ไซเบอร์ วอชเมน : “ไทยชนะ” ความหวังดี แต่ประสงค์ร้ายต่อเสรีภาพ-ความเป็นส่วนตัว?

กลายเป็นผลพวงโดยอัตโนมัติก็ว่าได้ ในช่วงเวลาที่ทุกคนเผชิญกับโรคระบาดในยุคนี้คือ การสื่อสารและเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามามีบทบาทมากขึ้นกว่าที่เคย

ไม่เฉพาะแค่การสื่อสาร แต่ยังรวมถึงการเฝ้าติดตามกิจกรรมต่างๆ เพื่อสามารถระบุตำแหน่งของการเกิดเคสผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ด้วย

แม้สถานการณ์การระบาดในไทยมีแนวโน้มดีขึ้น เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อมีไม่ถึง 10 หรือบางวันเป็นศูนย์ ท่ามกลางกระแสเรียกร้องขอคืนความปกติกลับมา หลังรัฐบาลออกมาตรการล็อกดาวน์ที่กลับส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและชีวิตประชาชนจากการวางนโยบายไม่รอบด้านครอบคลุมมากพอ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกลับเลือกขยายเวลาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน สวนทางกับข้อเรียกร้องของหลายภาคส่วน

และยังมีเรื่องของการปรากฏตัวของระบบติดตามในชื่อ “ไทยชนะ” ที่รัฐบาลนำมาเพื่อใช้ควบคุมการระบาดด้วยการเฝ้าติดตาม ซึ่งในห้วงเวลาเดียวกันนั้นเองที่ ครม.มีมติเลื่อนบังคับใช้บางมาตราใน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ออกไปอีก 1 ปีนั้นทำให้มีการตั้งคำถามถึงความบังเอิญในเรื่องนี้

รวมทั้งไม่นานมานี้ ทวิตเตอร์ได้เปิดแอ็กเคาต์ ทวิตเตอร์ไทยแลนด์ขึ้นมา แต่ได้รับการตอบรับในเชิงลบอย่างรุนแรงทั้งด่าทอ และติดแฮชแท็ก ไม่เอาทวิตเตอร์ไทยแลนด์

1 ระบบ กับ 1 แอ็กเคาต์ทางการของไทย แม้จะออกมาในเชิงประสงค์ดี แต่เพราะอะไรเราถึงไม่สามารถไว้ใจได้?

 

“ไทยชนะ” ในตอนแรกมาเป็นแพลตฟอร์มปฏิบัติการบนเว็บไซต์ เพื่อใช้แจ้งรายงานตัวกับสถานที่ที่ประชาชนไปใช้บริการ เหมือนกับลงชื่อในสมุดเยี่ยมชมเวลาเราเข้าห้องสมุดหรือพิพิธภัณฑ์อะไรแบบนั้น ก่อนล่าสุดจะพัฒนาเป็นแอพลิเคชั่นให้ไปดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ IOS และ Android

ไทยชนะให้เราลงชื่อด้วยการใช้คิวอาร์โค้ดในการแจ้งว่าได้ใช้บริการหรือเข้ามาในพื้นที่นี้ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโควิด

และมีกรมควบคุมโรคเป็นผู้เข้าถึงข้อมูลส่วนนี้

ส่วนวิธีการที่ให้คุณแจ้งตัวใน “ไทยชนะ” นั้นคือ ใช้สมาร์ตโฟนส่องคิวอาร์โค้ดเพื่อระบบบันทึกการเข้าและออกสถานที่นั้นที่คุณเดินทางไป รวมถึงการให้คุณลงชื่อในสมุดบันทึกตามจุดต่างๆ

