อภิญญา ตะวันออก : ชาติพันธุ์อุษาคเนย์ กับมุมมองสัม รังสี กรณีโควิด-19

อภิญญา ตะวันออก

ใช่แต่โควิด-19 หรอก ที่ทำให้ใครหลายคนกลายเป็น “กูรูโรคระบาดเพียงข้ามคืน” (armchair epidemiologist) ของบรรดากูรูสมัครเล่นที่มากด้วยไอเดียและทฤษฎีพวกนั้น

ฉันเองซึ่งเคยป่วยด้วยมาลาเรียถึง 2 ครั้งและเรื้อรังอีกด้วย ก็ยังคิดเลยว่า มีภูมิคุ้มกันดีๆ ในตัวอยู่ไม่น้อยที่จะรับมือโควิด-19 ไม่ได้อุปาทานไป ก็ในเมื่อความเชื่อมโยงไวรัสโควิดกับยารักษาโรคมาลาเรีย มีความเกี่ยวกันอย่างไม่ปกติ และความคิดเรื่องเป็นโรคใดโรคหนึ่งแล้วจะไม่กลับมาอีก ก็มีอยู่มานานแล้ว

เป็นต้นว่า ตอนอาสาสมัครไปในเขตมาลาเรียระบาดของกัมพูชา ฉันก็เชื่อมั่นว่าจะไม่ป่วยด้วยโรคนี้อีก เพราะความรู้สึกพิเศษในภูมิคุ้มกันบางอย่างจากการใช้ยาควินินนั่นจนโลหิตจางเรื้อรังอยู่หลายปี ซึ่งก็พิสูจน์ว่ามาลาเรียครั้งที่ 3 ไม่เคยกลับมาอีก

ไม่เท่านั้น ถึงจะผ่านมานานมากแล้ว แต่ฉันก็ยังเชื่อว่าจะมีภูมิคุ้มกันโควิดอีกขั้น โดยนอกจากยาต้านมาลาเรียแล้ว ฉันยังเคยปลูกฝีฉีดวัคซีนวัณโรค (bcg) ที่ในช่วงหนึ่งถึงกับมีกูรูโรคระบาดเพียงข้ามคืนบางคนฟันธงว่า มีความเชื่อมโยงอย่างน่าพิศวงกับโควิด-19 อีกด้วย

แต่แม้จะปลดทุกข์จากความกลัวได้ถึงเพียงนี้ ฉันก็ยังรักษาการอยู่สันโดษไม่สังคมผู้ใดยาวนานเป็นสิบสัปดาห์ซึ่งน่าจะเกินพอดี

แต่แล้วผู้ที่ทำให้ฉันประหลาดใจยิ่งกว่าทฤษฎีใดๆ ก็คือ นายสัม รังสี อดีตหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านของกัมพูชาและผู้ไขปริศนา มูลเหตุที่ชาวเขมรและประเทศเพื่อนบ้านมีชัยเหนือโรคโควิด-19

อา ไม่แต่เท่านั้น สัม รังสี ผู้มาครั้งนี้มิได้เพื่อโจมตีพรรคคอมมิวนิสต์จีนและผู้นำเขมร แต่เป็นเรื่องพันธุกรรมมนุษย์และระบาดวิทยา ที่อาจโยงไปถึงปริศนามนุษย์ยุคกลางสมัยเมืองพระนครเลยทีเดียว (?)

 

สัม รังสี ให้สัมภาษณ์นิตยสาร Gavroche tha?lande แม็กกาซีนภาษาฝรั่งเศสซึ่งจำหน่ายใน 5 ประเทศ ไทย เขมร ลาว เวียดนามและเมียนมา ฉบับพฤษภาคม รวมทั้งเฟซบุ๊กอย่างต่างกรรมต่างวาระ และข้อสังเกตของสัม รังสี อันเกี่ยวกับ 4 ปัจจัยอันเป็นเหตุให้โควิด-19 สิ้นฤทธิ์ไม่อาจส่งผลร้ายต่อชาวอินโดจีนซึ่งมีไทย เขมร ลาว เมียนมาและเวียดนาม หรือกลุ่มอุษาคเนย์ประเทศนั่นเอง

โดยกล่าวว่า :

