กรณีอุ้มหาย “วันเฉลิม” ยิ่งบั่น เรื่องยิ่งยาว บทพิสูจน์ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้คุมเฉพาะโควิด

เป็นประเด็นที่องค์กรระดับโลกจับตาต่อเนื่องกรณีนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือต้าร์ ผู้ลี้ภัยการเมืองชาวไทย

ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์อุ้มขึ้นรถหายตัวไปในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ตั้งแต่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา

จากการที่ทั้งครอบครัวของวันเฉลิม กลุ่มนิสิต นักศึกษา นักประชาธิปไตย นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน และองค์กรนานาชาติที่ต่างออกมาร่วมเคลื่อนไหว

ทำให้ความสนใจจากทั่วโลกพุ่งเป้าไปยังรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา

ที่ต้องร่วมกันหาคำตอบว่า “ต้าร์ วันเฉลิม” ถูกอุ้มหายด้วยฝีมือใคร สาเหตุจากอะไร

หนึ่ง เพื่อให้สังคมหายคลางแคลงใจ

สอง เพื่อที่รัฐบาลจะได้เคลียร์ตัวเองว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

แต่ดูเหมือนความพยายามจากทุกฝ่ายจะไม่เป็นผลคืบหน้าเท่าใดนัก รัฐบาลไทยยังคงนิ่งเฉย ไม่ได้ทำสิ่งใดเป็นชิ้นเป็นอันกับปฏิบัติการอุกอาจที่เกิดขึ้นกับ “คนไทย” ผู้ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน

มิหนำซ้ำยังมีความพยายามทำลายความน่าเชื่อถือเหตุการณ์ ทำให้การหายตัวไปของวันเฉลิมดูด้อยค่า อ้างว่าปฏิบัติการอุ้มวันเฉลิมมีสาเหตุจากความขัดแย้งส่วนตัว เกี่ยวข้องกับหนี้สินและการค้ากัญชา

ทั้งที่มูลเหตุการลี้ภัยจากประเทศไทยของวันเฉลิมมาจากคดีความภายหลังการปฏิวัติยึดอำนาจของ คสช.ในเดือนพฤษภาคมปี 2557 ในความผิดฐานขัดคำสั่ง คสช. ไม่ยอมไปรายงานตัว และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ความเห็นที่ไม่ตรงกันนำมาสู่การเรียกร้องทั้งในสภาและนอกสภา ให้รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระตือรือร้นในการหาคำตอบให้กับสังคมไทยและสังคมโลก

 

ประเด็นการหายตัวไปของ “ต้าร์ วันเฉลิม” ถูกผลักดันเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร

เมื่อ น.ส.สิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม ยื่นหนังสือต่อนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับชะตากรรมน้องชาย

นอกเหนือจากนี้ นายรังสิมันต์ยังตั้งกระทู้ถามสดกรณีวันเฉลิม ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนฯ

“สังคมเคลือบแคลงว่าอาจมีเงื่อนงำ เพราะนายวันเฉลิมเป็นผู้ลี้ภัยจากเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 ถูกออกหมายจับเนื่องจากไม่ไปรายงานตัวต่อ คสช. และถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์”

แม้นายวันเฉลิมจะเป็นผู้ลี้ภัย แต่ก็เป็นคนไทยที่ต้องได้รับการคุ้มครอง แต่ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลไทยกลับไม่ใส่ใจช่วยเหลือติดตาม

เป็นนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศลุกขึ้นตอบชี้แจงว่า

“ผมเป็น รมว.ต่างประเทศมา 6 ปี เห็นปัญหาด้านความมั่นคงตั้งแต่ต้น แต่ไม่เคยได้เห็นชื่อนายวันเฉลิม จนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น”

และว่า

“อาจเพราะเป็นชื่อที่ไม่มีลำดับความสำคัญมากนักในแง่การต่างประเทศและความมั่นคง จึงไม่น่าเป็นผู้มีภัยคุกคามต่อความมั่นคง”

นายดอนยังกล่าวด้วยว่า กรณีที่เกิดขึ้นกำลังรอฟังคำตอบจากรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งกำลังเข้าไปตรวจสอบ รัฐบาลไทยทำได้อย่างมากแค่ฝากกัมพูชาช่วยติดตาม ตอบได้เพียงเท่านี้ ไม่สามารถพยากรณ์คาดเดาอะไรได้ล่วงหน้า

ขณะที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ชี้แจงแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า กระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลกัมพูชายังไม่ยืนยันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่

แต่กระทรวงยุติธรรมยืนยัน นายวันเฉลิมไม่เคยขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานกระทรวงยุติธรรม ดังนั้น จึงต้องดำเนินการไปตามกลไก กรณีอุ้มหายนายวันเฉลิมไม่สามารถตอบอะไรได้

เพราะเกิดขึ้นในขอบเขตอธิปไตยของประเทศกัมพูชา

 

คําตอบจากรัฐมนตรีตัวแทนรัฐบาลด้วยน้ำเสียงเย็นชาและท่าทีเมินเฉย

เป็นสิ่งสวนทางกับปฏิกิริยาจากองค์กรนานาชาติที่เริ่มหันมาให้ความสนใจ ติดตามเบื้องหลังปฏิบัติการอุกอาจข้ามชาติครั้งนี้

ภายในประเทศ สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ออกมาเรียกร้องและจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ผูกโบริบบิ้นสีขาวริมรั้วทำเนียบรัฐบาล อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และกระทรวงกลาโหม

อ่านแถลงการณ์ประณามการอุ้มหายวันเฉลิม ที่เวลาล่วงเลยมานานกว่า 10 วัน แต่การสืบหาติดตามตัวไร้ความคืบหน้า

