วิเคราะห์ : อย่าได้ใจแม้เลิกเคอร์ฟิว-คลายล็อกดาวน์แล้ว

การควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นอันดับต้นๆ ของโลกก็ดี การคลายล็อก ยกเลิกเคอร์ฟิวของรัฐบาล ทำให้ประชาชนทั้งหลายสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเกือบปกติ

ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยที่คิดถึงทะเล คิดถึงภูเขา รีบเดินทางไปสัมผัสแทบจะทันที

ก็เป็นเรื่องที่ควรดีใจ

แต่สำหรับเรื่องปากท้องการทำมาหากิน การทำธุรกิจ อย่าเพิ่งรีบดีใจเป็นอันขาด เพราะเกมยังไม่จบ

การเลิกจ้าง คนตกงานจำนวนหลักหลายล้านคน ในช่วงเวลาสั้นๆ ที่โควิด-19 แพร่ระบาด ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้เห็นได้บ่อยในระบบเศรษฐกิจ แต่มันได้เกิดขึ้นแล้ว

การที่คนเหล่านี้จะได้กลับเข้าไปทำงานแบบเดิมไม่ใช่เรื่องง่าย หนำซ้ำยังมีนักศึกษาจบใหม่อีกปีละ 4-5 แสนคน ยังมีจบอาชีวะ จบมัธยม หลายปีเยอะเข้าสู่ตลาดแรงงานในแต่ละปี

ธุรกิจขนาดเล็ก SME ซึ่งปกติจะมีสำรองเงินสดกันอยู่ประมาณ 2 เดือนหากไม่มีรายได้เข้ามา ลองนับนิ้วดูว่า ธุรกิจต้องหยุดมาตั้งแต่มีนาคม เมษายน พฤษภาคม ใครจะเป็นยังไง ใครจะรอดยังไง ใครหมู่ใครจ่า คาดการณ์ได้ไม่ยากนัก และก็รู้ผลกันแล้ว

แต่ที่กำลังลุ้นระทึกกัน ก็คือปัญหาหนี้เสีย

 

ในช่วงโควิด-19 ระบาด ธนาคารพาณิชย์เลื่อนการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้ 3-6 เดือน ก็ต้องมานับนิ้วกันอีกว่า ครบ 6 เดือนที่สิงหาคม ธุรกิจต่างๆ ต้องมาจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยคืนให้กับธนาคาร ตอนนั้นจะเป็นยังไง

ธุรกิจทั้งหมดนี้จะมีความสามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดกี่เปอร์เซ็นต์ ที่ชำระไม่ได้แบงก์จะมีการแก้ไขอย่างไร ก็ต้องรอดูมาตรการของแบงก์

แต่ที่แน่ๆ ไม่ต้องรอเลย ก็คือเมื่อเกิดหนี้เสียเพิ่มมากขึ้น แบงก์ก็จะควบคุมการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งรวมทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัย

ในช่วงการแพร่ระบาดที่ต้องล็อกดาวน์และประกาศเคอร์ฟิวนั้น

ตลาดคอนโดมิเนียม ซึ่งอยู่ในภาวะซัพพลายล้นความต้องการอยู่ก่อนแล้ว ก็เร่งระบายสต๊อกด้วยรูปแบบหลากหลาย และราคาที่ลดแล้วลดอีก

ผลปรากฏว่า ได้ผลดีพอสมควรในระยะแรก เพราะราคาที่ลดถูกจริง คุ้มค่าจริงจนคนมีเงินเก็บทนไม่ไหวต้องควักออกมาซื้อ แต่ก็ไปได้เพียงช่วงหนึ่ง เพราะคนที่มีเงินเก็บเงินออมก็มีจำนวนจำกัด ไม่สามารถซื้อได้เรื่อยๆ

ส่วนแนวราบในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ถือว่าดีเลยทีเดียว

คือมีคนเยี่ยมชมโครงการ มีลูกค้าจองซื้อในจำนวนที่เท่ากัน หรือใกล้เคียงกับภาวะปกติ (ซึ่งก็ต้องนับว่าดีแล้ว)

แต่ปัญหาที่แย่กว่าเดิมคือ อัตราการยื่นกู้ธนาคารผ่านต่ำลงกว่าเดิม

เพราะมีอาชีพที่ธนาคารกาดอกจันเพิ่มว่า มีปัญหาจำนวนมากขึ้นจากการแพร่ระบาด

 

จากนี้ไปสถานการณ์ตลาดอสังหาฯ จะเป็นอย่างไร เป็นประเด็นที่คนในแวดวงอสังหาฯ ตั้งคำถามกันตลอดเวลา ซึ่งก็ยังไม่มีคำตอบใดที่จะให้ความแน่ใจได้

นอกจากเตรียมรับมือกับ 2 ทิศทางความเป็นไปได้

ถ้าจากนี้ไปค่อยๆ ดีขึ้นเป็นลำดับ ก็ตามนั้นค่อยๆ ขึ้นโครงการไป ขายไป

หรือถ้าจากนี้ไปหนี้เสียระเบิดขึ้นมา แบงก์ปล่อยยากทั้งสินเชื่อโครงการและสินเชื่อรายย่อย กำลังซื้ออ่อนตัวลงไปกว่านี้อีก ก็ตัวเบาภาระน้อยสามารถประคับประคองธุรกิจผ่านไปได้

เพราะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นสินค้าราคาแพงสุดของผู้บริโภค จึงผูกติดกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศและของโลกอย่างเหนียวแน่น

กำลังซื้อในตลาดมากก็ขายได้มาก กำลังซื้อในตลาดน้อยก็ขายได้น้อย ตรงไปตรงมากำปั้นทุบดิน มีตัวช่วยทางจิตวิทยาบ้างเล็กน้อย ถ้าตลาดรู้สึกดียอดขายก็จะเกินกำลังซื้อจริงขึ้นไปหน่อยหนึ่ง ตรงข้ามถ้าตลาดขาดความมั่นใจ กำลังซื้อก็จะต่ำกว่ากำลังจริงลงมาหน่อยหนึ่งเช่นกัน

สุดท้ายจึงขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ และขีดความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลนั่นเอง

อมิตาภพุทธ

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่