คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : “โคโรนาเทวี” – เมื่อความกลัวกลายเป็นศรัทธา หากโรค Covid-19 เกิดในยุคพระเวท

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

กลุ่มกิจกรรมวัฒนธรรมภารตะของน้องๆ นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรชวนผมไปร่วมเสวนากับศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี ในหัวข้อ “หาก Covid-19 เกิดในยุคพระเวท” เมื่อได้ยินชื่อวิทยากรอีกท่านผมก็โล่งใจว่าตนเองมีที่พึ่งแล้ว จึงรับงานนี้ด้วยความสบายใจ

กระนั้นผมก็คิดว่าควรทำการบ้านไปก่อนบ้าง จะได้ไม่เป็นภาระวิทยากรอีกท่านมากนัก

จึงกลายมาเป็นบทความนี้

 

คัมภีร์พระเวทของชาวฮินดูนั้น อธิบายให้ง่ายคือคำสอนสูงสุดเหมือนพระไตรปิฎกของชาวพุทธหรือไบเบิลของคนคริสต์ แม้เล่มเก่าสุดคือฤคเวทจะมีมาช้านานไม่น้อยกว่าสามพันปี แต่ก็มีการประพันธ์พระเวทต่อมาเรื่อยๆ จนถึงพระเวทสุดท้ายคือ “อถรวเวท” หรือที่เขียนแบบไทยๆ ว่า อถรรพเวท

ในฤคเวทมีการพูดถึงโรคภัยไข้เจ็บอยู่บ้าง แต่เนื่องจากอถวรเวทเกี่ยวพันกับคนพื้นเมืองมากที่สุด มีการใช้เวทมนตร์กับสมุนไพรเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะอย่าง แถมนาม “อถรวัน” ผู้เป็นฤษีแห่งพระเวทนี้ยังเป็นคำพ้องกับคำว่า “เภษัช” ด้วย ผมจึงขอโฟกัสไปที่อถรวเวทเป็นพิเศษ

อถรวเวทกล่าวถึงสมุฏฐานหรือเหตุแห่งโรคไว้หกประการ

อย่างแรก โรคภัยมาจาก “เชื้อโรค” (สันสกฤตใช้ว่า กฤมิและกฺริมิ หรือแมลงและหนอนทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น)

อย่างที่สอง คืออำนาจของเวทมนตร์คาถาหรือการสาปแช่งต่างๆ

อย่างที่สาม คือภูตผีปีศาจ

สี่ คือโรคจากพันธุกรรมและการติดต่อ

ห้า คือโทษภัยจากความผิดปกติของระบบทั้งสามได้แก่ วาตะ, กผะ, ปิตะ (ลม, ไฟ, น้ำ) ในร่างกายคนเราเอง

สุดท้ายคือการบันดาลของเทพ โดยเชื่อว่าเทพเจ้าอาจบันดาลโรคให้เกิดขึ้นเพื่อเป็นการลงโทษผู้กระทำบาป เช่น พระวรุณอาจบันดาลให้คนโกหกเป็นโรคท้องมาน (สันสกฤตเรียกว่าชโลทระหรือท้องที่มีน้ำเต็ม)

 

ในอถรวเวทเรียกโรคภัยไข้เจ็บว่า “ยักษมะ” (ยกฺษม) มีบ้างที่ปรากฏคำว่า “โรคะ” ผมเปิดดิกชันนารีสันสกฤตของวามน อัปเต ท่านว่าคำนี้หมายถึงโรคปอด แต่ในอถรวเวทมีความหมายถึงโรคทั่วๆ ไป

แม้เหตุแห่งโรคจะมีหลายอย่าง แต่การรักษาหลักๆ ในอถรวเวทคือการใช้ยาสมุนไพร นอกจากใช้ดื่มกินอาบทาแล้ว ยังใช้สมุนไพรหรือสิ่งอื่นๆ ในลักษณะที่เป็น “เครื่องราง”

อถรวเวทเชื่อว่าเครื่องรางเหล่านี้มีพลังอำนาจในการเยียวยารักษาในตัวเอง ทั้งยังมีการใช้พลังของธรรมชาติ เช่น แสงอาทิตย์ น้ำ และไฟ โดยเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้สามารถขจัดโรคบางอย่างได้โดยไม่ต้องใช้ยา มีการรักษาด้วยการเป่าเสกมนต์คาถาและการทำพิธีกรรมเรียกว่า “เปาษฺติกวิธิ” และ “โฆรวิธิ” อีกด้วย

นอกเหนือจากพระเวทเองแล้ว ในยุคพระเวทยังมีคัมภีร์ทางการแพทย์โดยเฉพาะ ในหมวด “อายุรเวท” ซึ่งเป็นศาสตร์ที่แตกแขนงออกมาจากพระเวทอีกที

จึงเรียกว่า “อุปเวท”

 