และพอกล่าวถึงตัวสแกนคิวอาร์โค้ด คนส่วนใหญ่ก็จะใช้แอพพลิเคชั่นไลน์ในการสแกนกัน

ตรงนี้เองที่ควรกังวลกัน เพราะในแวดวงไอที มักแนะนำกันว่า บรรดาแอพพลิเคชั่นต่างๆ ไม่ว่าไลน์หรือเฟซบุ๊ก คนใช้งานต้องไม่กรอกข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญไว้ข้างใน เพราะอะไรก็ตามที่ถูกออกแบบเป็นกุญแจ (ตั้งแต่เบราเซอร์, URL ไปจนถึงคิวอาร์โค้ด) ที่สามารถเข้าหลังบ้านของระบบบัญชีผู้ใช้งานได้ พวกเขาก็จะได้ข้อมูลส่วนตัวของคุณไปใช้ทำอะไรก็ได้

หรือถ้าบริษัทใดหรือรัฐบาลใด (โดยเฉพาะรัฐบาลเผด็จการที่ชอบเฝ้าติดตามประชาชน) มีปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถประมวลระดับสูง แค่มีเบอร์โทร-หรืออีเมล ก็สามารถระบุตัวเจ้าของที่ใช้งานอยู่ได้ในทันใจ

ความเป็นส่วนตัวของคุณก็จะไม่ส่วนตัวอีกต่อไป

 

อีกเรื่องหนึ่งที่ควรรู้ไว้ แม้กรมควบคุมโรคจะเป็นหน่วยงานที่เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้ แต่ด้วยภายใต้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่อำนาจสั่งการทั้งหมดอยู่ที่นายกรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว

ดังนั้น ข้อมูลที่กรมควบคุมโรคได้ นายกรัฐมนตรีก็สั่งเอามาให้ได้ด้วย

ถึงตรงนี้ โดยเฉพาะกับนายกรัฐมนตรีที่อดีตเป็นผู้ก่อรัฐประหาร ตั้งรัฐบาลทหาร คสช. ใช้อำนาจจำกัด ล่วงละเมิดเสรีภาพมาหลายปี จนมาเปลี่ยนชุดใหม่เป็นนายกรัฐมนตรีต่อผ่านการเลือกตั้งที่น่ากังขา ซึ่งแนวนโยบายยังคงเหมือนยุค คสช.คือความมั่นคงของชาติบนฐานที่เสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐบาลสำคัญกว่าชีวิตและเสรีภาพประชาชน มีหน่วยงานเฝ้าจับข่าวปลอมที่จับทั้งข่าวปลอมและความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่บริหารมีปัญหา

มี พ.ร.บ.โรคติดต่อซึ่งสามารถควบคุมการระบาด แต่กลับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขยายครอบคลุมมากกว่าเรื่องโรคระบาด ที่กำลังส่งผลลบต่อประชาชน พอคลายมาตรการก็ต้องหาทางที่ยังสามารถเฝ้าสอดแนมประชาชน “ไทยชนะ” จึงถูกออกแบบเพื่อรองรับตรงนี้ ด้วยข้ออ้างการควบคุมโรคระบาด

การออกมาตรการที่ลักษณะควบคุมแบบเบ็ดเสร็จเช่นนี้ ก็ย่อมสะท้อนเจตนาแล้วว่า ต้องการควบคุมชีวิตและความคิดประชาชนไม่ให้ออกมาต่อต้านรัฐบาลที่อยู่ในช่วงขาลงต่อเนื่อง

และจากการที่ผู้เขียนลองสำรวจด้วยตัวเองพบว่า มีการตั้งจุดสแกนที่ไม่ใช่แค่หน้าทางเข้าห้างหรือสถานที่ใดๆ แต่ยังพบจุดสแกนในร้านค้าในห้างที่เราเพิ่งสแกนอีก เรียกว่า สแกนกันซ้ำซ้อน

หรือแม้แต่ในร้านสะดวกซื้อที่ก่อนหน้านี้ระบาดกันหนักหน่วง อย่างมากคือใส่หน้ากากกับตรวจวัดอุณหภูมิแล้วเข้าไปซื้อของได้ พอ “ไทยชนะ” เข้ามา ก็มีทั้งสแกนและเขียนลงชื่อด้วยปากกาที่ไม่ใช่แค่คุณคนเดียวที่จับแล้วเขียนชื่อตัวเองลงไปในสมุดบันทึก

