คนของโลก : จอร์จ ฟลอยด์ “ยักษ์ใหญ่ใจดี” สู่สัญลักษณ์การต่อสู้การเหยียดผิว

จอร์จ ฟลอยด์ ชาวแอฟริกัน-อเมริกัน วัย 46 ปี ผู้ที่เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาว เวลานี้กลายเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้กับการเหยียดผิวและการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจสหรัฐกับคนผิวสีไปแล้วในเวลานี้

ด้วยความสูง 193 เซนติเมตร ฟลอยด์เป็นที่รู้จักของเพื่อนและคนในครอบครัวในฐานะ “ยักษ์ใหญ่ใจดี” อดีตแร็พเปอร์และนักกีฬา ผู้ที่แม้ต้องผ่านการถูกดำเนินคดีและการติดยามาแล้ว แต่ก็เป็นพ่อที่ต้องการมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก

แม่ของฟลอยด์ คนที่ฟลอยด์ร้องเรียกหาในวันที่เขาเสียชีวิต ในเมืองมินนีแอโปลิส เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ย้ายมาอยู่ในเมืองฮุสตัน ในรัฐเท็กซัส ไม่นานหลังจากฟลอยด์เกิดที่รัฐนอร์ธแคโรไลนา เมื่อปี ค.ศ.1973

ฟลอยด์เติบโตขึ้นมาในชุมชน “เธิร์ดวอร์ด” ย่านชาวแอฟริกัน-อเมริกันฐานะยากจนใจกลางเมืองฮุสตัน

“เราไม่ได้มีเพื่อนมากนัก แต่เรามีกันและกันเสมอ” ชารีดูห์ เทต ลูกพี่ลูกน้องของฟลอยด์ระบุในงานรำลึกที่จัดขึ้นที่เมืองมินนีแอโปลิส เมื่อสัปดาห์ก่อน

เวย์เนล เซ็กซ์ตัน ครูประจำชั้นประถม 2 ของฟลอยด์ ระบุกับเอเอฟพีว่า ฟลอยด์ในวัย 7 ขวบ มีความฝันอยากที่จะเป็น “ผู้พิพากษาศาลสูง” ในวันใดวันหนึ่ง

ที่โรงเรียนมัธยมเจคเยตส์ ฟลอยด์รับบทบาทเป็นพี่ใหญ่ให้กับเด็กท้องถิ่นหลายๆ คน

“เขาสอนพวกเราให้รู้จักการเป็นชายเต็มตัว เพราะเขาอยู่ในโลกใบนี้มาก่อนเราแล้ว” ฟิโลนีส ฟลอยด์ น้องชายระบุในงานรำลึก

ฟลอยด์โดดเด่นในสนามอเมริกันฟุตบอล และหันมาเล่นบาสเกตบอลในช่วงชีวิตมหาวิทยาลัย

“เขาเป็นสัตว์ประหลาดในสนาม แต่ในชีวิตจริงเขาเป็นคนธรรมดาทั่วไป พูดคุยกับผู้คน เป็นยักษ์ใหญ่ใจดี” ฟิโลนีสระบุ

ฟลอยด์ลาออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อกลับมายังเมืองฮุสตันเพื่อช่วยครอบครัว

 

ในปี 1990 ฟลอยด์เข้าสู่วงการฮิปฮอป ในชื่อฉายา “บิ๊กฟลอยด์” ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ฟลอยด์หนีไม่พ้นความวุ่นวายในโลกใต้ดินของเมืองฮุสตัน จนทำให้ต้องถูกจับกุมหลายครั้งในคดีลักทรัพย์และค้ายาเสพติด และเคยติดคุกเป็นเวลา 4 ปีในข้อหาใช้อาวุธปล้นทรัพย์

หลังออกจากคุก ฟลอยด์หันหน้าเข้าหาศาสนา ร่วมทำงานกับบาทหลวงในย่าน “เธิร์ดวอร์ด” ใช้ชื่อเสียงในทางไม่ดีที่ผ่านมาและความรักในกีฬาบาสเกตบอล ดึงดูดวัยรุ่นเข้าสู่โบสถ์ ที่ฟลอยด์รับหน้าที่สอนศาสนา พร้อมๆ กับการสอนบาสเกตบอลให้เด็กๆ

ฟลอยด์ย้ายมายังเมืองมินนีแอโปลิสในปี 2014 เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ และหางานที่มั่นคงทำเพื่อช่วยแม่และเลี้ยงลูกสาวอย่าง “จีอันนา” ที่เพิ่งลืมตาดูโลก

ฟลอยด์ทำงานเป็นคนขับรถบรรทุก ก่อนจะเป็นการ์ดในสถานบันเทิง ก่อนจะตกงานเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19

“ผมมีปมด้อยและมีข้อเสีย และผมไม่ได้ดีกว่าใครเลย” ฟลอยด์เขียนในอินสตาแกรมเมื่อปี 2017

ฟลอยด์เขียนต่อว่า “แต่เฮ้พวก การยิงกันที่เกิดขึ้น ผมไม่ได้สนใจว่าคุณจะมีศาสนาอะไรเลย หรือคุณมาจากไหน ผมรักคุณ และพระเจ้ารักคุณ วางปืนลงเถอะพวก”

 

อย่างไรก็ตาม ฟลอยด์เสียชีวิตลงในวันที่ 25 พฤษภาคม จากการขาดอากาศหายใจผลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เข่ากดลงที่ท้ายทอยขณะที่ฟลอยด์ถูกใส่กุญแจมือและถูกกดลงกับพื้นถนน คลิปเหตุการณ์ที่มีคนถ่ายเอาไว้ได้กลายเป็นคลิปไวรัลไปทั่วโลก

ฟลอยด์เพียงแค่เดินไปซื้อบุหรี่โดยใช้ธนบัตรปลอมมูลค่า 20 ดอลลาร์ และเพิ่งกินยาเฟนทานิล ยาแก้ปวดในกลุ่มโฮปิออยด์ ที่มีฤทธิ์บรรเทาปวด

คำพูดสุดท้ายของฟลอยด์ระบุว่า “ผมหายใจไม่ออก” และภาพของฟลอยด์ถูกนำเสนอไปทั่วโลกในฐานะสัญลักษณ์และตัวแทนการเรียกร้องสิทธิของชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันในสหรัฐอเมริกา

แม้ร่างของฟลอยด์จะถูกฝังลงเคียงข้างแม่อย่าง “ลาร์เซเนีย” หรือที่ฟลอยด์เรียกว่า “ซิสซี่” ชื่อที่ฟลอยด์สักเอาไว้บนหน้าอกของตัวเอง

แต่ฟลอยด์ในฐานะสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อสิทธิคนผิวสี และการต่อต้านความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะยังคงโลดแล่นต่อไป จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคมอเมริกันอย่างแท้จริงอย่างแน่นอน

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่