ทราย เจริญปุระ | “รัฐ” ระบาด

“มาตรการผ่อนคลาย ก็เหมือนการดึงชักเย่อ ก่อนหน้านี้เรามีมาตรการต่างๆ ช่วย เมื่อเราผ่อนคลายแต่ละระยะ ก็เหมือนค่อยๆ ปล่อยมือ มือที่เหลืออยู่ก็ต้องดึงแรงขึ้น นั่นคือ มือของประชาชนทุกคน”**

ไม่มีอะไรใหม่ภายใต้ดวงอาทิตย์ดวงเดิม

กระทั่งความ “ปกติใหม่” ที่ฮือฮาตื่นเต้นนั้น ก็อาจจะใหม่ในบางพื้นที่ บางสังคม แต่มันก็ไม่ได้แตกต่างอะไรจากวันทุกวันที่ผ่านมา

ผู้รับใช้รัฐประดิษฐ์ถ้อยคำเสกเป่าเปลี่ยนเป็น

คำขอความร่วมมือ-ต่างคำสั่งที่เคยใช้

ยุคสมัยแห่งการพูดโอ้โลมให้ฟังไพเราะด้วยคำใหญ่โตแปลกหู

ไม่มีอะไรใหม่

ไม่มีอะไรปกติ

“ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 มนุษย์ทั่วทุกมุมโลกต่างก็ถูกคุกคามด้วยโรคไร้เชื้อเรื้อรังสารพัด ทั้งโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ มะเร็ง โรคซึมเศร้า อัลไซเมอร์ โดยตั้งแต่ทศวรรษ 1930-1940 ทั้งในยุโรปและอเมริกา ได้เกิดกระแสการแพทย์เชิงสังคม (Social Medicine) ที่มีแนวคิดหลักว่า การเกิดโรคนั้นไม่ได้เป็นผลมาจากเชื้อโรคเพียงอย่างเดียว แต่สถานภาพทางสังคมของผู้ป่วยก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ความชุกของโรคต่างกัน เช่น โรคบางอย่างเกิดในหมู่คนจนมากกว่าคนรวย และโรคบางอย่างเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในโรคไร้เชื้อเรื้อรังที่กลายเป็นโรคที่สัมพันธ์กับวิถีการดำรงชีวิตและสิ่งแวดล้อมทางสังคม เช่น มลภาวะ ความเครียด การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือแม้แต่การกินน้ำตาลก็กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเกิดโรคไร้เชื้อเรื้อรัง”*

มาตรการผ่อนปรนที่ค่อยๆ ปล่อยออกมากันเป็นระลอก บ้างก็ดูน่าขัน บ้างก็ดูไร้เหตุผล แต่ใช่, มาตรการกึ่งสุกกึ่งดิบแบบนี้มีมาเป็นเฮือกๆ เพื่อให้รัฐได้งับอากาศหายใจต่อ โดยไม่ต้องรับผิดชอบหรือจ่ายเพิ่มในราคาที่แพงกว่านี้

สำหรับคนทั่วไปที่ต่างมีชีวิตไปวันๆ หาเช้ากินค่ำ ภัยที่จำต้องพานพบนั้นมีมากมายกว่าการติดเชื้อ ถ้าชีวิตมันไม่ได้มีอะไรต่างออกไปจากก่อนหน้านี้ แล้วทำไมจะต้องทำอะไรให้มันต่างไปจากเดิม ชีวิตไม่ได้ง่ายอยู่แล้ว กติกาใหม่ทำให้ยากขึ้น แล้วยังถูกเหยียดหยันเสียอีก ว่าเป็นผู้เพาะเชื้อสร้างปัญหาสังคม

“กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การปกครองหรือใช้อำนาจของรัฐโดยอาศัยวาทกรรมทางการแพทย์หรือสถาบันทางการแพทย์ในการสร้างวินัยกับร่างกายของประชาชน ด้วยการสถาปนาวาทกรรมให้ประชาชนต้องรับผิดชอบสอดส่องหรือดูแลปกครองร่างกายตนเอง ก็คือการปกครองที่เน้นไปยังการสร้างจิตสำนึกในตนเองของผู้ถูกปกครอง หรือกล่าวอย่างตรงไปตรงมาคือการปกครอง (govern) โครงสร้างจิตสำนึก (mentality) ของประชาชนนั่นเอง”*

