คำ ผกา | นิวนอม่งนอหม้ออะไร

คำ ผกา

คำว่า New normal ที่ใช้ๆกันอยู่ในท่ามกลางคนไทยตอนนี้แลดูเลอะเทอะขึ้นเรื่อยๆ เช่น วันดีคืนดี นายกฯ ก็บอกว่า ต่อไปนี้จะบริหารประเทศแบบ นิวนอลมอล อันประกอบไปด้วย การผนึกทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ การประเมินการทำงานภาครัฐโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตัวจริง สุดท้าย เน้นการทำงานเชิงรุก โดยนายกฯ จะกำกับดูแลอย่างใดล้ชิด

อ่านแล้ว เอามือทาบอก แล้วถามตัวเองว่า สิ่งนี้หรือคือ new normal เพราะคอนเสปป์ประชาธิปไตย แบบ normal และไม่มีอะไร new เลยนั้นก็เน้นเรื่องการมีส่วนร่วมอยู่แล้วเป้นปกติ คีย์เวิร์ดของประชาธิปไตยคือ inclusive อันแปลเป็นไทยได้ว่า เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แบบที่นายกฯ ชอบพูดบ่อยๆ เพราะคิดว่าพูดแล้วมันดูฉลาดนั่นแหละ มิหนำคอนเสปป์ พลังประชารัฐก็ก่อกำเนิดมาด้วยความอยากจะให้รัฐบาลกับทุกภาคส่วนของเจ้าสัวมาผนึกกำลังกันขับเคลื่อนประเทศชาติกันอยู่แล้วไม่ใช่หรือ – แล้วมันเป็น new normal ตรงไหนเนี่ยะ สุดท้ายทำงานเชิงรุก นายกฯ กำกับดูแลเองอย่างใหล้ชิด – อ่าวที่ผ่านมาหกปี จะเจ็ดปี ทำงานเชิงอะไรเหรอ? งง – การทำงานเชิงรุกนี่มันไม่ normal ตรงไหน

งงมากจ้า

ตกลง new normal มันน่าจะหมายถึงอะไรกันแน่

การระบาดของโควิด 19 ทำให้เกิดคำว่า New Normal หรือ ความปกติใหม่ และก็เช่นเดียวกับอีกหลายๆคำที่อุบัติขึ้นมาในโลกใบนี้ที่ในที่สุดมันจะถูกนำไปใช้ นำไปตีความ นำไปให้ความหมายใหม่จากกลุ่มคนสารพัดกลุ่ม สารพัดความเชื่อ สารพัดวัฒนธรรม เพราะท้ายที่สุดจุดอ้างอิงของความ normal ของแต่ละพื้นที่ แต่ละเมือง แต่ละประเทศย่อมไม่เหมือนกัน พูดให้สั้นคือ ความ normal ไม่ได้มีหนึ่งเดียว สิ่งที่สังคมหนึ่งเห็นว่า normal อาจจะเป็นสิ่งที่ abnormal สุดๆ สำหรับอีกสังคมหนึ่ง เช่น ในบางสังคม และบางวัฒนธรรมที่กินข้าวด้วยมือ และกินร่วมสำรับ new normal หลังโควิด อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการกิน เช่น ยังกินด้วยมือเหมือนเดิม แต่แยกชุดอาหารของใครของมัน ไม่มีการกินร่วมสำรับขันโตก หรือ หากยังร่วมสำรับขันโตก ต้องมีการใช้ช้อนกลางอย่างเคร่งครัด พร้อมการมีจานแบ่ง ถ้วยแบ่งอย่างนี้เป็นต้น

มองในมิติสุขภาพ new normal หลังโควิดจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชนิด พลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน เกิดการปฏิวัติ นวัตกรรมอะไรไหม?

