หนุ่มเมืองจันท์ | ของขวัญ

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ทุกองค์กรต้องการ “คนเก่ง”

แต่การชวน “คนเก่ง” ให้มาทำงานด้วย ไม่ใช่เรื่องง่าย

คุณธนินท์ เจียรวนนท์ เคยบอกว่า “คนเก่ง” จริงๆ ไม่ได้ต้องการ “เงิน” เป็นอันดับแรก

ใครพูดเรื่อง “ค่าตอบแทน” ก่อน

ไม่ใช่ “คนเก่ง” ที่แท้จริง

“คนเก่ง” จะคุยเรื่อง “อำนาจ” ในการบริหารงานและตัดสินใจก่อน

เพราะต้องการโชว์ฝีมือ

จากนั้นจึงเป็นเรื่อง “ตำแหน่ง”

และ “ผลตอบแทน”

แต่การชวน “คนเก่ง” ให้มาทำงานด้วย ถือเป็น “ศิลปะ” อย่างหนึ่ง

ตอนที่ “สตีฟ จอบส์” และ “สตีฟ วอซเนียก” ตั้งบริษัทแอปเปิลขึ้นมาและกลายเป็นบริษัทมหาชน ขายหุ้นให้กับบุคคลทั่วไปภายในเวลาแค่ 4 ปี

เป็นเศรษฐีตอนอายุ 30 ปี

วันนั้น เขาต้องการขยายกิจการไปให้ไกลกว่านี้ “จอบส์” จึงตัดสินใจจ้างซีอีโอมืออาชีพ

และคนที่เขาเลือกไม่ใช่ระดับธรรมดา

แต่เป็น “จอห์น สกัลลีย์” ซีอีโอของบริษัทเป๊ปซี่-โคลา

สมัยนั้น “เป๊ปซี่-โคลา” เป็นบริษัทที่ใหญ่มาก

ใหญ่กว่า “แอปเปิล” หลายเท่า

การชวน “คนเก่ง” ให้มาทำงานในองค์กรที่เล็กกว่าต้องใช้พลังดึงดูดที่สูงมาก

นอกเหนือจากเรื่องทั่วไปที่คนทำงานต้องรู้แล้ว

“สตีฟ จอบส์” บอกกับ “จอห์น สกัลลีย์” สั้นๆ

“คุณจะใช้ชีวิตที่เหลือไปกับการขายน้ำหวานหรือจะมาเปลี่ยนแปลงโลกกับผม”

เขาใช้คำที่ทำให้ตำแหน่งซีอีโอของ “เป๊ปซี่-โคลา” ที่ยิ่งใหญ่

เหลือแค่การขาย “น้ำหวาน”

และใช้คำที่ทำให้การเป็นซีอีโอ “แอปเปิล” ที่เล็กกว่า “เป๊ปซี่” ยิ่งใหญ่ขึ้น

ด้วยการใช้คำว่า “เปลี่ยนแปลงโลก”

ในมุมหนึ่ง นี่คือ คำท้าทายกึ่งเชิญชวนที่พิสูจน์ว่า “สกัลลีย์” เป็น “คนเก่ง” ในความหมายของ “ธนินท์” หรือเปล่า

ทำยอดขายให้สูงขึ้น

ไม่ท้าทายเท่ากับ “การเปลี่ยนแปลงโลก”

อีกเรื่องหนึ่งที่คล้ายกัน แต่เกิดที่เมืองไทย

ยังจำเรื่องสถาบันกวดวิชา “ออนดีมานด์” ที่ผมเคยเขียนถึงไหมครับ

“ออนดีมานด์” เกิดขึ้นจาก “เต๋อ” และ “โหน่ง” ที่เป็นเพื่อนกันมายาวนาน

วันหนึ่ง “โหน่ง” อยากตั้งสถาบันกวดวิชา

พยายามชวน “เต๋อ” หลายครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ

เพราะ “เต๋อ” ไม่ชอบโรงเรียนกวดวิชา

“โหน่ง” บอกว่าเล่าปี่ไปเชิญขงเบ้ง 3 ครั้ง

“แต่ผมชวนเต๋อ 15 ครั้ง”

ครั้งสุดท้าย เป็นตอนที่ทั้งคู่ถกกันเรื่องปัญหาของระบบการศึกษาไทย

“โหน่ง” ทิ้งประโยคเด็ด

เขาบอกว่าไม่ได้ชวน “เต๋อ” มาทำสถาบันกวดวิชา

“แต่เรามาทำกระทรวงศึกษาฯ ภาคเอกชนกันเถอะ”

เป็นประโยคท้าทายคนหนุ่มที่อึดอัดกับระบบการศึกษามาก

“เต๋อ” จึงยอมมาร่วมลุยตั้งสถาบันกวดวิชา “ออนดีมานด์” กับ “โหน่ง”

แม้จะใช้ชื่อ “กวดวิชา”

แต่เป้าหมายของทั้งคู่ยิ่งใหญ่กว่านั้น

ผมเพิ่งคุยกับ “บอย” ฉัตรชัย วิรัตน์โยสินทร์ ขุนพลด้านการตลาดของค่ายบุญรอด

คนในแวดวงการตลาดจะรู้จักเขาเป็นอย่างดี

เพราะเป็นกำลังสำคัญของค่ายบุญรอดที่ทำให้เบียร์สิงห์และลีโอ ผงาดเป็นอันดับ 1 ในวันนี้

หลังจากเรียนจบจากสหรัฐอเมริกา เขาทำงานที่ “โอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์” เอเยนซี่ใหญ่ระดับโลก