เราล้วนไม่ใช่คนแรก

แต่เราก็ไม่ใช่คนสุดท้ายเช่นกัน

ถ้อยคำเปลี่ยน ผู้พูดเปลี่ยน ผู้รับสารย่อมฟังด้วยความรู้สึกที่เปลี่ยนไป

ครั้งแรกเราอาจยอมรับ ครั้งที่สองเราพอเข้าใจ ครั้งที่สามเราเริ่มสงสัย

และครั้งถัดๆ ไปเราเริ่มค้นหาความจริงที่ซุกซ่อนอยู่ในถ้อยคำเหล่านั้น

“บทบาทของรัฐแบบจารีตในด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพของประชาชนจึงแทบไม่มีให้เห็นอย่างเด่นชัด จะมีก็ต่อเมื่อเกิดโรคระบาดหรือภัยคุกคามต่อสุขภาพของไพร่และทาส ซึ่งคุกคามต่อจำนวนกำลังคนของรัฐ…

…ก่อนหน้าที่รัฐไทยจะมารับผิดชอบดูแลสุขภาพของประชาชน ความไม่รับผิดชอบของรัฐไทยต่อสุขภาพอนามัยของราษฎร ได้สะท้อนให้เห็นจากการอธิบายการเจ็บป่วยและตายว่าเป็น “เวรกรรม” ของปัจเจกชน ซึ่งสอดคล้องกับโลกทัศน์แบบพระพุทธศาสนา อันเป็นอุดมการณ์ของรัฐไทยสมัยโบราณ…

…แต่ในเมื่อรัฐไทยต้องการก้าวสู่ความเป็น “ชาติไทย” ที่ “ทันสมัย” การสร้างและเผยแพร่วาทกรรมทางการแพทย์สมัยใหม่จึงได้กลายเป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการจัดการ เพื่อสร้างพลเมืองตามอุดมคติที่รัฐต้องการ โดยมีร่างกายของประชาชนอันรวมทั้งด้านที่เป็นกายภาพและเป็นร่างกายทางสังคม เป็นเป้าหมายที่จะต้องถูกจัดการ ร่างกายของพลเมืองแบบใหม่ที่รัฐต้องการสร้างนั้น เป็นไปเพื่อแสดงความมีอารยะของชาติ ซึ่งการแพทย์ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของรัฐโดยตรงในการสร้างชาติให้เป็นชาติที่มี “อารยธรรม” ทัดเทียมกับนานาประเทศ”*

ฉันไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นสิ่งอื่นนอกจากเป็นแรงงานของรัฐตามหน้าที่พลเมือง

แรงงานที่ทำงาน ทั้งเพื่อหาเลี้ยงชีพและเป็นกลไกของรัฐที่พาทุกคนเดินไปพร้อมๆ กัน

ฉันไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นอื่น ฉันรู้หน้าที่ของฉัน ทั้งต่อตัวฉันเอง และในฐานะไพร่พล

แต่ฉันไม่รู้ว่ารัฐรู้หน้าที่ของตัวเองแค่ไหน

เห็นฉันเป็นอะไร และปฏิบัติกับฉันอย่างไรกันแน่

บางที, ฉันก็รู้สึกเป็นกำพร้าในทุกทาง ทั้งพ่อแม่ที่จากตาย และจากรัฐที่ไม่เคยชายตาแล

คุณค่าของฉัน, พวกเราทั้งหลาย

มีค่าแค่ตอนจ่ายภาษีพร้อมคำขอบคุณแสนตื้นตัน ที่รัฐกรุณาเอาไปบริหารกันเอง เพื่อกันและกันอย่างแสนลงตัว

“จากปีศาจสู่เชื้อโรค -ประวัติศาสตร์การแพทย์กับโรคระบาดในสังคมไทย-” เขียนโดยชาติชาย มุกสง พิมพ์ครั้งแรก เมษายน 2563 โดยสำนักพิมพ์มติชน

*ข้อความจากในหนังสือ

**จากคำแถลงของ พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) วันที่ 30 พฤษภาคม 2563


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่