กรองกระแส / ใครกุมอำนาจ ภายใน ‘พลังประชารัฐ’ เป็น 3 ป.จริงหรือ

กรองกระแส

 

ใครกุมอำนาจ

ภายใน ‘พลังประชารัฐ’

เป็น 3 ป.จริงหรือ

 

พลันที่ตัดสินใจมอบหมายให้ 18 กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐยื่นใบลาออก ปัญหาและความขัดแย้งที่คุกรุ่นอยู่ภายในก็ปรากฏต่อภายนอก

เป็นปัญหาอันไม่เพียงสะท้อนการดำรงอยู่ของ “กลุ่ม” และ “มุ้ง” ทางการเมือง

หากสำคัญเป็นอย่างมากก็คือ เป็นปัญหาอันสะท้อนให้เห็นถึงจุดที่ไม่ลงตัวในการจัดสรรผลประโยชน์ให้กับแต่ละกลุ่มและมุ้ง

และพัฒนาขยายตัวกระทั่งไม่อาจประนีประนอมกันได้

การเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค การเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรคจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการบริหารจัดการกับปัญหาและความขัดแย้ง

เหมือนกับจะ “จบ” แต่ความจริงเป็นเพียง “การเริ่มต้น”

 

อำนาจไม่เบ็ดเสร็จ

ภายในพลังประชารัฐ

ไม่มีใครปฏิเสธอำนาจของ “กลุ่ม 3 ป.” ภายในพรรคพลังประชารัฐ แต่คำถามที่ตามมาก็คือ อำนาจนั้นดำเนินไปอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหรือไม่

หากเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทำไมต้องมีปฏิบัติการ 18 กรรมการบริหารพรรคลาออก

การลาออกของ 18 กรรมการบริหารพรรคสะท้อนให้เห็นว่าไม่สามารถตกลงในเรื่องตำแหน่งหัวหน้าพรรค ตำแหน่งเลขาธิการพรรคได้อย่างราบรื่น

จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการเข้ม กดดัน

ผลก็คือ ไม่เพียงเกิดปฏิกิริยาจาก “กลุ่ม 4 กุมาร” นำเสนอภาพเปรียบเทียบระหว่างการเมืองใหม่กับการเมืองเก่า

หากยังมีคำถาม “เบื่อมั้ย” และ “ทำไมคนดีอยู่ไม่ได้” ตามมา

สะท้อนให้เห็นไม่เพียงว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่อาจประนีประนอมกันได้ ตรงกันข้าม ฝ่ายที่ถูกกดดันให้ถอยก็หวนกลับมาสู้

ยิ่งสู้ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์พรรคพลังประชารัฐเสียหาย

 

เริ่มมาตรการเข้ม

ความรุนแรงปะทุ

ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อปัญหาและความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐเหมือนกับจะลอยตัวอยู่เหนือความขัดแย้ง

ทั้งๆ ที่ความจริงร่วมอยู่กับความขัดแย้งอย่างยากจะปัดปฏิเสธ

เรื่องนี้ไม่เพียงแต่แต่ละกลุ่ม แต่ละมุ้งซึ่งร่วมส่วนในการขับเคลื่อนจะรับรู้ หากแม้กระทั่ง “กลุ่ม 4 กุมาร” ก็รับรู้และอาศัยเป็นเครื่องมือในการต่อสู้

ภาพที่ปรากฏกลายเป็นภาพแปลกแปร่ง 2 ภาพ

ภาพหนึ่ง หนุนเสริม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพื่อไปกดดันและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ภาพหนึ่ง หนุนเสริม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อสกัดขัดขวางมิให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ก่อให้เกิดคำถามว่าใครคือผู้กุมอำนาจภายในพรรคพลังประชารัฐ

คล้ายกับว่าอำนาจนั้นอยู่ในมือของ “3 ป.” คล้ายกับว่าการตัดสินใจขั้นสุดท้ายจะเป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะในประเด็นว่าด้วยการปรับ ครม.

คำถามก็คือ อำนาจในการปรับ ครม.เป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จริงหรือ

 

ตำแหน่งภายใน

ตำแหน่งรัฐมนตรี

โครงสร้างของพรรคพลังประชารัฐก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 สะท้อนการจัดวางโดย คสช.อย่างเด่นชัด

ความสำเร็จจากการเลือกตั้งมาจากอำนาจของ คสช.

แต่ภายหลังการเลือกตั้ง เมื่อผลการเลือกตั้งปรากฏ อำนาจขึ้นอยู่กับจำนวน ส.ส.ของแต่ละกลุ่ม แต่ละมุ้ง ตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคจึงทรงความหมาย

จึงเกิดการกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรค

พลันที่สถานการณ์บานปลายถึงระดับต้องใช้มาตรการเข้มในการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค นั่นหมายถึงวาระแห่งการใช้พลังผ่านจำนวน ส.ส.ได้ปรากฏเป็นจริง

และนี่คือกระดานหกสร้าง “ดุล” อย่างสำคัญในทางการเมือง

จากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคจะนำไปสู่การสร้างมติในเรื่องการปรับ ครม. ไปสู่การเลือกสรรแบ่งปันตำแหน่งทางการเมือง

            จะก่อให้เกิดการกดดันต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในที่สุด

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่