นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ภาษาเขียนที่เปลี่ยนไป

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ก่อนหน้าที่จะมีการศึกษามวลชนและการพิมพ์ด้วยตัวเรียง (movable print) เอกสารตัวเขียนมีราคาแพงมาก ไม่ว่าจะเขียนบนหิน, กระดาษ, ใบลาน หรือหนังสัตว์ ล้วนต้องใช้ “ช่าง” ซึ่งมีความชำนาญในการทำให้หมึกหรือร่องรอยติดบนวัสดุที่ต้องการเขียนได้คมชัดพอสมควร และแน่นอนต้องอ่านออกเขียนได้

ผมเข้าใจว่า ด้วยเหตุดังนั้น การสื่อความด้วยสัญลักษณ์จึงใช้กันมากในทุกวัฒนธรรม เช่น ดอกไม้แทนความรัก, อาวุธแทนความเกลียดหรือความแค้น, ผ้าเช็ดหน้าคือการตอบรัก, ให้ของลับคือด่า ฯลฯ เพราะนอกจากตัวหนังสือมีราคาแพงแล้ว คนส่วนใหญ่ยังอ่านหนังสือไม่ออกอีกด้วย ถึงจะอ่านออกเขียนได้อยู่คนเดียว ก็ไม่รู้จะสื่อความด้วยตัวหนังสือกับใคร จนถึงทุกวันนี้ ตัวตุ๊กตุ่นที่เรียกว่าอีโมติคอนก็ยังมีบทบาทอยู่ไม่น้อยในการสื่อความผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

แม้แต่เมื่อจีนประดิษฐ์การ “พิมพ์” ขึ้นได้ด้วย แผ่นไม้หรือหินแกะสลักเป็นตัวหนังสือกลับด้าน เพื่อเอากระดาษมาทาบทับหมึกอีกทีหนึ่งแล้ว เอกสารตัวเขียนก็ยังถูกลงไม่มากนัก ที่สำคัญคือตลาดของผู้จะอ่านก็ยังแคบอยู่เหมือนเดิม เพราะคนส่วนใหญ่อ่านหนังสือไม่ออก

แม้กระนั้น นวนิยายก็เกิดขึ้นได้ในจีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, เวียดนาม ซึ่งรับเทคโนโลยีนี้ไปใช้ก่อนคนอื่นในเอเชีย แสดงว่าการพิมพ์หินซึ่งแม้จะงุ่มง่ามอย่างไร และการมีคนอ่านหนังสือออกได้มากขึ้น สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไพศาลได้เพียงไร

เพราะมันแพงและมีคนใช้ประโยชน์น้อย ตัวเขียนจึงเก็บไว้ใช้กับเรื่องที่คนสมัยนั้นเห็นว่าสำคัญยิ่งยวดเท่านั้น เช่น คัมภีร์ศาสนา, กฎหมาย, วรรณกรรมราชสำนัก, พระราชพงศาวดาร, บัญชีทรัพย์สมบัติ และเอกสารเพื่อการบริหารซึ่งมีน้อยนิดเดียวถ้าเทียบกับปัจจุบัน ดังนั้น แหล่งผลิตเอกสารตัวเขียนในสมัยโบราณจึงมีอยู่เพียงสองแหล่งคือราชสำนักและวัด ถ้าจะมีใครอ่านออกเขียนได้ ก็ล้วนมาจากสองแหล่งนี้ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม (เช่น ลูกขุนนางถูกส่งไปเรียนหนังสือเพื่อเข้ารับราชการภายหน้า)

เพราะตัวหนังสือมีน้อย ซ้ำยังใช้เขียนอะไรที่สำคัญยิ่งยวด มันจึงเฮี้ยนมาก คือมีฤทธิ์อื่นๆ มากกว่าการสื่อความ และเป็นฤทธิ์ที่สำคัญกว่าการสื่อความแก่คนทั่วไปซึ่งอ่านหนังสือไม่ออกด้วย เอกสารตัวเขียนที่วัดผลิตขึ้นจำนวนไม่น้อยถูกนำมาเผาเพื่อเอาเถ้าไปผสมทำยา