จึงขอประณามการอุ้มหายนายวันเฉลิม รวมถึงการอุ้ม ลอบทำร้าย และลอบสังหารทุกกรณี อาทิ กรณีนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และพวก การลอบทำร้าย “จ่านิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ เป็นต้น ฯลฯ

สนท.เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดใช้ความรุนแรงต่อประชาชนผู้เห็นต่างทุกกรณี และเร่งรัดกระบวนการสืบสวนหาความจริง

เช่นเดียวกับกลุ่มอาจารย์และนักศึกษากลุ่มคบเพลิง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมทำกิจกรรมถามหาคำอธิบายจากรัฐบาลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ประกาศเจตนารมณ์ไม่เห็นด้วยกับการอุ้มคนเห็นต่าง หรือทำให้หายตัวไป

นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย พร้อมประชาชนจำนวนหนึ่งเดินทางไปสถานทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย

ยื่นหนังสือเรียกร้องให้ทางการไทยและทางการกัมพูชาชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการหายตัวไปของวันเฉลิม หลังผิดหวังกับท่าทีรัฐบาลที่ไม่เหลียวแล ทั้งที่มีหลักฐานชัดเจนจากกล้องวงจรปิดซึ่งบันทึกภาพรถคนร้ายไว้ได้

แทนที่จะได้รับคำชี้แจงจากรัฐบาล นายสมยศและนักกิจกรรมอีก 5 คน กลับได้รับหมายเรียกฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นการตอบแทน

เป็น พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่รัฐบาลอ้างว่าใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

แต่แล้วกลับมีการฉวยนำมาใช้ดำเนินการควบคุมประชาชนคนเห็นต่าง ที่ออกมาเรียกร้องถามหาความจริงในกรณีวันเฉลิม

อีกประเด็นน่าสนใจ นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีและผู้ลี้ภัยในต่างแดน ได้โพสต์เฟซบุ๊กเล่าถึงต้าร์ วันฉลิม “เพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกัน” ก่อนจะหายตัวไป

พร้อมระบุ 3 รายชื่อในบัญชีดำ ประกอบด้วย นายวันเฉลิม, พ.ต.อ.ศิวพงษ์ พัฒน์พงศ์พานิช และรายสุดท้ายคือตัวนายจักรภพเอง

หลังเกิดกรณีวันเฉลิม เป้าหมายจึงเหลือเพียงนายจักรภพคนเดียว

โดยเจ้าตัวเชื่อว่าจะไม่ใช่คนสุดท้ายจากปฏิบัติการนี้

 

ความเคลื่อนไหวจากองค์กรนานาชาติยังคงโฟกัสเหตุการณ์เกี่ยวกับ “วันเฉลิม”

ส่วนหนึ่งสะท้อนจากการที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชอาร์) ออกหนังสือระบุถึงการได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องในกรณีการหายตัวไปของวันเฉลิม

เพื่อขอให้ดำเนินการภายใต้มาตรา 30 ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บังคับบุคคลสูญหาย (ซีอีดี)

หลังการยื่นเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการตามอนุสัญญาฯ คณะกรรมการจึงส่งจดหมายไปยังประเทศกัมพูชา ให้ดำเนินการตามมาตรา 30 ภายใต้อนุสัญญาฯ ดังกล่าวในกรณีของนายวันเฉลิม

เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวจากองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับโลกอย่างฮิวแมนไรท์วอทช์ ที่พยายามจี้ถามและติดตามหาตัววันเฉลิม

นายสุณัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศไทย เผยว่าขณะนี้รัฐบาลกัมพูชาได้รับหนังสือสอบถามจากสถานทูตไทยแล้ว

รวมทั้งคณะกรรมการตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บังคับบุคคลสูญหาย (CED) องค์การสหประชาชาติ ก็รับเรื่องนี้ไว้แล้วเช่นกัน

พร้อมขีดเส้นรัฐบาลกัมพูชาต้องชี้แจงและมีคำตอบกลับมาภายในวันที่ 24 มิถุนายนนี้

จึงไม่มีข้ออ้างที่จะปฏิเสธไม่รับรู้หรือไม่สอบสวนการหายตัวไปของวันเฉลิม

 

เสียงสะท้อนผ่านการเคลื่อนไหวจากกลุ่มนิสิต-นักศึกษา และองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับโลกที่ยังคงจับจ้องเหตุการณ์อุ้มหายนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

ถือเป็นสิ่งท้าทายรัฐบาลสองประเทศ โดยเฉพาะรัฐบาลไทยซึ่งถือเป็นคู่กรณีของวันเฉลิมโดยตรง

ในการคลี่คลายข้อเท็จจริงทั้งหมดให้สังคมไทยและโลกได้รับรู้

แม้ยังคงมีความพยายามลดความน่าเชื่อถือกรณีอุ้มหายวันเฉลิม ไม่ว่าด้วยปฏิบัติการ “ไอโอ” หรือจากกลุ่มคนฝ่ายสนับสนุนผู้ครองอำนาจที่ไม่ยอมลดละ

แต่ปฏิกิริยาจากองค์กรนานาชาติ และกลุ่มเยาวชน นิสิต นักศึกษา ประชาชน นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย สื่อมวลชน ฯลฯ ที่ร่วมกันขับเคลื่อน ขยายวงกว้างเกินกว่าที่รัฐบาลคาดคิด

ถ้ารัฐบาลยังเพิกเฉยและประเมินเหตุการณ์นี้แบบไม่ให้ราคา หรือพยายามด้อยค่า

ทำเหมือนเรื่องไม่เคยเกิดขึ้น บ่ายเบี่ยงว่าไม่รู้จักคนชื่อ “วันเฉลิม”

ผลที่จะสะท้อนกลับมาอาจสะเทือนรุนแรงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่