วิเคราะห์ : ทำไมการปั่นจักรยาน ลดเสี่ยง “โควิด”

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ข่าวเชื้อโควิด-19 ย้อนกลับมาแพร่ระบาดรอบ 2 ในหลายประเทศที่ประกาศคลายล็อก เปิดเมืองให้ผู้คนสัญจรไปทำงานได้สะดวกขึ้นนั้นทำให้หลายคนรู้สึกช็อกไปทีเดียว เพราะนั่นเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าเชื้อนี้ยังแผลงฤทธิ์ไม่เลิก

ครั้นจะให้รัฐบาลประเทศเหล่านั้นหันกลับมาล็อกดาวน์ห้ามคนออกนอกบ้านอีกครั้ง คงเป็นไปได้ยาก ยกเว้นประเทศที่มีการเมืองระบบปิดอย่างจีน

ยามนี้ทั่วโลกจึงเกิดภาวะสับสนอลหม่าน ไม่รู้จะไปทางไหนดี คลายล็อกแล้วเจอเชื้อ ล็อกดาวน์ก็เจอชาวบ้านโวยไม่มีอะไรกิน เศรษฐกิจพังพินาศสิ้น

ตัวเลขจำนวนคนติดเชื้อโควิดก็พุ่งไม่หยุด ทะลุเกิน 9 ล้านคนแล้ว ผู้เสียชีวิตใกล้ๆ ครึ่งล้านคน

ในยุโรป มีการคลายล็อกเปิดเมือง อนุญาตให้ออกจากบ้านไปทำงานในออฟฟิศ แต่ผู้คนก็รู้สึกแหยงๆ กับการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน กลัวติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างแออัดยัดทะนานในห้องโดยสาร ต่างพากันใช้รถยนต์ส่วนตัว มอเตอร์ไซค์และจักรยานมากขึ้น

ความรู้สึกอย่างนี้ คงเป็นเหมือนกันทั่วโลก จึงมีการออกมาตรการขนส่งมวลชนด้วยวิถีใหม่ กำหนดข้อบังคับให้ผู้โดยสารใส่หน้ากากอนามัย บริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เว้นระยะห่าง พ่นยาฆ่าเชื้อ

แต่ด้วยฤทธิ์เดชของโควิดทำให้คนส่วนใหญ่ผวา ไม่เชื่อว่ามาตรการที่ว่านั้นจะเอาอยู่ ในเมื่อทุกคนเดินทางไปทำงานในช่วงเวลาเดียวกัน การแออัดยัดเยียดอยู่บนระบบขนส่งสาธารณะเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่พ้น ยังไงๆ ก็ต้องหายใจรดใส่กัน โอกาสติดเชื้อจึงเป็นไปได้สูง

หากจะปล่อยให้คนหันกลับมาใช้รถยนต์ส่วนตัวเยอะๆ การจราจรจะแน่นขนัด เกิดปัญหามลพิษทางอากาศตามมาอีก

 

ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ประกาศยกเลิกล็อกดาวน์ในเฟส 2 ให้คนทำมาหากินสะดวกขึ้นราวๆ หนึ่งเดือนแล้ว จำนวนคนติดเชื้อไม่เพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้ป่วยโควิดยังสูงถึง 160,000 คน และจำนวนผู้เสียชีวิตเฉียด 3 หมื่นคน ชาวฝรั่งเศสจึงกังวลกับการใช้บริการขนส่งมวลชน

สื่อรายงานว่า ชาวฝรั่งเศสแห่ซื้อจักรยานโดยเฉพาะร้านจักรยานมือสองในกรุงปารีสได้รับความนิยมอย่างสูงถึงขั้นยืนเข้าคิวรอ ราคารถจักรยานที่ขายดีอยู่ระหว่าง 3,000-10,000 บาท

นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสเห็นว่าการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนในยุคโควิดจะเปลี่ยนไป คนกลัวติดเชื้อ หันไปใช้รถยนต์ส่วนตัว ถ้าเป็นเช่นนั้นปัญหามลพิษทางอากาศจะตามมา

“มาครง” ให้ความสำคัญกับการเดินทางด้วยจักรยาน มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อยกระดับ “จักรยาน” เป็นพาหนะยุคโควิด เพราะเชื่อว่าการปั่นจักรยานช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโรค ลดปัญหาการจราจรแออัด ลดมลพิษในอากาศและนักปั่นมีสุขภาพแข็งแรง

