ธงทอง จันทรางศุ | โทษทางกฎหมายอาญา ที่เกินความ “จำเป็น”

ธงทอง จันทรางศุ

เคยได้ยินชื่อพระเจ้าฮัมมูราบีไหมครับ

สำหรับนักเรียนวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายที่เคยเรียนหนังสือกับผมย่อมเคยได้ยินชื่อนี้ผ่านหูมาแล้วเป็นแน่

เพราะเมื่อเราพูดถึงกฎหมายเก่าแก่ในโลกฉบับหนึ่งที่เรียกชื่อว่า ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี ซึ่งมีอายุอยู่ในราว 1800 ปีก่อนคริสตกาล บวกลบคูณหารถอยหลังจากปัจจุบันไปประมาณ 3,800 ปี พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ว่านี้ทรงครองราชอาณาจักรอยู่ในแถวประเทศอิรักทุกวันนี้

หลักสำคัญที่ทรงเขียนไว้ในกฎหมายฉบับนั้นมีอยู่ว่า “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” มีความหมายว่าถ้าใครไปทำร้ายผู้อื่นให้ได้รับอันตรายอย่างไร เมื่อถูกจับได้ไล่ทัน ผู้กระทำความผิดต้องได้รับโทษอย่างเดียวเป็นการแก้แค้นทดแทน

เช่น ไปฆ่าใครตาย เมื่อจับผู้ร้ายได้ ผู้ร้ายก็ต้องตายตกไปตามกัน หรือผู้ร้ายไปทำใครตาบอด โทษที่จะลงแก่ผู้ร้ายคนนั้นคือทำให้ตาบอดเสมอกันกับผู้เสียหาย จะตาบอดข้างเดียวหรือตาบอดสองข้างก็แล้วแต่ก็ข้อเท็จจริง

ถ้าเราไปข่มขืนใครเข้า เราก็ต้องถูกข่มขืนเป็นการชดเชยตอบแทน

แค่คิดก็ตื่นเต้นหวาดเสียวเสียแล้ว

เวลาผ่านไปหลายพันปีแล้ว หลักการลงโทษแบบนี้มีพัฒนาการคลี่คลายมาอีกมากมาย แต่ผมมีข้อสังเกตว่า หลายคนยังยึดแนวพระเจ้าฮัมมูราบีอยู่นั่นเอง เวลามีข่าวอาชญากรรมร้ายแรงเกิดขึ้นในหน้าหนังสือพิมพ์เมืองไทย ผมมักได้ยินเสียงวิจารณ์ว่าอยากให้นำกฎหมายแบบนี้กลับมาใช้อีกครั้งหนึ่งอยู่เนืองๆ

ย้อนกลับไปดูกฎหมายเก่าบ้านเราตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยายังเป็นพระมหานครราชธานี กฎหมายครั้งนั้นล้วนมีโทษทางอาญาเสียทั้งสิ้น เพราะความผิดในเรื่องกฎหมายแพ่งในบ้านเรายังไม่เป็นที่รู้จักคุ้นเคย เอะอะก็เขียนเป็นกฎหมายอาญาไปหมด

เช่น การกู้หนี้ยืมสิน ถ้าเป็นปัจจุบัน ลูกหนี้ไม่มีเงินใช้หนี้ เจ้าหนี้ต้องไปฟ้องศาลแพ่ง เมื่อชนะคดีก็ไปบังคับคดี ถ้าลูกหนี้ไม่มีเงินใช้หนี้ก็ไปยึดทรัพย์ของลูกหนี้มาขายทอดตลาด ได้เงินมาเท่าไหร่ก็เอามามอบให้เจ้าหนี้ ตามจำนวนหนี้ที่ติดค้างกันอยู่ ถ้ายังเหลือเงินหลังจากใช้หนี้หมดแล้ว ต้องคืนเงินส่วนที่เหลือให้ตัวลูกหนี้กลับคืนไป