แน่นอนว่าเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องสแกน เพราะความหมายแบบไทยๆ “การขอความร่วมมือ” ก็คือการสั่งบังคับอย่างหนึ่ง

แต่ถึงอย่างนั้น รัฐบาลก็ไม่สามารถได้ข้อมูลส่วนตัวผู้เขียนไป เพราะไม่ได้ใช้แอพพลิเคชั่นไลน์ในการสแกน

 

ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ข้อมูลและการตลาดออนไลน์ได้ออกมาเตือนว่า นับวันความเป็นส่วนตัวของคนเริ่มลดลง ข้อมูลส่วนบุคคลเริ่มเข้ามาอยู่ในพื้นที่สาธารณะมากขึ้นเรื่อยๆ และสิ่งที่น่ากลัวก็คือ คนส่วนใหญ่ไม่ตระหนักถึง Privacy ของตัวเอง

ทุกวันนี้ถึงได้เกิดคดีความประเภทขโมยอัตลักษณ์บุคคล การแฮ็กบัตรเครดิต ไปจนถึงจำข้อมูลส่วนบุคคลไปขาย และกรณีการใช้ข้อมูล Manipulate พฤติกรรมของคนในเรื่องการเมือง และการบริโภคได้โดยไม่รู้ตัว

ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือ กรณี Cambridge Analytica ที่เอาข้อมูลผู้ใช้งานเฟซบุ๊กมาวิเคราะห์จนทำให้ทรัมป์ชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ได้ข้อมูลของบัญชีผู้ใช้งานมาแบบไม่ถูกต้อง ไปเอาโดยที่เจ้าของบัญชีไม่ได้อนุญาต เพราะไว้ใจเฟซบุ๊กว่าจะไม่เอาข้อมูลไปขาย แต่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก กลับเอาไปขายก่อนถูกเปิดโปง นั้นทำให้เจ้าตัวต้องไปให้การต่อกรรมาธิการ สภาคองเกรส

“ในอนาคต ข้อมูลที่รัฐบาลได้ไป สามารถเอาไปใช้จับพฤติกรรมคนได้อีกหลายอย่าง จริงๆ ไม่ต้องมีเลขบัตรประชาชน แค่มีเบอร์โทร.กับอีเมล ใช้โปรแกรม AI ดีๆ นี่จับ ID คนได้แล้วด้วยซ้ำ ถ้าประมาทไม่ปกป้อง Privacy ของตัวเองนี่ เวลาเจอยิง Ads เข้ามามือถือ เฟซบุ๊ก หรือยูทูบ ก็อย่าบ่นว่าทำไมระบบรู้ดีจังว่า อยากจะกินอะไร หรือซื้ออะไร แล้วถ้าเกิดแสดงความเห็นทางการเมืองอะไรไปในโซเชียลแล้ว ตำรวจมาถึงบ้านนี่ก็ไม่ต้องแปลกใจเช่นกัน เพราะพวกคุณประมาท ไม่รักษา Privacy และปล่อยให้รัฐเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของคุณเอง”

ดังนั้น จึงสะท้อนว่า เราไม่ควรไว้ใจรัฐบาลเรา ลองได้ข้อมูลไปแล้วมีประวัติว่าทำหลุด หรือเอาไปขาย ต่อให้อมพระมาพูดว่า จะเก็บไว้อย่างดี ให้เฉพาะคนควบคุมโรค หรือลบทิ้งหลัง 60 วัน ก็ยังเชื่อไม่ได้

 

อีกหนึ่งคนที่มาตั้งข้อสังเกตต่อแอพลิเคชั่นตัวนี้ อาจล้ำเส้นความเป็นส่วนตัว คือ คุณปรเมศวร์ มินศิริ แห่งเว็บกระปุกดอทคอม ก็ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า 