ไม่เฉพาะแต่ชาวบ้านที่อ่านหนังสือไม่ออกเท่านั้น รัฐทั้งหลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รบชนะใครแล้ว ก็ชอบที่จะยกเอาศิลาจารึกจากประเทศผู้แพ้มาตั้งโชว์ในเมืองหลวงของตน แม้ไม่มีใครอ่านข้อความบนจารึกออกก็ตาม แต่เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของ “ขวัญ” (palladium) ของเมืองที่ปราบได้ จึงต้องนำเอามาข่มไว้

ในสังคมโบราณ ตัวเขียนจึงเป็นเครื่องมือสื่อสารของคนจำนวนน้อยมาก คือของนักบวชและราชสำนักเท่านั้น ภาษาเขียนจึงพัฒนาไปในทางที่เป็น “ในแบบ” มากขึ้นทุกที จนแม้แต่เมื่ออ่านให้ชาวบ้านฟัง ก็ไม่รู้เรื่องหรือจับความไม่ได้ เพราะปะปนด้วยภาษาต่างประเทศที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เสียจนเต็มไปด้วยคำอันไม่รู้ความหมายเสียส่วนใหญ่

ในยุโรปใช้ภาษาละตินหรือกรีกไปเลย เป็นอันว่าชาวบ้านไม่ต้องรู้เรื่องก็ได้ ในจีนเมื่อไรที่เป็นภาษาเขียน เมื่อนั้นก็ต้องใช้ภาษาจีนในแบบ (Classical Chinese) นิยามอย่างเคร่งครัดคือภาษาเขียนจีนที่ใช้ตั้งแต่บรมสมกัลป์จนถึงสิ้นราชวงศ์ฮั่น แต่ภาษานี้ถูกใช้เขียนต่อมาและเปลี่ยนแปลงไปบ้าง จนกลายเป็นภาษาที่ไม่เหมือนภาษาปากของคนทั่วไป ทั้งศัพท์และไวยากรณ์ จนแทบจะกลายเป็นภาษาต่าง?ประเทศ พวกก๊กมินตั๋งยังใช้ภาษานี้เป็นภาษาราชการมาจนถึง 1970 แต่ที่ทำได้ก็เพราะ เมื่อมีการศึกษามวลชนแล้ว เด็กมัธยมต้นและปลายต้องเรียนภาษาจีนในแบบ เพื่อให้อ่านออก แม้อาจเขียนไม่ได้

ภาษา “ในแบบ” ของไทยไม่ต่างมากขนาดนั้น แต่ผมจำได้ว่า เมื่อถูกบังคับให้อ่าน “พระปฐมสมโพธิกถา” เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย แม้ได้เรียนภาษาไทยจนจบชั้นมัธยมปลายแล้ว ก็ยังต้องจดคำแปลศัพท์ภาษาบาลีที่ใช้ในงานนิพนธ์แทบจะทุกบรรทัดจึงอ่านรู้เรื่อง ผมเพิ่งมาพบในหนังสือที่เกี่ยวกับกัมพูชาเล่มหนึ่งว่า ภาษาเขมรก็เป็นอย่างนั้น คือมีภาษา “ในแบบ” ที่คนทั่วไปอ่านไม่รู้เรื่องเหมือนกัน ภาษาชวามีภาษาทางวรรณกรรมเรียกว่า “กาวี” ไม่แต่เพียงอยู่ในรูปคำประพันธ์เท่านั้น แต่ยังใช้ศัพท์แสงและสำนวนที่ชาวบ้านชวาอ่านไม่รู้เรื่องตลอดเหมือนกัน

