ในประเทศ / #รวมไทยสร้างชาติ

ในประเทศ

 

#รวมไทยสร้างชาติ

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ประกาศแนวคิด “รวมไทยสร้างชาติ”

ออกมาอธิบายล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ว่า เป็นความร่วมมือแบบประชารัฐ ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และประชาสังคมกลุ่มต่างๆ เคลื่อนไหวในเชิงสร้างสรรค์

“แนวคิดรวมไทยสร้างชาติมีมิติในการที่จะรวมคนไทยทุกกลุ่มเข้าด้วยกัน” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

แต่ยืนยันว่า ไม่ใช่หมายความว่ากลุ่มใดที่มีการกระทำผิดกฎหมายแล้วจะดึงเข้ามา

ซึ่งเท่ากับเป็นการสยบข่าวก่อนหน้านี้ว่าอาจมีการนิรโทษกรรมให้กับฝ่ายต่างๆ

โดย พล.อ.ประยุทธ์ย้ำว่า การมาร่วมกันนั้น ผู้ที่มาร่วม จะต้องให้คดีความจบสิ้นก่อน

“วันข้างหน้าหากมีการรับโทษกันแล้วก็จบ เพราะทุกคนก็เป็นคนไทยด้วยกัน แต่ถ้าไม่รับโทษแล้วจะทำอย่างไร อ้างเหตุผลอื่นมันไม่เหมาะ ผมไม่ได้รังเกียจใคร ไม่ได้เป็นศัตรู แต่อย่าจุดประเด็น (นิรโทษกรรม) ขึ้นมา ซึ่งมันไม่ใช่ประเด็น”

ซึ่งคงต้องติดตามว่า แนวคิด “รวมไทยสร้างชาติ” ที่จะถูกผนวกรวมเป็นยุทธศาสตร์ของชาตินี้

จะเป็นแนวคิดเดียวกับ “ขอให้รักสามัคคี ทำงานให้ดี ห้ามแตกแยก และให้เป็นหนึ่งเดียว” หรือไม่

 

ผู้ที่เอ่ยวลี “ขอให้รักสามัคคี ทำงานให้ดี ห้ามแตกแยก และให้เป็นหนึ่งเดียว” คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

กล่าวระหว่างที่แกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จำนวน 12 คน

ประกอบด้วย นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล และ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายอนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท นายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกรัฐบาล นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ เลขานุการวิปรัฐบาล

ได้รวมตัวกันเข้าเทียบเชิญ พล.อ.ประวิตรให้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค ที่ห้องประชุมของมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด

ซึ่ง พล.อ.ประวิตรได้ตอบรับ และเอ่ยวลีดังกล่าวออกมา

 

ส่วนจะเป็นจริงได้หรือไม่ ยังเป็นคำถามอยู่

เพราะเอาแค่พิธีกรรม เชิญ พล.อ.ประวิตรขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค

คนภายนอกก็มองเห็นรอยร้าวแล้ว

เนื่องจากเห็นการ “หายไป” ของฝ่ายกลุ่ม 4 กุมาร โดยเฉพาะนายอุตตม สาวนายน รักษาการหัวหน้าพรรค และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รักษาการเลขาธิการพรรค ที่ไม่ได้เข้าร่วม

ซึ่งนายวิรัช  รัตนเศรษฐ ก็ยอมรับตรงๆ ว่า ไม่ได้มาร่วมเพราะไม่ได้เชิญ

“อยู่ๆ ไปเชิญเขามาแล้วเราจะปลดเขา จะเชิญหรือไม่ ง่ายๆ เลย ตรงไปตรงมา”

ส่วนกลุ่ม 4 กุมารที่นำโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะหลุดไปทั้งกลุ่มเลยหรือไม่นั้น นายวิรัชบอกว่า ไม่ได้เป็นตัวตั้งตัวตีในการทำส่วนนี้

