ต่างประเทศ : กม.ความมั่นคง ระเบิดเวลาลูกใหม่ฮ่องกง

บรรยากาศในฮ่องกงเขม็งเกลียวตึงเครียดหนักขึ้นอีกครั้งในทันทีที่มีการเร่งชงร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่จะบังคับใช้ในฮ่องกง เข้าสู่การพิจารณาของสภาประชาชนแห่งชาติจีน (เอ็นพีซี) หรือสภานิติบัญญัติของจีนเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน เพื่อผ่านความเห็นชอบให้ตราเป็นกฎหมายบังคับใช้ในฮ่องกง ดินแดนใต้อาณัติปกครองของจีนโดยเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติฮ่องกงแต่อย่างใด

ถือเป็นความพยายามของจีนในการลัดขั้นตอนในกระบวนการตรากฎหมายที่ควรจะต้องเป็นไป เพราะรัฐบาลปักกิ่งต้องการให้ร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในฮ่องกงโดยเร็ว

เพื่อหวังให้เป็นกลไกกำราบคลื่นใต้น้ำป่วนจีนในฮ่องกง หลังจากความพยายามที่ผ่านมาประสบความล้มเหลว

โดยในปี 2003 รัฐบาลฮ่องกงพยายามผลักดันร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติออกมาแล้ว แต่ถูกคลื่นผู้ประท้วงในฮ่องกงมากกว่าครึ่งล้านออกมาต่อต้านอย่างรุนแรง

จนรัฐบาลฮ่องกงต้องยอมล่าถอยไปพร้อมกับการลาออกจากตำแหน่งของเรจินา อิป หัวหน้าฝ่ายความมั่นคงของฮ่องกงในห้วงเวลานั้น

 

การตรากฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของฮ่องกงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ อันเป็นผลผูกพันภายใต้มาตรา 23 ของกฎหมายพื้นฐาน (Basic Law) ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นรัฐธรรมนูญฮ่องกง ที่บัญญัติขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญจีน ผลจากปฏิญญาร่วมจีน-อังกฤษที่ลงนามกันไว้ว่าด้วยอนาคตของฮ่องกง หลังจากที่อังกฤษซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาณานิคมของฮ่องกงได้ส่งมอบดินแดนฮ่องกงกลับคืนสู่อ้อมอกปกครองของจีนแล้วในปี 1997 โดยที่จีนให้คำมั่นว่าจะปกครองฮ่องกงภายใต้นโยบาย 1 ประเทศ 2 ระบบ ซึ่งเป็นหลักประกันรับรองสิทธิเสรีภาพของชาวฮ่องกงที่จะมีอิสระเหนือกว่าดินแดนในปกครองใดๆ ของจีน

แต่กลุ่มนักเคลื่อนไหวและชาวฮ่องกงผู้สนับสนุนประชาธิปไตย โต้เถียงว่าร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติดังกล่าวจะถูกรัฐบาลปักกิ่งใช้เป็นเครื่องมือในการย่ำยีสิทธิเสรีภาพของชาวฮ่องกง

และใช้เป็นเครื่องมือในการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลปักกิ่งในฮ่องกง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักการเมืองสนับสนุนประชาธิปไตย นักเคลื่อนไหว ทนายความ นักสิทธิมนุษยชน และสื่อมวลชน

อย่างที่เคยมีตัวอย่างปรากฏให้เห็นมาในจีนแผ่นดินใหญ่

 

ทั้งนี้ ภายใต้ร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับนี้ มีบทบัญญัติห้ามก่อกบฏ การแบ่งแยกดินแดน การปลุกระดมเพื่อต่อต้าน และการล้มล้างรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งถูกมองว่าเป็นการมุ่งใช้อำนาจภายใต้กฎหมายนี้ในการจัดการกับผู้ที่เคลื่อนไหวต่อต้านจีน