แต่เมื่อการศึกษาขยายตัวจนกลายเป็นการศึกษามวลชน คือคนจำนวนมากได้เล่าเรียนเหมือนๆ กัน ภาษาเขียนจึงกลายเป็นเครื่องมือการสื่อสารที่ใช้กันแพร่หลาย ทั้งความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ, สังคมและการเมือง บังคับให้ต้องใช้ภาษาเขียนสื่อสารกันมากขึ้น ภาษาเขียนจึงไม่เป็นสมบัติของชนชั้นสูงกลุ่มน้อยอีกต่อไป ก่อให้เกิดภาษาเขียนที่เป็น vernacular ขึ้นมา

ผมไม่ทราบว่าจะแปลคำ vernacular เป็นภาษาไทยว่าอะไรดี พจนานุกรมอังกฤษ-ไทยทั่วไปมักแปลว่า ภาษาพื้นเมือง หรือภาษาถิ่น นับเป็นคำแปลที่ถูกต้องหากใช้ในบริบทของยุโรป คือเดิมใช้ภาษาละติน แล้วเปลี่ยนมาใช้ภาษาอังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, ดัตช์ ฯลฯ อันเป็นภาษาที่ประชาชนในพื้นถิ่นพื้นเมืองใช้กันอยู่ แต่เอามาใช้กับเอเชียได้ยาก เพราะทั้งภาษาในแบบและภาษา vernacular ก็เป็นภาษาเดียวกัน vernacular เอเชียไม่เหมือน vernacular ยุโรป

และผมขอแปลแบบขอไปทีว่า “ภาษาบ้าน” แม้ผมรู้ดีว่า ใน “ภาษาบ้าน” ยังมีความแตกต่างระหว่างภาษาพูดและภาษาเขียนอยู่ดี แต่ความแตกต่างนี้กำลังอันตรธานไปในยุคที่ทุกคนเข้ามาเขียนอะไรบนสื่อออนไลน์ให้คนอื่นเห็น (ผมไม่ทราบว่าครูสอนเรียงความในปัจจุบันเผชิญกับการอันตรธานนี้อย่างไร… หากไม่ยอมเปลี่ยนอะไรเลย เรากำลังสร้างภาษาในแบบขึ้นใหม่อีกแล้วหรือ)

การเกิดภาษาเขียนที่เป็นภาษาบ้านนั้นเป็นผลมาจากการ “เปิด” สังคมทั้งสังคมให้มีคนเข้ามาแสดงบทบาทต่างๆ ได้กว้างขวางอย่างเหลือคณานับ แม้ยังไม่ใช่คนส่วนใหญ่ก็ตาม หากภาษามีส่วนในการกำกับความคิด ภาษาในแบบทั้งหลายที่เคร่งครัดและมีกฎเกณฑ์หยุมหยิมก็น่าจะเป็นผลให้เกิดกรอบบางอย่างขึ้น ที่กำหนดว่าคนในภาษานี้พึงคิดไปได้ไกลสุดแค่ไหน

คนที่เข้ามาใช้ภาษาชาวบ้านเป็นตัวเขียนนั้นคือคนหน้าใหม่ในระบบ เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ใช้ภาษาในแบบแล้ว ก็ถือว่ามากกว่ากันมาก ในที่สุดจึงเป็นผู้กำหนดภาษาเขียนขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นภาษาที่มีประสิทธิภาพในการสื่อความสูงอย่างที่ภาษาเขียนไม่เคยทำได้มาก่อนเลย แม้ไม่แสดงสถานภาพทางสังคมของผู้เขียนเลย

นั่นหมายความว่าคนหน้าใหม่เหล่านี้มีอะไรจะสื่อสารกันเองมาก รวมทั้งมีอะไรจะสื่อสารแก่ประชาชนในวงกว้างมากเหมือนกัน ผิดจากภาษาในแบบซึ่งสื่อความได้เฉพาะในกลุ่มเล็กๆ และไม่มุ่งจะสื่อความอะไรแก่คนส่วนใหญ่ด้วยตัวเขียนเลย