แต่ในสมัยอยุธยาไม่เป็นอย่างนั้นครับ ใครไปยืมเงินใครแล้วไม่มีเงินใช้หนี้ เจ้าหนี้จะมาร้องขึ้นกับทางการ ให้เป็นธุระไปจับตัวลูกหนี้หรือพ่อ-แม่ พี่-น้องมาจำขังไว้ เพื่อเร่งรัดให้ตัวลูกหนี้หรือญาติพี่น้องที่ยังไม่ถูกจับตัว รีบไปหาเงินมาใช้หนี้

ตรงนี้ถ้ามองด้วยแว่นสายตาของนักกฎหมายปัจจุบัน จะเห็นว่าเราเอากฎหมายอาญาไปใช้กับเรื่องที่เป็นเรื่องในทางแพ่งแท้ๆ

มรดกทางความคิดเรื่องนี้ยังคงตกทอดมาจนถึงคนรุ่นเราไม่ใช่น้อย

ไม่ต้องดูอื่นไกลครับ กฎหมายเรื่องความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ซึ่งอันที่จริงแล้วเป็นเรื่องในทางแพ่งเกี่ยวกับเรื่องการค้าการขายการสั่งจ่ายเช็คให้แก่กัน

ถ้าเช็คเด้ง เจ้าหนี้ควรไปใช้กระบวนการบังคับหนี้อย่างกฎหมายแพ่งธรรมดา

แต่บ้านเราเมื่อ 60 กว่าปีมาแล้วได้ออกกฎหมายให้เรื่องเช็คเด้งกลายเป็นคดีอาญา มีโทษถึงติดคุกติดตะราง ในขณะที่ประเทศอื่นเขาเลิกวิธีการอย่างนี้ไปนานแล้ว

เหลือประเทศเราเป็นโดดเดี่ยวผู้น่ารักอยู่นี่แหละครับ

ถ้าไม่เคืองใจกัน ผมขอพูดหน่อยว่า บ้านเราชอบเขียนกฎหมายให้มีโทษทางอาญาจนเกินความจำเป็น พูดเป็นภาษาฝรั่งว่า Over criminalization

และยิ่งไปกว่านั้น คือหัวใจของคนไทยจำนวนไม่น้อยก็อยากให้เรื่องอะไรก็แล้วแต่ที่ไม่ถูกใจเราเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาเสียทั้งนั้น

การจะเขียนกฎหมายสักมาตราหนึ่งในเรื่องใดเป็นความผิดอาญา มีประเด็นที่ต้องชั่งตวงวัดอีกมาก ขึ้นต้นคือการตรึกตรองเสียก่อนว่า เรื่องที่ว่านั้นเป็นความชั่วที่แท้จริงหรือไม่ หรือเป็นแต่เพียงความเห็นที่แตกต่างไปจากบรรทัดฐานของเรา

อย่าลืมนะครับว่า เรายังมีกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ให้ประกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนพลเมืองเอาไว้ด้วย

ประเด็นต่อมาคือ การกำหนดให้เรื่องใดเป็นความผิดอาญา จะมีค่าใช้จ่ายของประเทศเกิดขึ้นติดตามมาเป็นจำนวนมาก

ตั้งแต่เงินเดือนและค่าใช้จ่ายของพนักงานเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม

ตลอดไปจนถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ต้องขัง จำเลยและนักโทษในขั้นตอนต่างๆ

โสหุ้ยเหล่านี้เราต้องนำมาคิดคำนวณว่าคุ้มค่ากันหรือไม่ กับการขังคนไว้นานปีในเรือนจำ

อีกข้อหนึ่งที่เรามักมองข้ามกันไป คือค่านิยมในบ้านเรานั้น เมื่อใครเข้าไปอยู่ในคุกตะรางเสียครั้งหนึ่งแล้ว โอกาสกลับคืนมาสู่ชีวิตปกติแทบจะดับศูนย์

เพราะความรังเกียจ “คนขี้คุก” นั้นมีอยู่ตั้งแต่ระบบราชการเป็นต้นไปจนถึงสามัญชนคนทั้งหลาย