โดยประเด็นที่ยังมีการถกเถียงกันมากที่สุดคือ มาตรา 4 ที่กำหนดให้ฮ่องกงจะต้องปรับปรุงความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นการเปิดทางให้มีการตั้งหน่วยงานด้านความมั่นคงของจีนขึ้นในฮ่องกงด้วย

นอกเหนือจากร่างกฎหมายความมั่นคงฉบับนี้แล้ว สภานิติบัญญัติฮ่องกงยังกำลังพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยเพลงชาติจีนอีกฉบับ ที่มีบทบัญญัติว่า การดูหมิ่นเพลง “มาร์ชทหารอาสา” ซึ่งเป็นเพลงชาติจีน ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย และให้มีการบรรจุการสอนเพลงชาติจีนในโรงเรียนฮ่องกงและให้องค์กรต่างๆ ในฮ่องกงร้องเพลงชาติจีน หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกหรือโทษปรับ

โจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยคนดังในฮ่องกง วิพากษ์ร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติอย่างดุดัน โดยชี้ว่าเป็นความพยายามอย่างชัดเจนของรัฐบาลปักกิ่งที่จะปิดปากชาวฮ่องกงด้วยกำลังและการทำให้หวาดกลัว แต่ชาวฮ่องกงจะไม่หวั่นกลัวในการเผชิญหน้ากับจีน

ขณะที่รัฐบาลฮ่องกงภายใต้การนำของนางแคร์รี่ หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ซึ่งถูกตราหน้าเป็น “หุ่นเชิด” ของรัฐบาลปักกิ่ง ประกาศร่วมมือกับจีนอย่างเต็มที่ในการตรากฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ โดยยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้จะช่วยเจ้าหน้าที่รัฐในการต่อสู้กับผู้ที่สร้างปัญหาซึ่งกระทำผิดกฎหมายในฮ่องกง

 

ตอนนี้ดูเหมือนว่าร่างกฎหมายความมั่นคงฉบับนี้กำลังเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่สำหรับฮ่องกง ที่พร้อมจะระเบิดการประท้วงอย่างรุนแรงขึ้นในดินแดนศูนย์กลางการเงินแห่งเอเชียแห่งนี้ได้ทุกเมื่อ

และอาจทวีความรุนแรงเลวร้ายยิ่งกว่าเหตุประท้วงเดือดยืดเยื้อนานถึง 7 เดือนในฮ่องกงในช่วงปีที่ผ่านมาได้ จากการต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนของฮ่องกง ซึ่งบานปลายกลายเป็นเหตุจลาจลรุนแรงถึงขั้นยึดสนามบิน จนทำให้ฮ่องกงกลายเป็นอัมพาต แม้รัฐบาลฮ่องกงจะยอมถอนร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปแล้วก็ตาม

โดยอาจเป็นโชคช่วยรัฐบาลฮ่องกงที่เกิดเหตุแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งกลายเป็นวิกฤตสาธารณสุขโลกขึ้นมาเสียก่อน จนทำให้ม็อบฮ่องกงสลายตัวไปเอง

แต่สถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในฮ่องกงตอนนี้ที่ดูซาลงไปบ้างแล้ว ก็อาจทำให้ม็อบผู้ประท้วงฮ่องกงกลับมาจุดติดรวมตัวกันได้มากขึ้นในการแสดงพลังต่อต้านรัฐบาลปักกิ่ง โดยยังมีแรงบีบจากหลายชาติตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา คู่ปรับจีนตลอดกาล และไต้หวัน หอกข้างแคร่ที่จีนอ้างสิทธิเป็นหนึ่งในดินแดนของตนเอง คอยตอบโต้กดดันจีนอยู่อีกทาง

จากนี้คงต้องจับตาดูพัฒนาการความขัดแย้งในฮ่องกงให้ดีว่าจะลุกเป็นไฟร้อนแรงจนยากดับขึ้นอีกเมื่อใด