สิ่งที่ผมอยากย้ำไว้โดยสรุปก็คือ ภาษาบ้านไม่ได้ “เปิด” ภาษาใหม่ขึ้นเท่านั้น แต่เปิดสังคมทั้งสังคมให้ตาสว่างขึ้น ในเรื่องนี้บ้าง เรื่องนั้นบ้าง ภาษาบ้านจึงเป็นการปฏิวัติอันยิ่งใหญ่ในทุกสังคม โดยไม่เสียเลือดเนื้อเป็นส่วนใหญ่

น่าอัศจรรย์อยู่ที่ในประเทศไทย การสร้างและขยายภาษาบ้านกลายเป็นบทบาทของชนชั้นนำตามประเพณี หมายถึงเจ้านายและขุนนางที่เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครองสืบเนื่องมาจากอดีต พระราชบัญญัติใน ร.4 ใช้ภาษาที่แตกต่างจากพระราชบัญญัติทั้งหมดที่เคยมีมาในกฎหมายไทย เพราะท่านทรงเขียนเอง ในขณะที่แต่โบราณนั้นมีเสมียนยกร่าง เจ้ากระทรวงตรวจแก้ นำขึ้นอ่านถวาย และกษัตริย์ทรงตกแก้ด้วยปากเปล่า เสมียนนำเอาไปเขียนใหม่แล้วผู้ใหญ่ (เจ้ากระทรวง หรือกษัตริย์ในบางรัชกาล) ตรวจทาน เป็นภาษา “ในแบบ” ที่เรียบร้อยเป๊ะ

แต่พระราชบัญญัติที่ออกใน ร.4 ทรงเขียนเอง และทรงเขียนด้วยภาษาบ้าน ไม่อยู่ในแบบแท้

ใน ร.4 นั้นเกิดการพิมพ์แบบตัวเรียงขึ้นแล้ว และน่าจะทรงทราบดีว่า ภาษาเขียนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ดังไกลที่สุดเท่าที่เคยมีมา คือดังข้ามพื้นที่ ข้ามยุคสมัย และข้ามวัฒนธรรมด้วยซ้ำ เพราะจะต้องถูกแปลในรูปใดรูปหนึ่งเมื่อนำไปใช้กับผู้คนที่ไม่ได้พูดไทยกรุงเทพฯ

ผมคิดว่าภาษาบ้านไทย ตกอยู่ในกำกับควบคุมของชนชั้นสูงสืบต่อมาอีกครึ่งศตวรรษ เราอาจกล่าวได้ว่างานพิมพ์ในภาษาเขียนแบบบ้านเช่นนี้ คืองานพิมพ์ส่วนใหญ่ (จนแทบจะเป็นเกือบทั้งหมด) ของหนังสือและสิ่งพิมพ์ไทยตลอดมา แม้มีสามัญชนซึ่งมีความคิดเห็นบางด้านไม่ตรงกับหลักการของชนชั้นสูงนัก เช่น ก.ศ.ร.กุหลาบ หรือ ต.ว.ส. วรรณาโภ หรือหมอบรัดเลย์ ถึงอย่างไรก็ต้องผลิตงานเขียนตามอย่างภาษาบ้านที่ชนชั้นสูงสร้างขึ้น (ไม่ว่าจะดูจากศัพท์, สำนวน, ความเปรียบ, การเลือกคำ ฯลฯ)

จนถึงหลังทศวรรษที่ 2 ของคริสต์ศตวรรษที่ 20 แล้วนั่นแหละ จึงมีงานเขียนด้วยภาษาบ้านของคนแปลกหน้านอกวงของคนชั้นสูงเพิ่มขึ้น ผมคิดว่าเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของภาษาบ้านไทยเพิ่มมากขึ้น ในแง่ศัพท์แสง, สำนวน, ความเปรียบ ฯลฯ รวมทั้งอิทธิพลจากภาษาจีนและฝรั่งผ่านนิยายแปลด้วย

