กรองกระแส / บทบาท อำนาจอื่น บทบาท ประยุทธ์ จันทร์โอชา บทบาท ปรับ ครม.

กรองกระแส

 

บทบาท อำนาจอื่น

บทบาท ประยุทธ์ จันทร์โอชา

บทบาท ปรับ ครม.

 

ท่ามกลางภาวะปั่นป่วนในทางการเมือง ไม่ว่าจะภายในพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะภายในพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะภายในพรรครวมพลังประชาชาติไทย ก่อให้เกิดคำถามถึงการปรับ ครม.

ทุกคำถามรวมศูนย์ไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เป็นคำถามที่ไม่เพียงแต่ 1 จะปรับ ครม.หรือไม่ หากแต่ที่สำคัญอย่างที่สุดก็คือ 1 จะปรับอย่างไรให้เป็นที่พอใจของสังคม

คำถามนี้เหมือนจะยืนยันอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทุกอย่างดำเนินไปตามความเป็นจริงของกฎกติกาที่ว่า อำนาจในการปรับ ครม.เป็นของนายกรัฐมนตรี

ไม่ว่ายุคจอมพลถนอม กิตติขจร ไม่ว่ายุคของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ล้วนเป็นเช่นนี้

เมื่อมาถึงยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อำนาจย่อมอยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่มีทางเป็นอื่นไปได้

แต่คำถามที่ว่าเป็นอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังตามมา

 

ปัจจัยกดดัน

ต้องปรับ ครม.

ถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการปรับ ครม.หรือไม่ หากสำรวจท่าทีนับแต่ภายหลังญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจเป็นต้นมา

ไม่ปรากฏท่าทีใดอันแสดงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการปรับ ครม.

ยิ่งเมื่อประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยิ่งเป็นเงื่อนไขให้ไม่เพียงแต่จะยืดอายุการประกาศและบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินออกไปเท่านั้น

หากแต่ยังยืนกรานว่าจะไม่ปรับ ครม.ในเวลาอันเร็วนี้อย่างแน่นอน

แต่แล้วเมื่อเกิดปรากฏการณ์การยื่นใบลาออกจากตำแหน่งของ 18 กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐก็เกิดเป็นประเด็น

เป็นคำถามว่าจะต้องมีการปรับ ครม.

ยิ่งกว่านั้น ปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ยังลามไปเกิดขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์ ปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ยังไปเกิดขึ้นในพรรครวมพลังประชาชาติไทย

ทำให้เกิดปัจจัยที่จะต้องมีการปรับ ครม.อย่างไม่มีหนทางหลีกเลี่ยงได้

 

ปัจจัยอำนาจอื่น

นำไปสู่ปรับ ครม.

สังคมเริ่มสัมผัสได้อย่างเด่นชัดว่า ปัจจัยในการปรับ ครม.มิได้มาจากความต้องการหรือไม่ต้องการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงผู้เดียว

แม้จะเป็นอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีก็ตาม

เพราะว่าการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ย่อมสัมพันธ์กับการดำรงอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

นี่ย่อมเป็นเช่นเดียวกับกรณีของพรรคพลังประชารัฐ

เพราะว่าหากตำแหน่งหัวหน้าพรรคมิได้เป็นของนายอุตตม สาวนายน เพราะว่าหากตำแหน่งเลขาธิการพรรคมิได้เป็นของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เสียแล้ว

ตำแหน่งรัฐมนตรีที่ยึดครองอยู่ก็จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง

เปลี่ยนแปลงให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย เปลี่ยนแปลงให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

ทุกอย่างจึงเป็นไปตาม “ระบบโควต้า” ในทางการเมือง

 

อำนาจปรับ ครม.

ของนายกรัฐมนตรี

ในทางเป็นจริงภายในกระบวนการปรับ ครม. ไม่ว่าในยุคของจอมพลถนอม กิตติขจร ไม่ว่าในยุคของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงไม่เคยเป็นของนายกรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว

แม้ในทาง “หลักการ” จะกำหนดเอาไว้เช่นนั้นก็ตาม

จากความเป็นจริงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประสบด้วยตนเองนับแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมาก็พิสูจน์อย่างเด่นชัดว่า

สภาวะและความเป็นไปมิได้เป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หากแต่มีผลสะเทือนมาจากภายในพรรคพลังประชารัฐ หากแต่มีผลสะเทือนมาจากภายในพรรครวมพลังประชาชาติไทย

และรวมถึงผลสะเทือนมาจากภายในพรรคประชาธิปัตย์ด้วย

ผลสะเทือนนี้มิได้จำกัดแต่เพียงว่าจะปรับหรือไม่ปรับ ครม.เท่านั้น หากแต่ยังอยู่ที่ว่าจะมีกระบวนการในการปรับอย่างไร

เหมือนกับจะเป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

 

บทบาทอำนาจอื่น

กับการปรับ ครม.

ในเดือนมิถุนายน 2562 เหมือนกับว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีสิทธิกำหนดตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

แต่จากสถานการณ์ในเดือนมิถุนายน 2563 อำนาจนั้นยังมีอยู่หรือไม่

ความเป็นจริงก็คือ อำนาจจากภายในพรรคพลังประชารัฐจะเป็นตัวกำหนด อำนาจจากภายในพรรครวมพลังประชาชาติไทยจะเป็นตัวกำหนด อำนาจจากภายในพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นตัวกำหนด

           เป็นอำนาจ “อื่น” มิใช่อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

 

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่