เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง : เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระพี่นางเธอเป็นนักเขียน ทำให้เราได้รู้ถึงพระจริยวัตรในสมัยที่ยังทรงพระเยาว์

สมเด็จพระพี่นางเธอกรมหลวงสงขลานครินทร์เคยทรงนิพนธ์หนังสือ “แม่เล่าให้ฟัง” ไว้นานแล้ว ต่อมาพระองค์ท่านก็ได้ทรงนิพนธ์หนังสืออีกเล่มชื่อ “เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์”

ยุวกษัตริย์ ถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็จะเป็นคำว่า Kings ซึ่งหมายถึงกษัตริย์สองพระองค์ คือพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลรัชกาลที่ 8 และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นพี่น้องกันและครองราชย์ต่อจากกัน

หนังสือเล่มนี้มีค่ามากสำหรับคนไทย เพราะเป็นบันทึกประวัติศาสตร์สำคัญเกี่ยวกับช่วงชีวิตที่พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ทรงพระเยาว์

เป็นช่วงที่เรียกว่า formative years หรือช่วงแห่งการบ่มเพาะอุปนิสัยของเด็กเพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่

จากพระนิพนธ์เล่มนี้เราเห็นภาพชัดเจนของการที่สมเด็จพระราชชนนีทรงเลี้ยงดูกษัตริย์ทั้งสองพระองค์และพระพี่นางเธอฯ อย่างเด็กธรรมดาสามัญ

ทุกพระองค์มีกิจกรรมแบบเด็กทั่วไป ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นอิสระ ในประเทศตะวันตกซึ่งมีวัฒนธรรมสอนให้เด็กมีความรับผิดชอบและมีระเบียบวินัย

ปราศจากข้าราชบริพารแวดล้อมซึ่งทำให้ทรงตระหนักถึงความเป็นบุคคลพิเศษ จนอาจสูญเสียธรรมชาติของความเป็นเด็ก

ที่บอกว่าป็นเรื่องราวของพระมหากษัตริย์พระองค์น้อยในวัยบ่มเพาะอุปนิสัยก็อย่างเช่นเมื่อทรงประทับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ในที่ประทับที่มีเนื้อที่พอสมควร ทรงเล่นขุดทางน้ำเป็นคลอง และทรงนำต้นไม้มาปลูกสองข้าง เหมือนป่า ทรงรดน้ำต้นไม้จนป่าเจริญงอกงาม ซึ่งสมเด็จพระพี่นางเธอทรงนิพนธ์ว่า “นี่คือสัมผัสครั้งแรกของชลประทานและการปลูกป่า”

หากไม่ได้ใกล้ชิดกับชีวิตของคนคนหนึ่งเมื่อเขายังเด็ก เราจะไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เขาชอบทำและอุปนิสัยที่เขามีอยู่เกิดขึ้นได้อย่างไรและมาจากไหน

ในตอนหนึ่งของพระนิพนธ์ มีอยู่ว่า “ค่อยดีหน่อย เล็ก (พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9) ยังรู้จักเป็นห่วงการเรียน มีหนังสือเขาให้ท่อง 2-3 คำ ก็ยุ่งท่องอยู่เสมอ…เล็กเดี๋ยวนี้ตั้งต้นว่าคนเก่ง ว่าท่านรัศมี (หม่อมเจ้ารัศมีสุริยัน สุริยง ซึ่งมีชื่อเล่นว่าหนู) ว่าชื่อหนูไม่เห็นดี เดี๋ยวแมวมากัด เมื่อเช้านี้นันทโกรธ ก็ว่านันทว่าโกรธมากไม่ดี แก่เร็ว และหัวจะล้านด้วย”

เป็นที่รู้ว่าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ท่านปากคม เหน็บแนมคนเก่ง แสดงว่าท่านเป็นมาตั้งแต่เด็กๆ

ส่วนเรื่องการศึกษาท่านเอาพระทัยใส่มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เราทราบจากหนังสือเล่มนี้ว่าท่านสอบได้ที่ดีๆ

แล้วทำไมท่านถึงเป็นนักกีฬา เป็นช่างไม้ ก็เพราะท่านได้สัมผัสกับสิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทั้งสองรัชกาลสามารถโหนเชือกขึ้นไปถึงหลังคาบ้านได้ทั้งๆ ที่พระวรกายผอมบาง

