ศัลยา ประชาชาติ : รุมจองเค้กงบฯ 4 แสนล้าน ชำแหละโปรเจ็กต์พิสดาร อ.ต.ก.ไอเดียกระฉูด 1.4 หมื่นล้าน

ถึงเวลานี้ การจัดเตรียมงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบไวรัสโควิด-19 จำนวน 4 แสนล้านบาท ที่ตัดออกมาจากยอดเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท กำลังเป็นวาระร้อนแรงทุกกระทรวง

หลัง “พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์” ส.ส.พรรคก้าวไกล แฉกลางสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างการอภิปราย พ.ร.ก.เงินกู้ 3 ฉบับว่าจะมีการจัดสรร แบ่งปันงบประมาณที่จะลงสู่จังหวัดให้กับ ส.ส.คนละ 80 ล้านบาท

แรงกระเพื่อมส่งถึง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ต้องออกมาการันตี

“ขอให้มั่นใจว่าผมในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ผมป้องกันการทุจริตอย่างเด็ดขาด”

ขณะที่โครงการการใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท มีโครงการอยู่ในแฟ้มแล้วถึง 28,425 โครงการ วงเงิน 590,000 ล้านบาท

 

ก่อนโครงการจะถึงมือกรรมาธิการ มีโครงการที่แต่ละกระทรวงจะต้องจับจอง-ชิงเค้ก 4 แสนล้านบาท ที่ปรากฏโปรเจ็กต์นำเสนอเข้ามาจาก อาทิ กระทรวงมหาดไทย จองโครงการจ้างงานในพื้นที่, กระทรวงคมนาคม จองงบฯ พัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง-โลจิสติกส์ 4 หมื่นล้าน

ขณะเดียวกันก็ปรากฏรายการพิสดารของ “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” โดยองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ภายใต้การกำกับ-บริหารของ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รมช.เกษตรฯ

เกิดโปรเจ็กต์ที่อ้างอิงผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ใช้ชื่อโครงการว่า “ไทยเที่ยวไทย ช่วยไทย” มีเค้าโครงเสนอรายการงบประมาณ พร้อมด้วยรายละเอียดแนบท้าย

โดยต้นเรื่องคือ “อ.ต.ก.” ส่งหนังสือเชิญไปยังผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม-สายการบิน ให้เข้าร่วมประชุมหารือในวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ถึงโครงการ

รายละเอียดโครงการถูกแจกแจงว่า “ให้ใช้สินค้าเกษตรแลกห้องพักในโรงแรม จำนวน 10 ล้านห้อง และตั๋วเครื่องบินเพื่อแจกให้ประชาชนร่วมเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย”

แม้ว่า “อ.ต.ก.” จะปราศจากความเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว แต่ข้อเสนอกลับระบุว่า “อ.ต.ก.จะใช้สินค้าเกษตรประเภทพืชผัก/ผลไม้/ผลไม้แปรรูป-ข้าวสาร-ที่นอน-หมอนยางพารา และสินค้า OTOP ตีราคาเป็นมูลค่าเพื่อแลกเปลี่ยนห้องพักในโรงแรมในอัตราครึ่งต่อครึ่ง”

โดย อ.ต.ก.จะทำการเช่าห้องพักโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 10 ล้านห้องพัก จากผู้ประกอบกิจการโรงแรมทั่วประเทศ ด้วยเงื่อนไขดังนี้

1) โรงแรมระดับ 2-3 ดาว ราคาห้องพักไม่เกิน 2,000 บาท/ห้อง/วัน อ.ต.ก.จ่ายเงินให้โรงแรม 1,000 บาท/ห้อง/วัน โดยจ่ายเป็นเงินสด 500 บาท และจ่ายเป็นสินค้าเกษตรมูลค่า 500 บาท โดยจำนวนห้องพักที่จะใช้อยู่ที่ 5 ล้านห้อง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาท

2) โรงแรมระดับ 4-5 ดาว ราคาห้องพักไม่เกิน 2,000 บาท/ห้อง/วัน อ.ต.ก.จ่ายเงินให้โรงแรม 1,500 บาท/ห้อง/วัน จ่ายเป็นเงินสด 750 บาท และจ่ายเป็นสินค้าเกษตรมูลค่า 750 บาท โดยจำนวนห้องพักที่จะใช้อยู่ที่ 5 ล้านห้อง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,500 ล้านบาท

“ผู้ประกอบการโรงแรมสามารถเลือกสินค้าเกษตร หรือสินค้า OTOP แต่ละชนิดที่มีมูลค่าเท่ากับจำนวนห้องพักที่นำมาแลกเปลี่ยน หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของราคาค่าห้องหลังจากที่รับเงินสดไปแล้ว ซึ่งความจริงแล้วอาจกล่าวได้ว่า เป็นโครงการบาร์เตอร์เทรด (barter trade) สินค้าเกษตรแลกห้องพักก็ได้”

 