“ขนาดเงียบๆ เขาก็พยายามเล่นผมทุกอย่าง ก็อยากจะพูดความจริงว่ามันเป็นอย่างไร” นายวิรัชระบุอย่างเปิดเผย

อันสะท้อนให้เห็นรอยร้าวในพรรคชัดเจน

 

ขณะนี้ทั้งคนในและคนนอกกำลังจับตามองว่า ใครจะอยู่ใครจะไป

โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ถูกประเมินว่าจะเป็นฝ่ายไป ได้ปฏิเสธแสดงความเห็นเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี รวมถึงกรณีที่ พล.อ.ประวิตรจะเป็นหัวหน้าพรรค พปชร.แล้วจะทำให้ปัญหาในพรรคเรียบร้อยหรือไม่ นายสมคิดปัดว่า

“จะไปรู้ได้ยังไง ไม่ได้อยู่ในพรรค”

ส่วน 4 กุมาร นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่เป็นผู้ก่อตั้งพรรคจะยังมีตำแหน่งรัฐมนตรีและกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคต่อหรือไม่

นายสมคิดโยนว่า “อยากรู้เรื่องอะไรให้ไปถาม 4 กุมาร”

ถือเป็นการ “วางระยะห่าง” จากพรรคอย่างจงใจ

จนทำให้คำขอว่าที่หัวหน้าพรรค ที่ว่า ให้สามัคคีกัน จะเป็นจริงหรือ

 

หรือแม้ว่าฝ่ายนายสมคิดและ 4 กุมาร ต้องไปจริง

คำถามว่า แล้วแกนนำ พปชร. 12 คนที่เข้าไปเชิญ พล.อ.ประวิตรขึ้นเป็นหัวหน้า เป็นเอกภาพและสามัคคีกันหรือไม่

ก็ยังยากจะมีคำตอบ

เพราะแต่ละฝ่าย แต่ละคน ต่างก็มีวาระที่จะช่วงชิงเก้าอี้รัฐมนตรีที่มีขึ้นทั้งสิ้น

เป็นที่คาดหมายว่า คงจะมีการโชว์พลังทั้งในส่วนตัว ในกลุ่ม ในมุ้ง อย่างหนักแน่นอน

ซึ่งตรงนี้เอง ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า นี่คือบรรยากาศของ “การเมืองเก่า”

ผู้เล่น โดยเฉพาะผู้ที่รายล้อมว่าที่หัวหน้าพรรค ก็ล้วนเป็นนักการเมืองหน้าเก่า ที่มีประวัติสอดแทรกตัวเข้าไปหาประโยชน์ทางการเมืองจากศูนย์อำนาจมาโดยตลอด

ไม่ว่าศูนย์อำนาจจะมีที่มาจากไหน ก็สามารถพลิกแพลงเข้าไปมี “เอี่ยว” ได้โดยตลอด

และหากผิดหวังก็พร้อมจะกลายเป็นปัญหาได้ทันที

 

ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่เพียงเฉพาะภายในพรรค พปชร.เท่านั้น พรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงพรรคเล็ก ต่างก็พร้อมช่วงชิง ต่อรอง เพื่อที่เข้าไปมีส่วนในอำนาจทั้งสิ้น

แม้ว่าขณะนี้ ภาวะเสียงปริ่มในรัฐบาลผสม จะคลายภาวะตึงเครียดลง

เพราะเสียง ส.ส.รัฐบาลมีมากกว่าเสียงของ ส.ส.ฝ่ายค้านกว่า 50 เสียง ทำให้อำนาจการต่อรองของพรรคร่วมลดลง

กระนั้น แต่ละพรรคต่างก็เคลื่อนไหว อย่างน้อยก็ต้องรักษาเก้าอี้เดิมเอาไว้ให้ได้ ขณะเดียวกัน ก็พร้อมจะยื้อแย่งเอาเก้าอี้เพิ่ม หรือที่ดีกว่าเดิม