ยิ่งมีจำนวนผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำมากเท่าไหร่ ย่อมหมายความว่าคนจำนวนใกล้เคียงกับตัวเลขนั้น จะถูกผลักออกไปจากสังคม ไปอยู่ที่ไหนก็ไม่มีใครสนใจดูดำดูดี

และอาจย้อนกลับมาเป็นพิษเป็นภัยกับสังคมได้โดยง่าย แม้เขาอาจไม่ปรารถนาจะทำเช่นนั้นเลยก็ตามที

กล่าวโดยเฉพาะเจาะจง ผมขอฝากข้อคิดไว้สองเรื่องครับ

เรื่องแรก อะไรควรเป็นความผิดอาญาหรือไม่

และเรื่องที่สอง เราจะมีกลไกบังคับโทษทางอาญาที่มีประสิทธิภาพ ค่าใช้จ่ายไม่แพงหูฉี่ และไม่ก่อให้เกิดปัญหาอื่นติดตามมาเป็นโซ่ข้อที่สองข้อที่สาม นอกเหนือจากการจำคุกบ้างหรือไม่

ยกตัวอย่างเช่น ก่อนที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาล เราอาจมีกลไกที่เรียกว่าการชะลอการฟ้อง ซึ่งอาจนำมาใช้เมื่อผู้ถูกกล่าวหายอมรับว่าตัวเองเป็นผู้กระทำความผิดในเรื่องที่ไม่รุนแรง มีการเยียวยาความเสียหายอย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว

จากนั้นก็ให้ผู้กระทำความผิด ให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ทำผิดอีกในเวลาเท่านั้นเท่านี้ โดยอาจมีมาตรการเสริมอย่างอื่น เช่น ต้องไปบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ หรือไปทำนู่นทำนี่ พอครบเวลาแล้ว ไม่มีการกระทำความผิดซ้ำเดิมอีก ก็เป็นอันปิดแฟ้มกันไป

หรือทางเลือกอีกแนวทางหนึ่ง ได้แก่ การกำหนดโทษปรับในอัตราสูง ก็อาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้คนยำเกรงไม่ทำผิดกฎหมาย และเป็นหนทางลดจำนวนผู้ต้องขังที่มีอยู่ในเรือนจำให้ลดน้อยลงบ้าง

ดูเหมือนผมเคยเล่าในที่นี้แล้วว่า ขณะที่เรือนจำของเรามีความจุทั้งประเทศอยู่ที่จำนวนรวมประมาณ 100,000 คน แต่เรามีผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำทุกประเภทรวมกันอยู่ที่ประมาณ 400,000 คน ในจำนวนนี้เป็นคดียาเสพติดประมาณร้อยละ 80

เคยหยุดคิดกันสักนิดไหมครับว่า เราทำอย่างนี้มากี่ปีแล้ว และเราได้รับความสำเร็จที่แท้จริงคืออะไรบ้าง

ในชีวิตนี้ผมเคยมีหน้าที่พิจารณากฎหมายมาหลายฉบับ ในขั้นตอนต่างๆ กัน เคยเป็นทั้งผู้ยกร่างกฎหมายในฐานะกระทรวงเจ้าของเรื่อง เป็นกรรมการกฤษฎีกา หรือเป็นกรรมาธิการในสภา

คำถามหนึ่งที่ผมถามตัวเองหรือถามผู้ชี้แจงอยู่เสมอ คือคำถามว่าเราไม่มีทางเลือกอื่นแล้วหรือ จึงต้องกำหนดให้เรื่องนี้เป็นความผิดอาญา ที่มีโทษถึงติดคุกติดตะราง

ขออภัยที่สัปดาห์นี้ทำให้ปวดหัวนะครับ

จะลงโทษผมอย่างไรก็ได้ ขออย่าให้ต้องไปติดคุกก็แล้วกัน

ผมตัวโตหาที่นอนยาก นอนตรงไหนแล้วก็ขยับยากอีก

เห็นใจคนอื่นเขาจริงๆ


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่