อายุรเวทว่าด้วยการทำให้อายุยืนยาวหรือมีสุขภาพที่ดี มีคัมภีร์ที่สำคัญในหมวดอายุรเวทตกทอดมาถึงปัจจุบันคือ “สุศรุตะ สัมหิตา” กับ “จรกะ สัมหิตา” อายุของคัมภีร์ทั้งสองเล่มนี้ไม่น่าจะต่ำกว่าหนึ่งร้อยปีก่อนคริสตกาล จึงอาจนับว่าเป็นหลักฐานแนวคิดทางการแพทย์ที่มีมาตั้งแต่ยุคพระเวทได้

ในหมู่ผู้สนใจภูมิปัญญาโบราณ สุศรุตะดูจะมีชื่อเสียงมากเป็นพิเศษ เพราะมีส่วนที่กล่าวถึงการ “ผ่าตัด” (ศัลยะ) ซึ่งนับเป็นคัมภีร์ที่กล่าวถึงการผ่าตัดของมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุดเล่มหนึ่ง

คัมภีร์ทั้งสองกล่าวถึงเหตุแห่งโรคว่ามาจากสามทาง หนึ่งคือ “อาธยาตมิกะ” โรคอันเกิดจากความผิดปกติภายในร่างกายของเราเอง “อธิเภาติกะ” เกิดจากเหตุภายนอก และ “อธิไทวิกะ” เหตุจากสิ่งเหนือวิสัย เช่น โชคชะตาและสิ่งเร้นลับ

ในจรกะสัมหิตาตั้งคำถามเกี่ยวกับ “โรคระบาด” ว่า เหตุใดจึงเกิดโรคชนิดเดียวกันแก่คนจำนวนมากที่มีพื้นฐานของร่างกาย อายุ ความแข็งแรง ฯลฯ ต่างกัน แล้วสรุปว่า เมื่ออากาศ น้ำ กาละและเทศะ (เวลาและสถานที่) ถูกปนเปื้อนด้วยพิษ หรือเกิดความปรวนแปร เช่น อากาศผิดฤดูกาล แล้วเกิดโรคขึ้นมา ก็จะทำให้เกิดการระบาดของโรคนั้นได้

หาก “อธรรม” ของผู้ปกครองปรากฏขึ้น และมีกรรมชั่วของผู้คนมากมายท่วมท้นเมือง เหล่าทวยเทพก็จะพากันทอดทิ้งเมืองนั้น ก็จะเป็นอีกเหตุหนึ่งให้โรคระบาดปรากฏได้เช่นกัน

สุศรุตะยังกล่าวถึง “โรคติดต่อ” ว่าเกิดจากการสัมผัสหรือการใช้ชีวิตร่วมกันระหว่างผู้คน ซึ่งเป็นความรู้ทางการแพทย์ที่ไม่ต่างกับในปัจจุบันนัก

 

ผมคิดว่าแพทย์ในยุคพระเวทมีความเข้าใจอย่างดีว่าโรคภัยไข้เจ็บไม่ได้จำเป็นต้องมาจากเหตุเหนือธรรมชาติหรืออำนาจดลบันดาลของเทพเสมอไป ดังนั้น หากเกิดโคโรนาไวรัสระบาดขึ้นในสมัยพระเวทแล้ว แพทย์ในสมัยนั้นคงจัดการด้วยหลากหลายวิธี และการ social distancing คงเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่น่าจะมีขึ้นได้

แต่ชาวบ้านร้านตลาดที่ยังมีความกลัวภัยภายนอกและไม่เข้าใจสมุฏฐานของโรค ย่อมง่ายกว่าที่จะโยนโรคที่ตนไม่รู้สาเหตุให้เป็นเรื่องของเทพเจ้าและภูตผี เพราะแม้ในพระเวทจะมีการกล่าวถึงเทพที่อาจบันดาลโรคภัยให้มนุษย์ แต่เทพเจ้าโรคระบาดเกือบทั้งหมดที่เรารู้จักเป็นของชาวบ้าน (คืออยู่นอกพระเวท)

ผมไม่ได้ว่าชาวบ้านโง่นะครับ แต่ความรู้ทางการแพทย์ชั้นสูงระดับคัมภีร์สันสกฤตคงจำกัดอยู่ในวงแคบๆ เท่านั้น ชาวบ้านเจ็บป่วยก็ต้องแก้ไขกันไปตามประสา ทั้งยา ทั้งพิธีกรรม

เทพโรคระบาดมักเป็น “เจ้าแม่” หรือเรียกกันในภาษาชาวบ้านว่า “อัมมา” นอกจากเจ้าแม่มีความใกล้ชิดกับชาวบ้านแล้ว ชาวบ้านยังมองดูโรคระบาดในลักษณะที่เป็น “พลังหญิง” คือ มีทั้งด้านดุร้ายและด้านอ่อนโยน แถมโรคระบาดมักส่งผลต่อเด็กเล็กๆ มากกว่าผู้ใหญ่

การให้เป็นเจ้าแม่ก็ดูเข้ากันได้ดีกับการวิงวอนไม่ให้เด็กๆ ต้องมาตาย

 