ซึ่งรวมถึงพรรคเล็ก ที่ด้านหนึ่งบอกว่าจะไม่เรียกร้องอะไร แต่ก็มีการวมตัวยื่นข้อเสนอเพื่อแบ่งเค้กอย่างเข้มข้น โดยหวังว่าจะได้รับการดูแล หากไม่ได้ก็ย่อมไปสู่ปัญหาในอนาคตได้

แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะประกาศเสียงกร้าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การต่อรอง และนี่เป็นอำนาจที่ตัดสินใจเอง

แต่ก็ไม่รู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะมีอิสระในการตัดสินใจจริงเพียงใด

โดยเฉพาะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ที่กำลังถูกจับตามองว่า เมื่อนายสมคิดและทีม 4 กุมารต้องไป ใครจะมาแทน

“คนนอก” ที่มีรายงานข่าวว่านายกฯ ได้ทาบทามเอาไว้หลายคน ไม่ว่า นายปรีดี ดาวฉาย ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ อดีตผู้บริหาร พีทีที โกลบอล เคมิคอล นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีต รมช.คมนาคม อดีตผู้บริหาร ปตท. นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย อดีตประธานบอร์ด ปตท. และอดีตผู้บริหารธนาคาร เป็นต้น

จะสามารถดึงเข้ามาได้หรือไม่ เพราะไม่เพียงต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจเท่านั้น

หากแต่ยังต้องเผชิญ “นักการเมืองอาชีพ” ที่พร้อมจะเข้าไปแบ่งปันอำนาจการบริหารไม่ว่ากระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง เป็นต้น อยู่ตลอดเวลา

 

คําประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ว่า รัฐบาลจะทำให้ดีที่สุด ให้สมกับที่ประชาชนไว้วางใจมา

รวมทั้งจะนำประเทศไปสู่นิวนอร์มอล ภายใต้ยุทธศาสตร์ “รวมไทยสร้างชาติ”

จะเป็นจริงเพียงใด การปรับคณะรัฐมนตรีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นคำตอบ

แต่ภาพที่ปรากฏต่อสาธารณะ ดังภาพที่สมาชิกพรรค พปชร.จับมือประสานไปอัญเชิญ พล.อ.ประวิตรขึ้นสู่หัวหน้าพรรค

ดูจะไม่ได้สร้างความหวังอะไรนัก

เพราะล้วนแต่เป็นคนหน้าเก่า

วิธีการต่อรอง แก่งแย่งอำนาจก็ยังวงเวียนอยู่ในแนวทางเก่าเช่นกัน

มิได้ปรากฏ “การปฏิรูป” การเมือง อย่างที่อวดอ้างมาตั้งแต่การยึดอำนาจจนถึงบัดนี้ แต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน “อดีต” ยังตามมาหลอนเสียอีก

เป็นอดีตแห่งการสืบเนื่องของการเข้ามาแทรกแซงการเมืองของกองทัพ นับตั้งแต่การตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

มาจนถึงการเมืองปัจจุบัน ในยุคของพรรคพลังประชารัฐ ที่ดูเหมือนจะมีความพยายามลบภาพพรรคการเมืองทหาร

ด้วยการจัดพิธีกรรมเชิญ พล.อ.ประวิตรเข้าสู่การเมืองอย่างใหญ่โต

แต่ก็ไม่วายมี “ดราม่า” เนื่องจากสถานที่กระทำพิธีกรรมนั้น คือ ที่ทำการของมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ในหมูบ้านสวัสดิการทหารบก กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์

ภายใต้ร่มเงากองทัพอยู่นั่นเอง

ซึ่งนอกจากจะถูกวิจารณ์ว่าซ้ำรอยตั้งรัฐบาลในค่ายทหารแล้ว

ยังลากยาวออกไปอีก เมื่อมีผู้นำไปร้องกระทรวงมหาดไทยว่า มีการนำมูลนิธิเข้าไปยุ่งเกี่ยวการเมือง ขัดกับกฎหมาย

    เสียฤกษ์เสียยาม “รักสามัคคี” เฉยๆ ซะอย่างนั้น


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่