ยุคนั้นถือว่าเท่มาก

คนวงการโฆษณาถือเป็นหนึ่งใน “มนุษย์ทองคำ” เหมือนกับคนสายการเงินที่ทำงานในบริษัทหลักทรัพย์

“โอกิลวี่” มีลูกค้ารายใหญ่ คือ “เบียร์สิงห์”

เป็นลูกค้าที่ใครๆ ก็อยากทำ เพราะไม่ต้องทำโฆษณาเพื่อขายมากนัก

เอา “กล่อง” หรือ “รางวัล” เป็นหลัก

เพราะตอนนั้นเบียร์สิงห์มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 80%

เหนือกว่าคู่แข่งหลายเท่า

“โอกิลวี่” จะเข้มงวดเรื่องคนที่มาดูแล “เบียร์สิงห์” มาก

ต้องเป็นระดับซีเนียร์

“บอย” ได้ดูแล “เบียร์สิงห์”

ตอนแรกก็ดีใจได้ดูแลลูกค้ารายใหญ่

ตามปกติคนทำงานโฆษณา เออีต้องได้เจอลูกค้า

แต่พอเป็นลูกค้ารายใหญ่ กลับกลายเป็นผู้บริหารระดับสูงเท่านั้นจึงจะได้เจอ

เออีคนอื่นได้เจอลูกค้า

แต่ “บอย” ทำงานเป็นปี ยังไม่ได้เจอผู้บริหารเบียร์สิงห์เลย

เขาไม่รู้จะสื่อสารกับลูกค้าอย่างไร

ตัดสินใจสรุปข่าวส่งให้คุณสันติ ภิรมย์ภักดี กับคุณรังสฤษดิ์ ลักษิตานนท์ 2 ผู้บริหารระดับสูงของเบียร์สิงห์

ลงชื่อตัวเองแล้วส่งให้ทุกสัปดาห์

จนวันหนึ่ง ผู้บริหารที่ดูแลเบียร์สิงห์ลาออก ไม่มีใครรู้จักลูกค้ารายนี้เลย

ยกเว้น “บอย”

นั่นคือ ครั้งแรกที่เขาได้เจอลูกค้าตัวเป็นๆ

จากนั้นก็เริ่มได้นำเสนองานมาเรื่อยๆ จนคุ้นเคยกับผู้บริหารเบียร์สิงห์

รู้มือกันดี

พักหนึ่งคุณรังสฤษดิ์ก็ชวน “บอย” มาทำงานที่สิงห์

แต่เขาปฏิเสธ

เหตุผลง่ายๆ คือ “สิงห์” เมื่อเทียบกับ “โอกิลวี่” แล้วแตกต่างกันมาก

“โอกิลวี่” เท่ ทันสมัย บอกใครก็ว้าว

และ “บอย” กำลังเป็นดาวรุ่ง ได้ส่งไปอบรมเมืองนอก เริ่มมีลูกน้อง

ในขณะที่ที่ทำงานของ “สิงห์” ในยุคนั้นค่อนข้างโบราณ

คนทำงานก็มีอายุ

คุณรังสฤษดิ์ชวนหลายรอบมาก

แต่ “บอย” ก็ปฏิเสธทุกครั้ง

จนวันหนึ่งเป็นวันเกิดคุณสันติ

ผู้บริหารของ “โอกิลวี่” ยกทีมไป

“บอย” ก็อยู่ในทีมนี้ด้วย

เอาต้นไม้หรือหนังสือไปอวยพรวันเกิด

คุณสันติมอง “ของขวัญ” แล้วส่ายหน้า

“ผมไม่เอาหรอกของขวัญแบบนี้”

คุณสุนันทา เจ้านายของ “บอย” ถามว่า แล้วคุณสันติจะเอาอะไรคะ

“สันติ” ชี้ไปที่ “บอย”

“เอาไอ้คนนี้ พรุ่งนี้ให้มันมาทำงานที่นี่เลย”

คุณสุนันทาบอกเลี่ยงๆ ว่า ตอนนี้ “บอย” ก็ทำให้บุญรอดอยู่แล้ว ไม่ได้ทำให้สินค้าอื่นเลย

“อยู่ที่ไหนก็เหมือนกันค่ะ”

เธอคงนึกว่าเป็นคำปฏิเสธที่นุ่มนวลมาก

แต่เข้าทางคุณสันติ

“ก็ใช่ อยู่ที่ไหนก็เหมือนกัน” เขาบอก

“ก็ให้มาอยู่ที่นี่สิ”

ครับ นั่นคือ เหตุผลที่ “บอย” มาทำงานที่เบียร์สิงห์

ไม่มีคำท้าทายเปลี่ยนแปลงโลกแบบ “สตีฟ จอบส์” หรือ “โหน่ง”

แต่เป็นข้อเสนอแบบ “ก๊อดฟาเธอร์”

…ข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้

คุณสุนันทาเสนอว่า ให้ “บอย” ไปลองทำงานที่เบียร์สิงห์ก่อน

แต่ถ้ามีปัญหากลับมาที่ “โอกิลวี่” ได้ตลอด

ที่นี่รับแน่นอน และนับอายุงานต่อเนื่องด้วย

“บอย” จึงตัดสินใจไปทำงานที่เบียร์สิงห์

โดยคิดว่าลองดู ไม่ไหวก็ออก

ใครจะไปนึกว่า “บอย” จะทำงานที่เบียร์สิงห์จนถึงวันนี้

23 ปีแล้ว

และกลายเป็นขุนพลคนสำคัญของ “เบียร์สิงห์”