แมลงวันในไร่ส้ม / ข่าวร้อนชน ‘โควิด’ ศึกใน ‘พปชร.’ เดือด 18 กก.ทิ้งไพ่-โยงปรับ ครม.

แมลงวันในไร่ส้ม

ข่าวร้อนชน ‘โควิด’

ศึกใน ‘พปชร.’ เดือด

18 กก.ทิ้งไพ่-โยงปรับ ครม.

เป็นเกมการเมืองที่สร้างแรงกระเพื่อม จนกลายเป็นข่าวใหญ่ สอดแทรกข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด

นั่นคือข่าวความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ อันเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ที่ทำหน้าที่อุ้ม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ จากรัฐบาลพรรคการเมือง สืบทอดจากการเป็นนายกฯ ในรัฐบาลทหาร หรือ คสช.

พรรคพลังประชารัฐเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มการเมืองหลายกลุ่ม สื่อบางสำนักระบุว่า แยกออกเป็น 7 กลุ่มด้วยกัน

กลุ่มหลักๆ ในพรรค ประกอบด้วย กลุ่มของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรค และนำชื่อพรรคมาจากแนวทาง “ประชารัฐ” ของ คสช. ที่พยายามดึงพลังฝ่ายต่างๆ ทั้งกลุ่มทุนไปจนถึงท้องถิ่นมาพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ

พลังประชารัฐแจ้งเกิดด้วยการรวบรวม นักการเมืองจากขั้วต่างๆ มารวมกัน และกลายเป็นกลุ่มที่กุมอำนาจบริหารในพรรค โดยมีนายอุตตม สาวนายน เป็นหัวหน้าพรรค และ รมว.คลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นเลขาธิการพรรค และ รมว.พลังงาน

อีกกลุ่มใหญ่ คือกลุ่มสามมิตร ที่มีแกนนำอย่างนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รับตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็น รมว. ยุติธรรม และนายอนุชา นาคาศัย ก่อนขยายไปดึงเอานักการเมืองที่เคยร่วมงานกันมาก่อนในอดีตมาร่วมงาน

ชนวนขัดแย้งก็คือ ในระหว่างการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2562 กลุ่มที่มีบทบาทสูงคือ กลุ่มสามมิตร ทำให้พรรคพลังประชารัฐเข้าสภาเป็นอันดับ 2 แพ้พรรคเพื่อไทย แต่เมื่อรวมเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ทำให้มีเสียงข้างมากสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ แม้ว่าเสียงในสภาล่างจะเฉียดฉิว

แต่เกิดปัญหาในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี แกนนำที่มีบทบาทจากกลุ่มสามมิตร ไม่ได้รับตำแหน่งทางการเมืองอย่างที่คาดหวังไว้

ทางออกของปัญหาทำนองนี้ในพรรคการเมือง ก็มักจะใช้วิธีตกลงว่า ให้ผ่านไปก่อน แล้วค่อยไปปรับ ครม. หมุนเวียนตำแหน่งกันในอนาคต

การเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ใช้เวลากว่า 3 เดือน หรือ 108 วัน จึงตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ครม.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562

เท่ากับว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะมีอายุครบ 1 ปีในต้นเดือนกรกฎาคมที่จะถึง

แต่สภาพฝุ่นตลบ เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งรัฐมนตรี เกิดขึ้นเป็นระยะๆ

และเนื่องจากตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง ภายหลังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองจะต้องประชุมใหญ่ เพื่อเลือกตั้งกรรมการบริหารชุดใหญ่

จึงกลายเป็นเงื่อนไข “คิกออฟ” เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง

แม้ว่าจะติดสถานการณ์โควิด ที่น่าจะเลื่อนออกไปก่อน แต่กลุ่มเคลื่อนไหวใช้วิธีให้กรรมการบริหารพรรค ยื่นใบลาออกจำนวนเกินครึ่ง ทำให้กรรมการบริหารทั้งคณะ รวมทั้งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคสิ้นสภาพ

และจะต้องจัดประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งใหม่ใน 45 วัน

 

ก่อนหน้าการประชุมสภา พิจารณาเห็นชอบพระราชกำหนดเกี่ยวกับการกู้เงินและแก้วิกฤตโรคระบาด และพระราชกำหนดการประชุมออนไลน์ รวม 4 ฉบับ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม

เวลา 10.00 น. วันเดียวกัน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ได้เรียกประชุม ส.ส.พปชร. ประมาณ 60 คน และมีข่าวออกมาว่า เป็นการให้กำลังใจนายอุตตมและฝ่ายบริหารพรรค

ในเวลาเดียวกัน นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. ประธานวิปรัฐบาล ได้เรียกประชุม ส.ส.ที่ชั้น 6 อาคารรัฐสภา โดยระบุว่า เพื่อเตรียมความพร้อมในการลงมติ พ.ร.ก. 4 ฉบับ

กลายเป็นการประลองกำลังขั้วทางการเมืองในพรรค

วันรุ่งขึ้น 1 มิถุนายน หลังจาก พ.ร.ก. 4 ฉบับผ่านสภาไปแล้ว นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เกริ่นกับผู้สื่อข่าวว่า วันนี้มีข่าวใหญ่

เวลา 13.30 น. นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค พปชร. แถลงว่า ในฐานะรองหัวหน้าพรรค พปชร. ได้รับหนังสือลาออกจากกรรมการบริหารพรรค 18 ท่าน จึงได้ทำหนังสือไปยังหัวหน้าพรรค พปชร. ว่า การลาออกดังกล่าว เป็นเหตุให้ตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคว่างลงเกินกึ่งหนึ่ง มีผลให้กรรมการบริหารพรรค พปชร.ทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่ง

ตามข้อบังคับพรรคต้องเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ใน 45 วัน ขอให้หัวหน้าพรรคเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อเร่งกำหนดวันจัดประชุมใหญ่สามัญ เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่

ในการแถลงไม่ได้บอกเหตุผลว่าทำไมกรรมการบริหารพรรคลาออก

ก่อนหน้านั้น เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีข่าวว่าแกนนำพรรคระดับบิ๊กเดินเข้าไปบอกให้นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค และ รมว.คลัง ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค

พร้อมกับมีข่าวตามมาว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ จะเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคเอง

ส่วนตำแหน่งเลขาธิการพรรค นายสันติ พร้อมพัฒน์ จะเข้ามานั่งแทน ในฐานะนายทุนพรรค ผู้ออกค่าใช้จ่าย จัดหาที่ทำการพรรค

นอกจากนั่งเลขาฯ พรรคแล้ว ยังกระจายโผว่า นายสันติ พร้อมพัฒน์ จะยึดเก้าอี้ รมว.คลังจากนายอุตตมมานั่งด้วย

ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างรุนแรง โดยมีน้ำเสียงไม่เห็นด้วย เพราะยังอยู่ระหว่างการต่อสู้กับไวรัสโควิด

พล.อ.ประยุทธ์เองยังส่งเสียงปรามมาว่า ไม่ใช่เวลาจะพูดเรื่องการเมือง

เว้นช่วงไประยะหนึ่ง ภายหลังพระราชกำหนดเข้าสภา และผ่านความเห็นชอบ

 

การลาออกของกรรมการบริหารทั้ง 18 คน จึงส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบัน กลายเป็นกรรมการรักษาการ

รักษาการเพื่อประชุมใหญ่พรรค แล้วเลือกตั้งใหม่

ปัญหาคือ การประชุมใหญ่พรรค ซึ่งยังติด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามกิจกรรมรวมตัว จะดำเนินการได้เมื่อไหร่

หากดำเนินการได้ เลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ตั้งหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคคนใหม่ ขั้นตอนต่อไปจะเป็นเรื่องของการเสนอให้ทบทวนตำแหน่งรัฐมนตรี

ที่น่าสนใจคือ ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ที่กล่าวถึงการปรับเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคว่า เป็นเรื่องธรรมดา ไม่เกี่ยวกับตนเอง

แต่ถ้าเป็นการปรับปรุงคณะรัฐมนตรี ตนจะดูเองว่ามีความจำเป็นอย่างไรหรือไม่

เส้นทางไปสู่การปรับปรุง ครม. จึงขึ้นกับการพิจารณาของนายกฯ เป็นสำคัญ

แม้ว่ากลุ่มที่เคลื่อนไหวมีความมั่นใจว่า จะเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรค และปรับ ครม.ได้อย่างรวดเร็ว แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น แนวความคิดที่แตกต่าง เชื่อว่าจะไม่ใช่เรื่องที่ลงตัวได้ง่ายนัก

และความไม่ลงตัวโดยง่าย จะเป็นข่าวสารการเมืองที่เข้มข้นดุเดือดในห้วงเวลาต่อไปนี้

 

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่