แม้กระนั้น ภาษาบ้านไทยที่ชนชั้นสูงสร้างและพัฒนาขึ้นก็ยังอยู่ ถูกยกขึ้นเป็นแบบอย่างของภาษาไทยที่ดี (ในพระราชนิพนธ์ เช่น ไกลบ้าน, หรือพระราชพิธีสิบสองเดือน ฯลฯ) แม้ไม่มีใครเขียนภาษาไทยอย่างนั้นอีกแล้ว แต่ถูกนำมาสืบลมหายใจไว้ในระบบการศึกษา ในขณะที่ภาษาบ้านไทยที่เกิดขึ้นหลังทศวรรษ 1910 ตกจากมาตรฐานของภาษาที่ดี เพราะเป็น “ภาษาหนังสือพิมพ์” หรือ “สวิงสวาย” เกินไป

ดังนั้น แม้ภาษาบ้านกลายเป็นภาษาไทยเดียวที่ใช้ในการสื่อสารผ่านตัวเขียน แต่แตกต่างจากภาษาบ้านของเพื่อนบ้าน เพราะยังอยู่ในความควบคุมของชนชั้นนำสืบมาอีกนาน มาตรฐานบางอย่างของภาษาในแบบยังเป็นกรอบที่กำกับควบคุมทั้งการสื่อสารและความคิดอยู่ลึกๆ ในภาษาเขียนของคนไทย

ในกัมพูชา, เวียดนาม, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ผู้ที่สร้างและพัฒนาภาษาบ้านขึ้นเป็นภาษาเขียนคือคนแปลกหน้า นอกระบบหรืออย่างน้อยก็อยู่ชายขอบของระบบเก่า หนังสือภาษามลายูที่เขียนด้วยภาษาบ้านและกลายเป็นแบบให้แก่ภาษาบ้านที่เป็นตัวเขียนในมาเลเซียสืบมาคือ Hikayat Abdullah เขียนโดยชาวมลายูเชื้อสายอินเดียด้วยซ้ำ เช่นเดียวกับในอินโดนีเซีย ภาษาบ้านมลายูที่ปรากฏเป็นตัวเขียนครั้งแรกคือสำนวนแปลนิยายจีนที่มีตลาดพอจะพิมพ์ขายได้ แน่นอนว่าแปล, เขียน และพิมพ์โดยชาวพื้นเมืองเชื้อสายจีน

ภาษาบ้านที่เป็นตัวเขียนของเวียดนามใช้อักษรที่คิดขึ้นโดยนักบวชฝรั่ง เพื่อเผยแผ่ศาสนา และได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลอาณานิคม ซึ่งเมื่อตัวอักษรนี้ได้แพร่หลายผ่านการศึกษามวลชนแล้วก็แทบจะหาคนที่อ่านภาษาเวียดนามที่เขียนด้วยตัวอักษรจีนออกแทบไม่ได้ อิทธิพลของภาษาในแบบจึงไม่อาจทิ้ง “อำนาจ” อะไรไว้ได้มากนัก

และดังที่ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ข้างต้นว่า ภาษาบ้านที่เป็นตัวเขียนของไทยได้เปลี่ยนไปเป็นภาษาปากอย่างยากจะแยกออกจากกันได้ เพราะสื่อออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนใช้ภาษาเขียนเพื่อสื่อสารกับคนอื่นในวงกว้างได้เท่าเทียมกัน ผมคิดว่านี่เป็นการปฏิวัติทางภาษาครั้งใหญ่ในภาษาไทย และสะท้อนว่าสังคมไทยกำลังจะเปลี่ยนครั้งใหญ่เช่นกัน

เพราะไม่มีความเปลี่ยนแปลงทางภาษาใดๆ ที่ไม่ได้เป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และไม่มีความเปลี่ยนแปลงทางภาษาใดๆ ที่จะไม่เป็นเหตุให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมตามมา


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่