หนุ่มเมืองจันท์ | “ความสุข” ออนไลน์

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อน มีคิวอัดรายการ “เจาะใจ”

ผมจะอยู่ช่วง “คอลัมนิสต์” สั้นๆ ประมาณ 7-10 นาที

“พี่อั๋น” วชิระ แวววุฒินันท์ เป็นคนติดต่อให้มาทำช่วงนี้ตั้งแต่เริ่มต้น

จำได้ว่านัดกันที่ห้องอาหารโรงแรมเซ็นทรัลลาดพร้าว

“พี่อั๋น” ไม่ยอมบอกว่าจะคุยเรื่องอะไร

แต่คาดเดาได้ว่าน่าจะเป็นเรื่องรายการโทรทัศน์

ผมเตรียมคำปฏิเสธไว้แล้ว

เพราะรู้ตัวว่าไม่เหมาะกับการออกจอ

พอทำได้ แต่ไม่ดี

และไม่ค่อยสนุก

หลังจากทักทาย คุยเรื่องอื่นๆ สักพัก “พี่อั๋น” ก็เปิดประเด็นว่าอยากชวนมาเป็น “คอลัมนิสต์” ในรายการ “เจาะใจ”

“คอลัมนิสต์” หรือคนเขียนคอลัมน์ เป็นศัพท์ที่ใช้กับงานหนังสือ

แต่นำมาใช้กับรายการโทรทัศน์

วิธีคิดของ “พี่อั๋น” น่าสนใจมาก

เขาอยากเอาเสน่ห์ของงานเขียน เล่าเรื่องแบบคนเขียนคอลัมน์มาใช้ในรายการ

ให้ “นักเขียน” เป็นคนเล่า

จะเล่าเรื่องอะไรก็ได้

และปิดจุดอ่อนที่ “นักเขียน” ไม่คุ้นกับการเล่าเรื่องกับกล้องเหมือนพิธีกรมืออาชีพ

ด้วยการเปลี่ยนรูปแบบเป็นการคุยกับ “ดู๋” สัญญา คุณากร

เล่าเรื่องให้ “ดู๋” ฟัง

แล้ว “ดู๋” จะช่วยถามหรือเติมแต่งให้เรื่องน่าสนใจยิ่งขึ้น

ผมฟังวิธีคิดของ “พี่อั๋น” แล้ว

น่าสนใจมาก

ครับ “คำปฏิเสธ” ที่เตรียมมาผมกลืนลงท้องเรียบร้อย

แบบนี้ผมทำได้

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ช่วง “คอลัมนิสต์” ก็อยู่คู่รายการ “เจาะใจ” มาตลอด

น่าจะประมาณ 10 ปีแล้ว

แม้รูปแบบการเล่าเรื่องจะคล้ายกับการเขียนคอลัมน์

แต่ผมจะค่อนข้างใช้เวลากับการคิดเรื่องช่วง “คอลัมนิสต์” ค่อนข้างมาก

เพราะ “การเขียน” รีไรต์ได้

เขียนเสร็จ มาอ่านตรวจทานและแก้ไขได้

แต่ “การพูด” ไม่ได้

พ่นออกมาแล้วก็ออกอากาศแบบนั้น

รีไรต์ไม่ได้

ล่าสุด ที่เพิ่งออกอากาศไป ผมเล่าเรื่องประสบการณ์ในช่วง “โควิด-19”

เป็นเรื่องหนึ่งที่ชอบมาก

ผมเปิดด้วยเรื่องที่ทุกคนมีประสบการณ์ร่วม

ทั้งเรื่อง Work from Home การต่อแถวรับข้าวกล่อง

และต่อด้วยเรื่องสนุกๆ อย่างช้อปปิ้งออนไลน์ที่เติบโตขึ้นมากในช่วงนี้

หลายคนที่ไม่เคยซื้อ ก็ซื้อ

เช่น ผม และ “ดู๋”

“ดู๋” ไม่เคยซื้อของออนไลน์เลย

เพราะรู้สึกว่าเราควรจะเห็นของก่อนจ่ายเงิน

ช่วงที่ว่างงาน อยู่บ้านตลอด

ลองปาดๆ หน้าจอดู

เรียบร้อยแล้ว

ถามว่าซื้ออะไร

เขาซื้อ “เตาแคมปิ้ง” ครับ

ภรรยาถามคำเดียวสั้นๆ

“ซื้อมาทำไม”

คุยกันเรื่องช้อปปิ้งออนไลน์พักหนึ่ง ผมก็วกเข้าสู่เรื่องที่อยากจะเล่า

เป็นประสบการณ์ตรงของผมเอง

คืนนั้น ผมเปิดจอเล่นเฟซบุ๊กเหมือนปกติ

“พี่มาร์ค” เขาก็จะฟีดสินค้าต่างๆ ขึ้นมาเป็นระยะๆ

ชิ้นไหนที่สนใจก็เข้าไปดูบ้าง

เผลอๆ ก็แวบไปที่ลาซาด้า ช้อปปี้ เจดี ฯลฯ

แต่ก็ยังไม่ได้ซื้ออะไร

เพราะยังไม่ได้อยากได้ขนาดนั้น

พอกลับมาที่เฟซบุ๊ก

หน้าจอก็ขึ้นเพจของ “มูลนิธิกระจกเงา”

