โฟกัสพระเครื่อง/ โคมคำ/ พระกริ่ง พ.ศ.2479 สมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศนเทพวราราม

สมเด็จพระสังฆราช (แพ)

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

พระกริ่ง พ.ศ.2479

สมเด็จพระสังฆราช (แพ)

วัดสุทัศนเทพวราราม

 

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (แพ ติสสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 12 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8

ทรงได้รับการยกย่องเป็นพระคณาจารย์ที่โด่งดังในการสร้าง “พระกริ่ง” ของเมืองไทย

“พระกริ่ง พ.ศ.2479” สมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศน์ สร้างในปี พ.ศ.2479 ในขณะดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัต

มูลเหตุเกิดจากการที่คณะศิษย์และผู้ที่เคารพนับถือศรัทธา มีความประสงค์จะได้รับพระกริ่งและพระชัยวัฒน์ไว้สักการบูชา เนื่องจากยังไม่เคยมีโอกาสได้รับจากพระหัตถ์ จึงนำความมาปรึกษากับนายนิรันดร แดงวิจิตร (อ.หนู) ซึ่งขณะนั้นยังครองสมณเพศอยู่

ต่อมาจึงนำความไปปรึกษากับ ร.อ.ขุนอนุการณกิจ ศิษย์ผู้ใกล้ชิดอีกคน ซึ่งก็ได้รับพระเมตตาอนุญาตให้จัดสร้างสมตามความประสงค์ โดยทรงอนุญาตให้ทุกคนจองได้คนละ 1 องค์ และมีข้อแม้ว่าทุกคนจะต้องหาเงินพดด้วงตรายันต์มาคนละ 1 บาท พร้อมกับเงินค่าจ้างหล่ออีกคนละ 1 บาท ส่วนโลหะแร่ธาตุและค่าใช้จ่ายในการพิธีทรงเมตตาออกให้ทั้งสิ้น ปรากฏว่ามีผู้ประสงค์สั่งจองรวมทั้งสิ้น 464 องค์

กำหนดพิธีหล่อในวันเพ็ญเดือนสิบสอง ตรงกับวันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม 2479

พระกริ่งรุ่นนี้ พุทธลักษณะใหญ่โตล่ำสัน พระกรรณสั้น ไม่ถึงพระอังสา พระหัตถ์ซ้ายถือวัชระ ศิลปะจีนแบบหนองแสพิมพ์ใหญ่ ขนาดสูงประมาณ 4.1 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2.4 เซนติเมตร

เนื้อองค์พระจัดอยู่ในวรรณะแดง และเนื่องจากมีเงินกลมตรายันต์หลายร้อยก้อนผสมอยู่ จึงเป็นเหตุให้พระกริ่ง 2479 เมื่อสัมผัสหรือแช่น้ำไว้นาน ผิวองค์พระจะกลับดำสนิทเป็นเงางามเสมือนสีนิล

จากคำบอกเล่าของนายนิรันดรระบุว่า เมื่อหล่อพระกริ่ง 2479 เสร็จแล้วก็ได้นำพระกริ่งไปไว้ในพระตำหนักฯ เพื่อให้เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ปลุกเสกอีกครั้งหนึ่ง จนเป็นที่พอพระทัยแล้วจึงประทานแก่ผู้สั่งจอง และในปีนั้นรับสั่งว่า พระกริ่งคราวนี้รัศมีดีมาก ยิ่งบูชายิ่งเป็นสิริมงคล ไปไหนให้เอาติดตัวไปด้วยŽ

จึงเป็นพระกริ่งที่นิยมมาก หายากและสนนราคาสูงรุ่นหนึ่งของพระกริ่งวัดสุทัศน์

พระกริ่ง 2479 สมเด็จพระสังฆราช (แพ)

 

พระนามเดิม “แพ” ประสูติเมื่อวันพุธที่ 12 พฤศจิกายน 2399 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในครอบครัวเป็นชาวสวนบางลำพูล่าง อำเภอคลองสาน จังหวัดธนบุรี