เมื่อเทียบกับหลายโรคระบาดในสองศตวรรษที่แล้ว ฉันนึกไม่ออกว่าจะมี new normal อะไรไปได้มากกว่าสุขอนามัย normal ที่เรามีอยู่แล้วในทุกวันนี้ ลองคิดดูว่าจากยุคที่แม้ในยุโรปก็เป็นเมืองที่สกปรกอย่างที่สุดหากเราเอามาตรฐานความสะอาดในปัจจุบันไปเทียบ หลายๆแม่น้ำอันสวยงามของโลกครั้งหนึ่งเคนเน่าหนอนดำคล้ำอย่างเช่นแม่น้ำเทมส์ พระราชวังแวร์ซายส์ทั้งวังไม่มีส้วม คนทุกชนชั้นเกือบทุกคนใบหน้า ร่างกายเต็มไปด้วยร่องรอยแผลเป็นจากฝีดาษ ผู้คนเท อึ ฉี่ จากกระโถนลงมาทางหน้าต่างบ้านเรือน ไหลนองไปตามพื้นถนนกันเป็น “ปกติ”

สิ่งที่เป็น new normal คือการปฏิวัติด้าานการสุขาภิบาล ผังเมือง สถาปัตยกรรม และสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่าส้วม ที่พลิกโลกให้เข้าสู่ภาวะ ถูกสุขอนามัย ถนนต้องมีท่อระบายน้ำ การอึ ฉี่ ทิ้งของเสีย ปฏิกูลลงแม่น้ำลำคลอง เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย การแยกคอกสัตว์เลี้ยงออกจากตัวบ้าน ไม่นอนร่วมกับแพะ แกะ ม้า และลา การสร้างบ้านที่เริ่มมีการแยกห้อง เป็นห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องน้ำ ก็เป็นสิ่งที่ครั้งคือ new normal เอามากๆ เรื่อยมาจนถึงยุคที่การมีส้วม ก็ว่า new normal แล้ว ขยับมาเป็นจากส้วมนอกบ้าน มาเป็นส้วมในบ้าน เรื่อยมาจนถึงยุคที่เราต้องมีส้วมในห้องนอน และทำให้สำนวน “มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน” กลายเป็นสำนวนที่ใช้การไม่ได้อีกต่อไป

BANGKOK, THAILAND – MARCH 22, 2020: Foreign workers wearing face masks await at the Mo Chit Bus Terminal amid Coronavirus fears in Bangkok. Laos has closed its four immigration checkpoints near ThailandÕs Nakhon Phanom province, saying it doesnÕt have enough medical personnel to screen for the Covid-19 coronavirus at the four places.- PHOTOGRAPH BY Adisorn Chabsungnoen / Echoes Wire / Barcroft Studios / Future Publishing (Photo credit should read Adisorn Chabsungnoen / Echoes Wire/Barcroft Media via Getty Images)

new normal ในสังคมไทยนอกจากเรื่องการวางผังเมือง การมีหน่วยงานด้านสุขาภิบาลดูแลเรื่องสุขอนามัย การเกิดโรงฆ่าสัตว์ที่ต้องผ่านการรับรองจากเจ้าหน้าที่รัฐในเรื่องความสะอาด ปลอดภัย เรื่อยไปจนถึงการกินข้าวด้วยช้อนและส้อม นี่ก็คือว่าเป็น new normal แบบสุดๆเช่นเดียวกัน ลองนึกดูว่า เราที่เปิบมืออย่างเอร็ดอร่อย ดูเป็นผู้ดิบผู้ดีมาตลอดชีวิตก็ค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นการข้าวด้วยช้อนและส้อม และจนวันหนึ่งการกินข้าวด้วยช้อนส้อมก็กลายเป็น normal ไป

สิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยเป็น new normal สำหรับสังคมไทยคือการใส่รองเท้า! ลองนึกถึงวันที่ จอมพล ป. ออกรัฐนิยม ให้คนไทยเลิกนุ่งกางเกงแพรออกนอกบ้าน ให้สวมหมวก ใส่รองเท้า ห้ามเคี้ยวหมาก ทุกอย่างในรัฐนิยมของ จอมพล ป. ล้วนแต่เป็น new normal ของสังคมไทยทั้งสิ้น และเกือบทุกอย่างในรัฐนิยมนั้นก็เกี่ยวพันกับเรื่องความสะอาด สาธารณสุข สุขภาพ เช่น การสวมรองเท้าเมื่อออกนอกบ้าน (จำได้ว่าตอนเด็กๆ เหตุผลที่เค้าให้ใส่รองเท้าเมื่ออกนอกบ้านคือ กลัวว่าพยาธิจะไชผ่านทางฝ่าเท้าเข้าร่างกาย)

ตรงกันข้าม ในช่วงโควิด 19 ของหลายๆสังคมคือการบอกว่า เมื่อก้าวเท้าเข้าไปในบ้าน สูเจ้าจงถอดรองเท้าด้วย เพราะไม่รู้ว่า รองเท้าไปเหยียบเอาเชื้อโรคอะไรมาบ้าง รวมทั้งโควิด 19 อาจจะติดรองเท้าเข้ามาในบ้านด้วยหรือเปล่า เหตุที่เป้นเช่นนี้ก็เพราะ normal ของหลายๆสังคมคือการใส่รองเท้าอยู่ในบ้าน ดังนั้นการฝึกอุปนิสัยใหม่ว่าด้วยการถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้านช่องห้องหับก็คือ new normal

สองร้อยปีผ่าน ฉันคิดว่า หลังจากที่เรามี smart toilet ที่ทุกอย่างควบคุมผ่านระบบเซ็นเซอร์ ก็เป็นจุดพีคของ new normal ด้านการสุขาภิบาลแล้วการมีห้องน้ำ มีส้วม การกินอาหารด้วยช้อนส้อม หรือการกินอาหารเป็นชุดของใครของมัน ทุกคนสวมรองเท้ากันเป็นปกติ ก็ไม่น่าจะมีอะไรเป็น new normal ของโควิด 19 อีกแล้ว นอกจากการใส่หน้ากากอนามัย ที่ต้องทำความเข้าใจอีกว่า ไม่จำเป็นต้องใส่ตลอดเวลา และไม่พึงบังคับให้ต้องใส่ด้วย ควรใส่เมื่ออยู่ในพื้นที่ หรือ สถานการณ์ที่มีความเสี่ยงก็เพียงพอแล้ว

พูดให้ถึงที่สุด new normal ทางสุขาภิบาล และสุขอนามัย ส่วนตัวนั้นไม่มีแล้ว อะไรที่เป็นนวัตกรรมที่เอาไว้รับมือกับอหิวาห์ ไข้หวัดใหญ่ ไวรัสตัวอื่นที่เคยมีมาในโลกใบนี้ก็ใช้ได้กับโควิด 19 เช่นกัน พูดง่ายๆคือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ นี่แหละ เป๊ะสุดละ

แต่ new normal ของ โควิด 19 ในระดับที่ต้องมีการปฏิวัติกันใหม่หมดเลย ไม่ใช่พฤติกรรมของปัจเจกบุคคลที่ทำกันอย่างโง่ๆ เช่น ให้ลงทะเบียน เช็คอิน เช็คเอาท์ก่อนเข้าห้าง การไปถุยน้ำลายใส่หน้าคนไม่ใส่หน้ากากออกจากบ้าน การไปบังคับกำหนดให้คนเข้าร้านนั้นร้านนี้ได้ทีละกี่คน การห้ามกินข้าวร่วมโต๊ะในร้านอาหาร หรือรวมไปถึงการเว้นที่นั่งบนรถไฟ รถเมล์ แล้วผลที่ออกมาคือคนเบียดเสียดยัดเยียดกันที่ราวโหน ไปจนถึงการปิดโรงเรียนยาวนาน และแม้จะเปิดเรียนก็ต้องสลับกันไปเรียนอาทิตย์ เว้นอาทิตย์ เพื่อไม่ให้มีจำนวนนักเรียนเกินกว่าที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด

new normal หลังโควิด 19 คือการกลับมาทบทวนการบริหาร “อำนาจ” ของสถาบันต่างๆในสังคมผ่านการ “ออกแบบ” อาคาร สถานที่ และภูมิทัศน์ อันเป็นตั้งของสถาบันนั้นๆ ใหม่ทั้งมด