ประการที่ 1 ความเป็นประเทศเขตร้อนที่ไม่เอื้อต่อการมีชีวิตอยู่รอดของไวรัส

ประการที่ 2 พลเมืองจนยาก เศรษฐกิจล้าหลังและการดำรงชีพที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน ทั้งชีวิตความเป็นอยู่และอาหาร คือสิ่งที่เอื้อต่อภูมิคุ้มกัน เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศตะวันตกและสหรัฐที่ประสบหายนะล้มตายจำนวนมาก

ความยากจนไม่ใช่เรื่องที่น่ารังเกียจ แต่ชาวเขมร (และเพื่อนบ้าน) จำนวนมากอาจสุขภาพตกต่ำและล้มตายด้วยพิษเศรษฐกิจที่คุกคามพวกเขาหลังโควิด-19 หรือไม่? ยังเป็นคำถามร่วมสมัย

ข้อที่ 3 มาลาเรียและการระบาดกับความเชื่อมโยงที่มีนัยยะสำคัญอันเกี่ยวกับโควิด-19

และข้อสุดท้าย สัม รังสี ได้ชี้ไปที่ความเป็นพลเมืองของภูมิภาคนี้ (บางส่วนของอินเดีย ศรีลังกาและบังกลาเทศ) ซึ่งมีพันธุกรรมเม็ดเลือดฮีโมโกลบิน-อี (Hemoglobin-E) ที่ไม่ปกติ (disorder)

ทว่ามีความพิเศษในการต้านทานไวรัสโควิด-19 อย่างไม่อาจชี้ชัดในสาเหตุ

 

ย้อนไป 7-8 ปีก่อน ตอนถูกอัปเปหิจากประเทศกัมพูชาก่อนครั้งล่าสุดนั้น (และเป็นครั้งที่เท่าไรก็จำไม่ได้) สัม รังสี ออกตระเวนพบปะผู้สนับสนุนทั่วยุโรป สหรัฐและออสเตรเลีย จนเมื่อครบทุกประเทศแล้ว ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจเดินทางไปทวีปแอฟริกา อินเดียและเมียนมา พบปะผู้นำตกยากและพลเมืองผู้ยากไร้ที่นั่น

น่าประหลาดว่า ภูมิภาคเหล่านั้น ส่วนใหญ่เป็นประเทศเขตร้อนและติดโรคระบาดมาลาเรียเช่นเดียวกับประเทศของเขา

กัมพูชาต่อสู้กับโรคนี้มาร่วม 5 ทศวรรษแล้ว บางที สัม รังสี เองก็อาจจะเคยป่วยด้วยโรคนี้มาแล้ว และนั่นเองที่ทำให้เขาเกิดความสนใจต่อโรคนี้อย่างลึกซึ้ง ไม่เพียงเท่านั้น ประสบการณ์ล้ำค่าต่อการเดินทางที่ต่างจากเรื่องการเมืองครั้งนั้นยังทำให้นักการเมืองท่านนี้กลายเป็นนักสำรวจด้านระบาดวิทยาอย่างสมัครเล่นไปด้วย

จึงไม่แปลกเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 สัม รังสี หยิบยกประเด็นดังกล่าวและให้ข้อสังเกตในอัตราการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของกลุ่มประเทศแอฟริกา อินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่ามีนัยยะบางอย่างที่เชื่อมโยงกับการระบาดของโรคมาลาเรียเมื่อเทียบกับยุโรปและสหรัฐที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมากอย่างมีนัยยะสำคัญ

สัม รังสี ยืนยันว่า ตัวเลขการติดเชื้อโควิดที่ผกผันในภูมิภาคดังกล่าว มาจากสมมุติฐานที่เป็นไปได้ของตน โดยว่า ทำไมพลเมืองประเทศตอนกลางของทวีปแอฟริกา และอินเดียโดยเฉพาะรัฐเบงกอลซึ่งเป็นเขตมาลาเรียเคยระบาดมาก่อน ต่างมีค่าสัมประสิทธิ์การติดเชื้อโควิด-19 ที่มีทิศทางพ้องกันอย่างน่าสนใจ

ตัวอย่างซูดานใต้ซึ่งตั้งอยู่ตอนกลางทวีปและเป็นแหล่งเขตระบาดของมาลาเรียมาก่อน แต่กับตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดน้อยมาก ต่างกับตอนเหนือและใต้ของทวีปซึ่งมีการระบาดของมาลาเรียค่อนข้างต่ำ แต่กลับถูกโจมตีด้วยไวรัสโควิดและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