นายปิแอร์ แซน นักสิ่งแวดล้อมชื่อดังของฝรั่งเศสซึ่งเป็นแกนสำคัญในคณะกรรมการชุดดังกล่าวบอกว่า จักรยานเป็นพาหนะสำคัญในยุคโควิด เพราะหลังการแพร่ระบาดโควิด ชาวปารีสใช้จักรยานเพิ่มขึ้นราว 1 ล้านคน

นายแซนยังบอกอีกว่า รัฐบาลฝรั่งเศสจะเพิ่มทางจักรยาน เชื่อมขยายเส้นทางและปรับเปลี่ยนเส้นทางรถยนต์ รถโดยสารให้นักปั่นได้ปั่นร่วมอย่างปลอดภัย อีกทั้งจะช่วยลดปริมาณก๊าซพิษและลดระดับเสียงดังลง

ล่าสุดรัฐบาลฝรั่งเศสประกาศห้ามรถยนต์วิ่งผ่านถนนสายสำคัญๆ ในกรุงปารีส เช่น รีโวลี ซึ่งทอดยาวเชื่อมร้านค้า แหล่งช้อปปิ้ง พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ และสวนสาธารณะตุยเลอรี เปิดให้เฉพาะคนเดินและขยับเป็นไบก์เลน

ที่น่าสนใจไปกว่านั้น รัฐบาลฝรั่งเศสยังอัดเม็ดเงินสนับสนุนร้านซ่อมจักรยานและเงินอุดหนุนประชาชนที่ต้องการซื้อจักรยานไฟฟ้าไปใช้ในชีวิตประจำวัน

 

ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ก่อนล็อกดาวน์ มีไบก์เลนไม่กี่สายเพราะเป็นเมืองโบราณ ถนนหนทางแคบ เส้นทางจักรยานไม่เชื่อมต่อกัน นักปั่นต้องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเอาเองหากจะเปลี่ยนเส้นทางหรือข้ามเลนไปอีกฝั่งของถนน แต่เดี๋ยวนี้ผู้บริหารกรุงโรมแบ่งถนนขยายเส้นทางจักรยานมากกว่า 150 กิโลเมตร

ส่วนประเทศสเปน ทั้งในกรุงมาดริดและเมืองบาร์เซโลนา มีแผนขยายทางเท้าให้จักรยานปั่นร่วมกับคนเดินเท้ามากกว่าในปัจจุบัน ซึ่งทั้งสองเมืองนี้มีผังเมืองสวยงามอำนวยความสะดวกให้กับนักจักรยานและคนเดินเท้าอยู่แล้ว

ในระยะยาวผู้บริหารกรุงมาดริดเตรียมแผนปรับเปลี่ยนเมืองให้มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมกับการสัญจรของผู้คน เน้นคนขี่จักรยานหรือเดินเท้าสามารถเดินทางไปจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าในระยะทางที่เหมาะสม เช่น เดินแค่ 20 นาทีก็ไปถึงร้านค้าและสำนักงาน

ผู้บริหารกรุงมาดริดยังเล็งออกมาตรการควบคุมปริมาณการใช้รถยนต์ด้วยการหยุดขยายถนน เพราะเห็นว่ารถยนต์ไม่ใช่แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพราะรถยนต์ปล่อยควันพิษทำลายสิ่งแวดล้อม

 

มอร์เต็น คาเบลล์ ตัวแทนสมาพันธ์นักจักรยานแห่งยุโรปให้สัมภาษณ์ผ่านยูโรนิวส์ว่า โควิดจะเป็นโอกาสทองของนักปั่น นักสิ่งแวดล้อม นักวางผังเมือง เพราะสนับสนุนแนวทางเว้นระยะห่างทางสังคม ทางกายภาพป้องกันการแพร่เชื้อ

“เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงก้าวสำคัญทั่วยุโรปไม่ว่าจะเป็นกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี กรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก หรือกรุงเวียนนา ออสเตรีย เป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อพวกเรานักปั่น” คาเบลล์บอกยูโรนิวส์

บ้านเรา แม้จะคลายล็อกเปิดเมืองเข้าสู่เฟสที่ 4 แล้ว แต่ไม่มีใครในคณะรัฐบาลคิดปรับโฉมหน้าเมืองต่างๆ ให้เป็นเมืองจักรยาน ตรงกันข้ามกลับปล่อยให้คนแห่ใช้รถยนต์ปล่อยควันพิษฟุ้งเต็มท้องฟ้า

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่