นักคิดในสำนักโพสต์โมเดิร์นหลายคนได้ชี้ให้เห็นโครงสร้างการใช้อำนาจเช่นนี้ผ่านการศึกษางานออกแบบโรงเรียน คุก โรงพยาบาล สถานที่ราชการ ไปจนถึงการออกแบบ และ วางผังเมืองที่สะท้อนการวางกลไกทางอำนาจผ่านภาษาของสถาปัตยกรรม

ยกตัวอย่างเช่น การออกแบบโรงเรียนเกือบทั้งหมดในประเทศไทย สะท้อนวิธีคิดเรื่องระบบการศึกษาของโลกในศตวรรษที่ 19 ที่ชัดเจนว่า การศึกษาและโรงเรียนคือ เครื่องมือส่งผ่านอุดมการณ์ของรัฐ สร้างพลเมืองที่พึงประสงค์ให้แก่รัฐ โรงเรียนจึงเป็นสถานที่ที่จะสาธิตให้นักเรียนซึมซับผ่านภาษาของสถาปัตยกรรม อาคารเรียน กิจกรรมในโรงเรียน เนื้อหาของแต่ละวิชาที่เรียน ระเบียบ วินัย การลงโทษ ทั้งหมดนี้ถูกออกแบบมาเพื่อสร้าง/ ปลูกฝัง ให้พลเมืองเติบโตมาพร้อมสำนึกเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจชุดหนึ่งในแบบที่รัฐนั้นๆต้องการให้พลเมอืงของตัวเองเป็น

เช่น โรงเรียนคืออาคารที่มีห้องเรียน เรียงๆต่อๆกันไป จุดศูนย์กลางของโรงเรียนคือเสาธงชาติ ที่ทุกกิจกรรมมักจะเกิดขึ้นที่หน้าเสาธงนี้ มีการเข้าแถวเตารพธงชาติ มีการยืนเรียงกันตามลำดับไหล่ กิจกรรมการเรียนการสอน ถูกจัดเรียงอย่างเป็นลำดับตามรายวิชา ถ้าเอาทุกอย่างที่อยู่ในโรงเรยนมาพล็อตเป็นภาพ เราจะเห็นภาพแห่งการที่ทุกอย่างถูกจัดเรียงอย่างเป็นแถวเป็นแนว และเป็นเส้นตรง

ลักษณะการจัดพื้นที่และกาลเวลาแบบนี้ พอเจอสถานการณ์โควิด 19 หรือโรคระบาดที่ไม่สามารถให้เด็กไปอยู่รวมๆกันในหนึ่งกาละหนึ่งเทศะ อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก

new normal ของการศึกษาจึงท้าทายมากว่า เออ มันถึงเวลาที่เราจะละทิ้ง ไอ้ระบบ โรงเรียนและการเรียนการสอนแบบนี้ไปได้แล้วหรือยัง?

ฉันเสนอความคิด Co studying space นั่นแหมายถึง เราต้องแบบการศึกษากันใหม่ทั้งหมด ว่า การศึกษา และโรงเรียน ไม่ใช่ การทำ ชั้น อนุบาล ประถม มัธยม แล้ว ไปถึงก็ มีตารางสอน วันละ 6วิชา นั่งเรียนเรียงกันไปทีละวิชาๆ ของแต่ลชั้นๆ จากนั้นก็เลื่อนชั้นขึ้นไปเรื่อยๆ