พ.ศ.2411 ปีมะโรง บรรพชาที่วัดราชบูรณะ ศึกษาเล่าเรียนที่วัดทองนพคุณ ต่อมาเมื่ออายุ 16 ปี ตามสมเด็จพระวันรัต (สมบูรณ์) มาอยู่วัดพระเชตุพนฯ ครั้นสมเด็จพระวันรัตอาพาธใกล้ถึงมรณภาพ แนะนำให้พระองค์ไปฝากตัวเป็นศิษย์พระเทพกวี (แดง) วัดสุทัศน์ (ภายหลังพระเทพกวีได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระวันรัต)

ปีเถาะ พ.ศ.2422 อุปสมบทที่วัดเศวตฉัตร มีพระเทพกวี (แดง) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์ชุ่ม วัดทองนพคุณ และพระอาจารย์โพ วัดเศวตฉัตร เป็นคู่พระกรรมวาจาจารย์ กลับมาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมกับพระอุปัชฌาย์ที่วัดสุทัศน์ และยังได้ศึกษากับสมเด็จพระสังฆราช (สา) วัดราชประดิษฐ์

ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรม 3 ครั้ง ได้เปรียญธรรม 5 ประโยค

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2432 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระศรีสมโพธิ และได้เลื่อนสมณศักดิ์ชั้นเทพในพระราชทินนามเดิม เมื่อ พ.ศ.2439 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

พ.ศ.2441 เลื่อนเป็นพระราชาคณะที่พระเทพโมลี

พ.ศ.2433 เลื่อนเป็นพระธรรมโกศาจารย์

พ.ศ.2455 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานหิรัญบัฏ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระพรหมมุนี

พ.ศ.2466 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระพุฒาจารย์

พ.ศ.2472 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัต

ครั้นเมื่อพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าองค์ที่ 11 วัดราชบพิธฯ เสด็จสวรรคต จึงมีประกาศสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2481 โดยประกาศสถาปนาสมเด็จพระวันรัตขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 12 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ 8

ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 วันที่ 19 กันยายน 2482 ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสุพรรณบัฏสมเด็จพระสังฆราชเจ้าว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณŽ

 

ทรงปกครองคณะสงฆ์ให้เจริญเรียบร้อยก้าวหน้ามาโดยลำดับ ตั้งแต่เริ่มจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์

ด้านการศึกษาส่วนพระปริยัติธรรม รับหน้าที่เป็นแม่กองสนามหลวงฝ่ายบาลี สอบวัดความรู้พระปริยัติธรรมพระภิกษุ-สามเณร ตั้งแต่ พ.ศ.2471-2474

แม้จะทรงพระชราภาพ แต่ยังทรงพระปรีชาญาณ และทรงเห็นว่าจะไม่สามารถปกครองสังฆมณฑลให้สัมฤทธิผลได้ดังพระราชประสงค์ จึงทรงพระกรุณาตั้งคณะบัญชาการแทนพระองค์ขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อดำเนินศาสนกิจให้ลุล่วง

จวบจนวันที่ 14 ตุลาคม 2484 รัฐบาลได้ประกาศ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เพื่อประสานนโยบายฝ่ายพุทธจักรกับอาณาจักร จึงมีพระบัญชาให้เปิดประชุมสมัยสามัญแห่งสังฆสภาขึ้น และเสด็จเปิดเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2485

ทรงแต่งตั้งพระมหาเถรานุเถระในสังฆสภาให้ดำรงตำแหน่งตามบทแห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 โดยครบถ้วน

ในบั้นปลาย ทรงประชวรด้วยพระโรคชรา ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2487 คณะแพทย์ถวายการรักษาจนสุดความสามารถ พระอาการทรุดหนัก จนถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2487 สิ้นพระชนม์ที่ตำหนักสมเด็จ ในวัดสุทัศนเทพวราราม

สิริพระชนมายุ 89 ปี พรรษา 66

ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชรวม 7 ปี

 

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่