ผมเข้าไปดูเพจนี้เรื่อยๆ

และติดตามผลงานของคุณสมบัติ บุญงามอนงค์ มาตลอด

แต่ไม่เคยคุยกันเลย

หลายคนอาจรู้จักเขาในนาม “บก.ลายจุด” กับการเคลื่อนไหวทางการเมือง

แต่ไม่รู้ว่าเขาทำมูลนิธิกระจกเงามานาน

ทั้งเรื่องงานช่วยเหลือคนไร้บ้าน เด็กหาย จนถึงเรื่องอาสาดับไฟป่าที่ลงไปลุยด้วยตัวเอง

ล่าสุด เขาทำโครงการบริจาคเงินและสิ่งของทำ “ถุงยังชีพ” เพื่อช่วยเหลือคนยากจนช่วงโควิด

และมีบางคนที่อยากได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษ

เขาจะเล่าชีวิตของคนนั้น แล้วบอกว่าใครอยากบริจาคช่วยคนนี้ให้หลังไมค์มาขอเบอร์บัญชี

ถ้ามีคนช่วยพอสมควร เขาจะปิดรับบริจาค

การที่ไม่ให้เบอร์บัญชีที่หน้าจอ เพราะกลัวว่าคนจะแห่ไปบริจาคจนเยอะเกินไปเหมือนที่เป็นข่าว

เรื่องที่ขึ้นมาบนหน้าฟีดของผม

เป็นเรื่องที่ทำให้ผมน้ำตาซึม

คุณแม่คนหนึ่ง มีลูก 4 คน

เธอเป็นแม่ค้าขายเสื้อผ้ามือสอง มาขายที่ตลาดนัด

สามีเป็น รปภ.ที่ตลาด

พอโควิดระบาด เธอขายของไม่ได้ งาน รปภ.ของสามีลดเหลือเพียงแค่สัปดาห์ละ 2 วัน

ไม่มีเงิน จนต้องไปเข้าแถวขอข้าวกล่อง

จะขอเผื่อให้ลูกก็ไม่ได้

บางทีได้ข้าวสารมาก็ต้มเป็นข้าวต้มเพื่อให้กินได้นานๆ ทำไข่เจียวใส่น้ำปลาเยอะๆ เค็มจัดเพื่อกินกับข้าวได้เยอะๆ

ชีวิตลำบากมาก

จนวันหนึ่งตัดสินใจไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

เธอรอให้สามีและลูกนอนหลับ

ปิดประตู-หน้าต่าง

แล้วเปิดเตาแก๊สทิ้งไว้

เวลาผ่านไปนานเท่าไรก็ไม่รู้

เธอลืมตาขึ้นมา ทุกคนยังนอนอยู่

วินาทีนั้น เธอไม่รู้ว่านี่คือความฝันหรือความจริง

ลุกขึ้นเดินไปดูที่เตาแก๊ส

ปรากฏว่า…

…แก๊สหมด

เล่ามาถึงตอนนี้ ผมหันไปมองหน้า “ดู๋” กับ “โหน่ง วงศ์ทนง”

ทั้งคู่เหมือนกับผมตอนที่อ่านเรื่องนี้

ทุกคนอึ้ง

มันเป็น “ตลกร้าย” ที่เศร้าสุดๆ

เป็นเรื่องหักมุมที่นึกไม่ถึง

ครับ “ความจน” ไม่ยอมให้เธอตาย

ผมรีบหลังไมค์ไปขอเบอร์บัญชีจากคุณสมบัติ

และโอนเงินทางออนไลน์ไปบริจาค

จำนวนเงินไม่ได้เยอะ แต่เมื่อรวมกับหลายๆ คนแล้ว น่าจะช่วยเธอได้พอสมควร

ความรู้สึกในวินาทีนั้น คือ มี “ความสุข” มาก

ผมนึกถึงเวลาที่ซื้อของออนไลน์ เราจะมีความสุขเมื่อเห็นของ

แต่ทำบุญออนไลน์แบบนี้

เราไม่ได้ “ของ” อะไรเลย

มีแต่เชื่อว่าถ้าเงินจากเราไปถึงมือเธอ

น้องคนนี้คงมีความสุขมาก

ผมจินตนาการเห็นรอยยิ้มของเธอ

เห็นรอยยิ้มของเด็กๆ

“ความสุข” เกิดขึ้นในวินาทีนั้นเลย

คืนนั้น ผมหลับฝันดี


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่