การศึกษาแบบ Co Studying Space จะเป็นการศึกษาแบบโกลาหล อลหม่าน ปราศจากระบบระเบียบ และการสั่งสอนเรื่อง “อำนาจ” ในแบบที่เราคุ้นชิน เราต้องตั้งคำถามว่า มันจำเป็นแค่ไหนที่คนอายุเท่ากัน จำต้องอ่านหนังสือเล่มเดียวกัน หรือเรียนคณิตศาสตร์ในบทเดียวกัน ไอ้การทำตึกเรียนแล้วเอาเด็กมานั่งอยู่ในห้องเดียวกัน ยังจำเป็นอยู่หรือไม่?

CoStudyingSpace ไม่ใช่โรงเรียน แต่คือ พื้นที่หนึ่งสำหรับการศึกษาที่สามารถ mapping ตัวเองกับ สถานที่อื่นๆ เช่น ร้านหนังสือ ห้องสมุด ร้านอาาหารเล็กๆในชุมชน มิวเซียม โรงละคร โรงหนัง ผู้คนและทุกกิจกรรมที่อยู่รายล้อม นั่นแปลว่า ทุกๆสถานที่อันรอยล้อม co studying space นั้นก็คือ “โรงเรียน” หรือ สถานแห่งการไปแสวงหาความรู้ของนักเรียนด้วยเช่นกัน โรงเรียนไม่จำเป็นต้องมีห้องฉายหนัง ถ้าใกล้ๆโรงเรียนมีโรงหนังหรือ โรงละครที่สามารถฉายหนังได้ โรงเรียนไม่ต้องมีวิชานาฏศิลป์ เอง ถ้า รอบๆ โรงเรียนมีคณะละคร ฟ้อนรำ หรือ มีแดนซ์คอมพานีอยู่แล้ว

สำหรับฉันนี่คือ new normal ที่แท้จริงของยุคหลังโควิด เพราะมันจะไม่ใช่แค่ การบริหารให้จำนวนนักเรียนพอดีกับพื้นที่ของโรงเรียนแล้วได้ผลลัพธ์ เป็น social distancing แต่ new normal หมายถึงการ transformedหรือ เปลี่ยนผ่านวิถีชีวิตที่อยู่ในกระบวนทัศน์เก่าไปสู่การมีชีวิตใหม่ พฤติกรรมใหม่ ในกระบวนทัศน์ใหม่ด้วย เช่น การออกแบบหรือมีจินตนาการใหม่ทั้งหมดเกี่ยวกับระบบการศึกษา

เพราะไม่เช่นนั้นมันไม่เรียนว่า new normal แต่เป็นแค่การบริหารโรคระบาดอย่างปกติ ธรรมดา และเมื่อโรคระบาดสงบ เราก็ควรกลับเข้าสู่วิถีปฏิบัติ และการใช้ชีวิตอย่างที่เราเคยใช้

ถึงตอนนี้ การระบาดก็สงบลงแล้ว และดูเหมือนว่า รัฐบาลไม่เคยมีจินตนาการอะไรเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่าน transformed และผู้คนในระดับกระบวนทัศน์เลยไม้แต่น้อย ดังนั้น สิ่งที่รัฐฐาลควรทำคือเลิก spoiled และ exploit คำว่า new normal ได้แล้ว เพราะมันไม่มีจริง และที่มีอยู่จริงเป็นแค่การตั้งกฎบ้าๆบอๆ ที่ abnormal มาสร้างความลำบากให้กับชีวิตของประชาชนเสียมากกว่า

ไม่มีหรอก นิว นอม่ง นอหม้อ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ แล้ว ยกเลิก พรก. ฉุกเฉิน คืนชีวิต คืนเศรษฐกิจให้กับประชาชน คืนโรงเรียนให้นักเรียน คืนอำนาจให้ประชาชนได้แล้ว

New Normal ไม่ได้แปลว่าการต่ออายุให้เผด็จการโดยเอาโรคระบาดมาเป็นข้ออ้าง