เจ้าแม่ที่เกี่ยวข้องกับโรคภัย ในสมัยโบราณคือนางหริติ ซึ่งเป็นเทวีในพุทธศาสนา เชื่อกันว่าช่วยปกป้องเด็กๆ จากโรคไข้ทรพิษและโรคอื่นๆ มีบันทึกของพระเสวียนจ้างว่าอารามพุทธศาสนาในอินเดีย มีการสร้างรูปนางหริติไว้ให้คนสักการะ

ส่วนของฮินดู เจ้าแม่ผู้เกี่ยวข้องกับโรคระบาดที่มีชื่อเสียงนั้นคือเจ้าแม่มารี (มาริอัมมา) ซึ่งนิยมนับถือในอินเดียภาคใต้ และเจ้าแม่ศีตลา ซึ่งนิยมนับถือในภาคเหนือและพังคละ (เบงกอล) ตะวันตก

ผมเคยเขียนบทความก่อนหน้านี้ว่า ได้ยินพราหมณ์วัดแขกสีลมท่านเรียกเจ้าแม่วัดแขก (พระมารี) ในภาษาสันสกฤตว่าศีตลา จึงปลงใจว่าท่านเป็นองค์เดียวกัน

เจ้าแม่มารีเดิมเป็นเทวีแห่งฝน แต่คนโบราณเชื่อว่าฝนเป็นที่มาของโรคภัยไข้เจ็บได้ ส่วนศีตลาที่จริงแปลว่า “เย็น” ซึ่งตรงข้ามกับอาการร้อนเพราะพิษไข้ หรือความเย็นก็อาจทำให้เจ็บป่วยเหมือนกัน

ผมเพิ่งได้อ่านบทความเรื่อง Old rituals for new threats. The post-smallpox career of ??tal?, the cold mother of Bengal. ของ Fabrizio Ferrari ซึ่งให้ข้อมูลที่น่าสนใจใหม่ว่า เดิมศีตลาไม่ได้มีบทบาทเป็นเทวีแห่งโรคระบาด และแม้แต่ก่อนคริสต์ศตวรรษที่สิบก็ยังไม่ปรากฏพระนามศีตลาในคัมภีร์หรือบันทึกใด

จนเมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 มีการทำให้ศีตลารับบทเจ้าแม่แห่งโรคระบาดในหมู่ชาวบ้านเบงกอลตะวันตก เพราะขณะนั้นมีโรคระบาดที่คร่าชีวิตคนอินเดียจำนวนมาก ธรรมเนียมและความเชื่อของศีตลาเทวีจึงเป็นไปอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน

 

การนำเทพมาเชื่อมโยงกับโรคระบาดยังมีกรณีที่น่าสนใจอีก เช่น ในปี 1997 นาย H.N. Girish ประกาศตั้งเอดส์อัมมา (AIDS Amma) หรือเจ้าแม่เอดส์ หรือในช่วงศตวรรษที่ 19 มีความพยายามตั้งเจ้าแม่อหิวาตกโรค หรือ Olai Chandi แต่ไม่ค่อยเป็นผล คือไม่ค่อยมีคนนับถือจริงๆ

เมื่อโคโรนาไวรัสระบาดใหม่ๆ นั้น ศิลปินชื่อ Sandhya Kumari ได้เขียนรูปของ “โคโรนาไวรัสมรรทินี” หรือเจ้าแม่ผู้ฆ่าโคโรนาไวรัส เช่นเดียวกับมหิษาสูรมรรทินี (เจ้าแม่ผู้ฆ่าอสูรควาย) เป็นรูปเจ้าแม่ทรงอาภรณ์สีธงชาติอินเดีย ถืออุปกรณ์ทางการแพทย์ แทงตรีศูลไปยังโคโรนาไวรัสเบื้องล่าง แต่ยังไม่มีรายงานว่ามีการสักการบูชาเจ้าแม่องค์นี้

ส่วนในเกราละ มีพราหมณ์ชื่ออนิลัน ตั้งเจ้าแม่ “โคโรนาเทวี” ขึ้นมา โดยทำเป็นรูปไวรัสตามที่ปรากฏในสื่อ แล้วทำการสักการบูชาทุกค่ำเช้า

เขาให้สัมภาษณ์ว่า “เทพเจ้าที่เกี่ยวกับโรคระบาดอื่นๆ ก็มีแล้ว ตามเทวตำนานฮินดู พระเจ้าย่อมสถิตในทุกอย่าง ไม่เว้นแม้แต่ไวรัส ดังนั้น การบูชาไวรัสในฐานะเทพเจ้าก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร”

เขายังบอกอีกว่า การบูชาโคโรนาเทวีของเขาทุกวัน ได้อุทิศผลให้กับผู้ที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นในช่วงการระบาด ตลอดจนถึงบุคลากรทางการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และผู้ต่อสู้กับโรคระบาดนี้ทุกคน โดยเขาไม่ขอรับการบริจาคหรือเงินทอง

วิธีคิดอินเดียนี่น่าสนใจจริงๆ