สมเด็จพระราชชนนีทรงสอดแทรกการเรียนรู้เข้าไปในทุกกิจกรรม เช่น “ระหว่างการรับประทานอาหารจะเล่นเกมทายอะไรกันต่างๆ บางพักก็จะเป็นเกมภูมิศาสตร์ บางพักก็เป็นเกมประวัติศาสตร์” ทรงเล่าต่อว่า พระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 8) และพระอนุชาทรงเล่นอะไรกันหลายอย่างซึ่งจะนำมาเป็นประโยชน์ในภายหลัง

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

อีกช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญที่ทรงเล่าก็คือตอนที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ขึ้นครองราชย์แล้ว ในขณะที่ยังทรงพระเยาว์และสุขภาพไม่สู้ดี ทางรัฐบาลได้ทูลเชิญนิวัตพระนครเพื่อเป็นมิ่งขวัญกำลังใจแก่ประชาชน แต่ไม่สามารถทำได้ทันทีเนื่องจากพระพลานามัยไม่อำนวย

ต่อมาทางรัฐบาลได้มีการหารือกันเรื่องพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระพี่นางฯ ได้ทรงเล่าว่า

“เดือนมิถุนายน 2480 ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้มีหนังสือไปทูลปรึกษาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนริศรานุวัติวงศ์ (พระอิสริยยศขณะนั้น) ซึ่งเคยเป็นผู้สำเร็จราชกาลแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า ในการที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จกลับมานั้นสมควรจะมีการบรมราชาภิเษกด้วยหรือไม่ สมเด็จกรมพระนริศฯ ทรงตอบว่า

“…การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีใหญ่ ต้องทำการหลายวัน ผู้อื่นนั้นไม่เป็นไร ข้อสำคัญอยู่ที่องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากจะต้องทรงทรมานพระกายเสด็จพระราชดำเนินมาเข้าพระราชพิธีเป็นเวลาหลายวันแล้ว ยังจะต้องทรงท่องคาถาภาษาบาลี และท่องพระราชดำรัสภาษาไทยอันจะได้ตรัสตอบเจ้าหน้าที่ซึ่งจะกราบบังคมทูลในการพระราชพิธี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนม์น้อย เข้าใจว่ากำลังทรงเล่าเรียนอยู่บัดนี้ หนักไปทางหนังสือภาษาฝรั่ง หากจะจัดให้ทรงท่องภาษาบาลีและภาษาไทยมากมายสำหรับใช้จำเพาะแต่การพระราชพิธีราชาภิเษก เกรงว่าจะเป็นความลำบากแล้วได้ผลไม่สมควรกัน…”

ข้อความอีกตอนหนึ่งแสดงความเอาพระทัยใส่ของสมเด็จพระราชชนนีเป็นอย่างมากในการศึกษาเล่าเรียนของโอรสและธิดา คือในปี 2481 เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ทรงพร้อมเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการชั่วคราว คณะผู้ติดตามกลับมาจากสวิสมีครูด้วย 2 คน

ครูคนหนึ่งชื่อ แอร์ช ต้องไปทบทวนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ก่อนออกเดินทางเพราะทิ้งไปนานมากแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระวิสัยทัศน์และความเอาใจใส่ของพระราชชนนี ที่เห็นว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญและสำคัญทุกวิชา

ระหว่างทางเสด็จนิวัตประเทศไทยทางเรือ ราชเลขาฯ ได้มีหนังสือรายงานถึงผู้สำเร็จราชการว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้านาย และพระราชชนนี ทรงพระสำราญตลอดทาง เวลาเสด็จออกรับแขก ทรงมีสง่า แจ่มใส รับสั่งตามสมควร ไม่ประหม่า ทรงมีพระเสน่ห์ตามปกติ”

หนังสือเล่มนี้เป็นประวัติศาสตร์อันหายากยิ่ง พิมพ์โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง คนไทยควรได้อ่าน เยาวชนไทยก็ควรจะได้เห็นมุมของประวัติศาสตร์ที่เป็นเรื่องราวอันแท้จริงไม่มีการแต่งเติม นิพนธ์จากปลายปากกาผู้ใกล้ชิด ทำให้เห็นมุมมองของชีวิตพระมหากษัตริย์และบุคคลผู้แวดล้อมอย่างที่เราไม่เคยรู้

รวมทั้งได้ประจักษ์ว่าชีวิตขององค์พระมหากษัตริย์นั้นมิใช่จะสุขสบายอย่างที่คิด