นอกจากนี้ อ.ต.ก.ยังจะทำความร่วมมือกับสายการบินภายในประเทศทุกสายการบิน เพื่อจัดส่งเสริมให้ประชาชนเข้าร่วมโครงการนี้ด้วยการออกค่าใช้จ่ายค่าตั๋วเครื่องบินโดยสารให้กับสายการบินที่เข้าร่วมโครงการ ในอัตราร้อยละ 50 ของราคาค่าตั๋วเครื่องบินด้วย

โดยระยะเวลาของโครงการ “ไทยเที่ยวไทย ช่วยไทย” กำหนดไว้ระหว่างเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนตุลาคม เบื้องต้นเฉพาะเดือนกรกฎาคมจะต้องใช้เงินช่วยอุดหนุนค่าตั๋วเครื่องบินตั้งไว้ที่จำนวน 2,000 ล้านบาท

รวมโปรเจ็กต์ของ อ.ต.ก.ภายใต้กำกับของ “ร.อ.ธรรมนัส” ขอแบ่งเค้ก 14,500 ล้านบาท จากก้อนใหญ่ 4 แสนล้าน

นอกจากนี้ อ.ต.ก.บอกในที่ประชุมว่าจะเสนอ “คณะรัฐมนตรี” เพิ่มวันหยุดยาวในเดือนกรกฎาคม โดยกำหนดให้ “ทุกวันจันทร์” เป็นวันหยุด ประกอบด้วย วันที่ 13, 20, 27 กรกฎาคม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

บวกกับวันหยุดช่วงสงกรานต์จำนวน 3 วัน ที่ห้องประชุมในกระทรวงเกษตรฯ เปิด 3 ไทม์ไลน์ วันหยุดชดเชยสงกรานต์ ที่รัฐบาลจะคืนให้กับประชาชน 4-7 กรกฎาคม (4 วัน 3 คืน) 11-13 กรกฎาคม (3 วัน 2 คืน) 18-20 กรกฎาคม (3 วัน 2 คืน) และ 25-28 กรกฎาคม (4 วัน 3 คืน)

ท่ามกลางการ “กังขา” ของผู้เข้าร่วมประชุมทั้งภาคโรงแรมและสายการบิน ที่ฟังข้อเสนอจาก อ.ต.ก.แล้วยังต้องทบทวน บวกกับระยะเวลาที่กระชั้นเกินกว่าจะตั้งตัวได้ทัน

 

เสียงสะท้อนจากสายการบินในประเทศที่เข้าประชุม มองว่า “บาร์เตอร์เทรด” สินค้าเกษตรแลกห้องพักเป็นเรื่องตกยุคตกสมัย เฉพาะในส่วนของการ “อุดหนุน” ค่าตั๋วเครื่องบินครึ่งหนึ่งจะต้องมาคำนึงถึงจำนวนที่นั่งโดยสาร ซึ่งปัจจุบันจะต้องเว้นระยะห่าง เหลือจำนวนผู้โดยสารครึ่งหนึ่งในแต่ละลำ นอกจากนี้ ยังไม่มีการโปรโมตเส้นทางท่องเที่ยว ระยะเวลาที่จะเข้าพัก อาทิ ช่วงวันหยุดเพิ่มเติม 4 วัน 3 คืน หรือ 3 วัน 2 คืน ก็จะต้องเตรียมไฟลต์บินให้สอดคล้องกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

ขณะที่ “ร.อ.ธรรมนัส” ในฐานะผู้กำกับดูแล อ.ต.ก.โดยตรง ปฏิเสธว่า

“ผมยังไม่ได้รับรายงานโครงการดังกล่าวจาก อ.ต.ก. และไม่เห็นด้วยกับการเสนอขอใช้งบประมาณ เพราะ อ.ต.ก.ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เพราะในส่วนดังกล่าวภาคการท่องเที่ยวก็มีแนวคิดและมาตรการในการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวอยู่แล้ว การที่จะให้เกษตรกรนำผลไม้ไปแลกที่พักหรือตั๋วเครื่องบิน เอาเงินไปโยนทิ้ง แต่ถ้าเป็นโครงการที่ต้องการช่วยเหลือเรื่องกระจายสินค้า หรือหาตลาดใหม่ๆ จะเป็นแนวคิดที่ดีกว่า”

อย่างไรก็ตาม “ร.อ.ธรรมนัส” เปิดประเด็นใหม่ว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัด กรมพัฒนาที่ดิน-สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม-กรมฝนหลวง เสนอโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร โดยจะเน้นการสร้างแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร

 

ต้องจับตากันต่อไปว่า หลังจากปรากฏเรื่องดังกล่าวออกมาแล้ว ท้ายที่สุด แผนการจองงบฯ 14,500 ล้าน ที่มีต้นเรื่องจาก “อ.ต.ก.” จะมีบทสรุปอย่างไร

เช่นเดียวกับสารพัดโครงการที่มาจากกระทรวงต่างๆ ซึ่งจะได้รับการพิจารณามากน้อยเพียงใด จากเค้กก้อนใหญ่ 4 แสนล้านบาท ซึ่งกำลังเป็นที่หมายปองอยู่ในเวลานี้

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่