รัฐบาลประกาศเปิดตัวไทยชนะเป็น App บนมือถือแล้ว โดยระบุว่าเป็น App ในแอคเคาท์ของธนาคารกรุงไทยซึ่งเป็นธนาคารของรัฐบาล

ตอนนี้มีให้โหลดแล้วบนมือถือแอนดรอยด์ จากข่าวคือจะมีระบบเช็ค OTP มือถือแล้วทำให้ระบุตัวตนได้จริงๆไม่สามารถปลอมเบอร์มือถือได้แบบช่วงสิบวันที่ผ่านมา ลองกดดูในหน้านี้ตรง Permissions และ View details ได้นะครับ https://play.google.com/store/apps/details…

แอพนี้จะเข้าถึงอะไรในมือถือของผู้ที่ติดตั้งบ้าง

1. สามารถเข้าถึงตำแหน่งของโทรศัพท์ (Location) ถ้าเจ้าของไม่เปิด GPS ก็จะระบุได้คร่าวๆจากโครงข่ายผู้ให้บริการมือถือ แต่ถ้ามือถือนั้นเปิด GPS ก็จะระบุตำแหน่งเป๊ะๆได้เลยจากพิกัดดาวเทียม

2. สามารถเข้าถึงไฟล์รูปภาพ มีเดีย(วิดีโอ) และไฟล์ต่างๆได้

ทั้งนี้แลกกับฟีเจอร์ที่เพิ่มมาคือ การระบุตัวตนได้ และการลืมเช็คเอาท์ ตามข่าวนี้ https://www.thairath.co.th/news/politic/1855514

ซึ่งก็เป็นที่น่าสงสัยว่าถ้าจะแก้ปัญหาสองอย่างนี้ มีความจำเป็นจะต้องขอเข้าถึงตำแหน่งของโทรศัพท์มือถือรวมถึงการเข้าถึงรูป,วิดีโอและไฟล์ของผู้ใช้หรือไม่???

เพื่อความสะดวก ผู้ที่ติดตั้งแอพนี้ควรทราบข้อมูลนี้ด้วยว่า นี่คือการยินยอมให้รัฐบาลเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้ของท่านด้วยนะครับ

ล่าสุดมีรายงานว่า ระบบได้มีการอัพเดตเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ที่ปรับปรุงไม่มีในการเข้าถึง Storage หรือคลังไฟล์ส่วนตัว/รูปภาพของผู้ใช้งานแล้ว

 

“ไทยชนะ” อาจเป็นอีกความพยายามหนึ่งของรัฐบาลในการล้วงเอาข้อมูลชีวิตประจำวันของประชาชนในนามของการควบคุมโรคระบาด เช่นเดียวกับความพยายามของรัฐบาลไทยในการจับมือกับโซเชียลมีเดียหลายแห่ง ไม่ว่าเฟซบุ๊ก หรือล่าสุดอย่างทวิตเตอร์ ที่มีการเปิดตัวแอ็กเคาต์ทวิตเตอร์ไทยแลนด์ แทนที่จะได้เสียงตอบรับในทางบวก แต่กลับได้รับการต้อนรับด้วยคำด่าทอ และผลักไสไล่ส่ง

หลายคนอาจพูดว่า เราวิตกกันเกินเหตุ พร้อมย้ำว่ารัฐบาลเคารพสิทธิเสรีภาพประชาชน

อย่างไรก็ตาม การแสดงท่าทีอันหยาบคายของผู้นำประเทศต่อเสียงท้วงติงหรือคำเตือนในการดำเนินนโยบาย หรือชอบขู่ออกสื่อว่าให้ระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ หรือการออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาล

บริหารยังมีปัญหา ความชอบธรรมก็แทบไม่เหลือ แบบนี้ประชาชนจะวางใจได้ยังไง