กัดกินทุกอย่างไปไม่สิ้นสุด

จะไต่ขึ้นหรือไต่ลงหรืออยู่กับที่ (ปัจจุบัน)

และจะพ้นจากสภาพนี้อย่างไร

 

นิทานนะครับนิทาน

อ่านเอาเล่น อ่านเอาจริง

ก็แล้วแต่รสนิยมเถิด