สถิติดังกล่าวยังไปพ้องกับอัตราการระบาดในอินเดียเหนือและอินเดียใต้ ซึ่งภูมิอากาศหนาวและสลับชื้น แต่ข้อเท็จจริงประการหนึ่ง ทั้ง 2 ภูมิภาค โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับรัฐเบงกอลในเขตตะวันออก ที่เคยเป็นแหล่งระบาดของเชื้อมาลาเรียมาหลายทศวรรษ

น่าประหลาดใจว่า อัตราผู้เสียชีวิตเพราะไวรัสโควิดในเบงกอลคือ 0.5 ต่อ 1 ล้านเคสของผู้ติดเชื้อ ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับรัฐอื่นๆ อย่างมหาราชตะที่ตัวเลข 18:1

กัมพูชาเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีประชากรติดเชื้อโรคมาลาเรียเป็นจำนวนนับล้านที่สะสมกันมากว่า 2 ทศวรรษนับแต่มีการสำรวจและออกแคมเปญต่อสู้กับโรคนี้ ไม่รวมเวียดนาม ลาว เมียนมาและไทยนั้น ที่ค่าสัมประสิทธิ์จากภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการรักษามาลาเรีย-ปัจจัยซ่อนเร้นที่ช่วยให้พลเมืองของภูมิภาคนี้มีภูมิต้านทานโควิด-19 โดยไม่รู้ตัว

และเป็นคำตอบว่า เหตุใดอัตราการติดเชื้อไวรัสโควิดของชาวเขมรและภูมิภาคอาคเนย์ จึงต่ำมากเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศร่ำรวยและประชากรไม่เคยเจ็บป่วยด้วยโรคมาลาเรีย!

 

เป็นประเด็นที่น่าทึ่งและเชื่อมโยงกันได้กับปมระบาดอันไม่ปกติของโควิด-19 กระนั้น เมื่อเทียบปัจจัยที่เหลือในข้อสุดท้าย ซึ่งเป็นเรื่องของพันธุกรรม ในที่นี้คือเม็ดเลือดฮีโมโกลบิน-E ที่พิเศษ (disorder) และมีอยู่เฉพาะในชนชาติแห่งภูมิภาคนี้

“ผมแค่ตั้งข้อสังเกตเท่านั้น เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับตรรกะทางวิทยาศาสตร์” สัม รังสี ออกตัว

แต่มันกลับนำไปสู่ประเด็นอื่น อาทิ สายพันธุกรรมของมนุษย์ยุคกลางผู้สร้างอาณาจักรขอมอันยิ่งใหญ่ และปมเขื่องเช่นนั้นเองที่พัดพาความภูมิใจไปสู่อดีตกาลของชาวเขมรทุกครั้งเมื่อหยิบยกประเด็นนี้

ในทันที เมื่อรำลึกถึงบ่ายวันหนึ่งซึ่งนานมาแล้ว ระหว่างลงเรือสำรวจแม่น้ำและกำลังข้ามฟากไปยังฝั่งตรงข้ามจตุรมุข จู่ๆ สัม รังสี ก็กระโจนลงแม่น้ำอันเชี่ยวกราก เขาว่ายจนถึงฝั่งอย่างปลอดภัย โดยไม่มีใครรู้มาก่อนว่า ชายที่ดูเปราะบางและขี้โรคคนนี้ จะมีดีเอ็นเอพิเศษด้านกีฬาอย่างน่าตระหนก แต่นั่นก็ไม่อาจหยุดผู้คนที่พร้อมจะเสี่ยงตายไปกับสัม รังสี ทั้งๆ ที่พวกเขาว่ายน้ำไม่เป็นเลย

นึกถึงตอนนั้นทีไร ฉันก็ได้แต่ตะลึงในการกระทำที่ไม่อาจคาดหมายแบบสัม รังสี ที่เต็มไปด้วยความบ้าบิ่นและเป็นที่โจษจันกันทั่วไป

กระทั่งการมาของโควิด-19 สำหรับทฤษฎี-ฮีโมโกลบินฉบับสัม รังสี

ที่ทำให้เราพบว่า เขาถูกอัปเปหิจากกัมพูชานานเกินไป

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่