ในประเทศ : สภาเปิด-การเมืองเปิด สารพัดศึกใน พ.ร.ก.กู้เงิน

รัฐสภาได้เริ่มเปิดสมัยการประชุมใหม่แล้ว ศึกใหญ่นัดแรก เปิดสภาผู้แทนราษฎรเที่ยวนี้ ตอบโจทย์แก้วิกฤตโควิด-19 พิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก) จำนวน 4 ฉบับ

3 ฉบับแรก เพื่อระดมทุน วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อมารับมือกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แบ่งเป็น พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อการเยียวยา และดูแลฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.อีก 2 ฉบับ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้สำหรับดูแลภาคธุรกิจ พิจารณาทำสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท และอีก 4 แสนล้านบาทไว้สำหรับตั้งกองทุนรับซื้อตราสารหนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ

ส่วนอีก 1 ฉบับ เป็น พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 เพื่อปรับเปลี่ยนวางกฎการประชุมออนไลน์ พร้อมหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยประชุมให้สอดรับกับมาตรการเว้นระยะห่าง

แน่นอน อภิปราย พ.ร.ก.ดังกล่าว วิป 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เคาะเวลา 5 วัน โดยเริ่มวันที่ 27-31 พฤษภาคม ตั้งแต่เช้ายันค่ำทุกวัน

ที่สำคัญ การเปิดประชุมสภาคราวนี้ ยังเป็นการอภิปรายท่ามกลางบรรยากาศของประเทศที่บริหารด้วยกฎหมายพิเศษ ตาม พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการประกาศเคอร์ฟิวอีกด้วย

 

แม้ว่าวันนี้สถานการณ์ด้านสุขภาพจะดีขึ้นต่อเนื่อง

โดยเฉพาะตัวเลขการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะอยู่ในระดับที่ประชาชนวางใจ เริ่มออกจากบ้านกลับมาใช้ชีวิตวิถีใหม่มากขึ้นตามมาตรการคลายล็อกเฟสต่างๆ ที่ออกมา แต่รัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ยังเลือกที่จะคงการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเอาไว้

ล่าสุด มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับลูกความเห็นของสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินรอบที่ 3 อีก 1 เดือน โดยจะไปมีผลสิ้นสุดลงในวันที่ 30 มิถุนายน เลย

ยืนยันในแนวทางหลัก “สุขภาพนำเสรีภาพ”

แม้จะมีคำถามที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากภาคธุรกิจและฝ่ายการเมืองต่อแนวทางการรวมศูนย์เพื่อจัดการกับวิกฤต เพราะทุกมาตรการที่รัฐออกมา หากไม่รักษาสมดุลให้ดี ล้วนมีผลกระทบหนัก ซ้ำเติมเศรษฐกิจยิ่งขึ้นไปอีก ขณะที่กิจกรรมการเมืองที่โควิดได้มาหยุดแทบจะทุกความเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ก็เริ่มกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง

เป็นบรรยากาศที่ไม่เหมือนกับสถานการณ์เมื่อรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างสิ้นเชิง

จากที่คนกลัวโรค สนับสนุนรัฐรวบอำนาจ มาวันนี้เสียงคัดค้านเริ่มกระหึ่มขึ้น

พ.ร.ก.ฉุกเฉินกลายเป็นสารพัดข้อครหาในการรักษาอำนาจ

หาว่าคงไว้ยึดอำนาจการบริหารจากพรรคร่วม หยุดแรงกระเพื่อมจากภายในรัฐบาล

หาว่ายืดออกไปเพื่อคุมสารพัดแฟลชม็อบที่ฮึ่มๆ จะกลับมาเคลื่อนไหวเหมือนเมื่อก่อนที่จะมีโควิด

แน่นอน ครหานี้เกิดขึ้นจริงแล้ว เมื่อหน่วยงานความมั่นคงใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินโควิดเอาผิดประชาชนที่ออกมาทำกิจกรรมต่อต้านรัฐบาล ในวันครบ 6 ปีรัฐประหาร 22 พฤษภาคม ที่หน้าหอศิลป์ แยกปทุมวัน

 

สถานการณ์ช่วงเปิดสมัยประชุมสภาทำให้การเมืองที่ถูกหยุดไปชั่วขณะจากโรคระบาด กลับมาคึกคักอีกครั้ง

เป็นความคึกคักที่สถานะเสียงปริ่มน้ำของรัฐบาลได้เปลี่ยนไปด้วย

เพราะผลการยุบพรรคอนาคตใหม่ ไม่เพียงทำให้ 11 กรรมการบริหารพรรคที่เป็น ส.ส.ต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่ยังทำให้เกิด ส.ส.งูเห่า แตกรังย้ายค่ายไปซบซีกรัฐบาลเป็นจำนวนมาก ทำให้จำนวนล่าสุดจนถึงขณะนี้มีองค์ประชุม 487 เสียง เป็นของซีกรัฐบาลถึง 276 ขณะที่ฝ่ายค้านมีเพียง 211 ส.ส.เท่านั้น

ห่างกันถึง 65 เสียง โดยยังไม่นับงูเห่าที่ยังเนียนอยู่ในเพื่อไทยอีกจำนวนหนึ่ง

ดังนั้น ในวาระใหญ่ ผ่าน 3 พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท สำหรับรัฐบาล จึงไม่น่าเป็นห่วง

ผ่านสบายๆ อย่างที่นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้วิเคราะห์ไว้ “วันนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองใดพร้อมจะรับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง”

เพราะถ้า พ.ร.ก. 4 ฉบับนี้ไม่ผ่าน ตามมารยาทรัฐบาลก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ ไม่ยุบสภาก็ต้องลาออก จึงมั่นใจว่าจะผ่านความเห็นชอบได้แน่ เพราะ ส.ส.รัฐบาลทุกคน ต้องลงมติเห็นชอบตามมติวิป

 

วันนี้เมื่อฝ่ายค้านอ่อนแอ แรงกระเพื่อมจากภายในเท่านั้นจึงจะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล

ทั้งนี้ ตามจังหวะที่รัฐบาลอ้างสุขภาพมาเป็นเงื่อนไขเพื่อกุมอำนาจไว้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่รอยร้าวจากภายในที่ไม่สามารถปกปิดได้กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

จากมหากาพย์อันเป็นผลจากจำนวนที่นั่งใน ครม.ที่มีไม่เพียงพอต่อรัฐบาลผสมเกือบ 20 พรรค

แข่งกันนับหัว ส.ส.แบ่งเก้าอี้กันแบบการเมืองเก่าๆ จากที่ต้องเอาคนติดล็อกลง ส.ส.ไม่ได้ หวังใช้ภาพเทคโนแครต ชูภาพการเมืองใหม่ๆ ปกปิดภาพรัฐบาลทหารสืบทอดอำนาจ แต่กลับเดินสวนไปอีกทาง แย่งชิงการนำกันเอง แม้แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด ตบหน้า “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ที่ป่าวประกาศให้ฝ่ายการเมืองต้องสามัคคี ประเทศไทยต้องชนะ

หวังไล่นายอุตตม สาวนายน หัวหน้า กับนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค 2 กระทรวงเศรษฐกิจที่ขึ้นตรงต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เพื่อต้องการเชิด “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ พี่ใหญ่ 3 ป.ผู้มีบารมี เทกแคร์ ส.ส.ในพรรคได้ทุกกลุ่ม ขึ้นมาเป็นผู้นำแทน หวังใช้เป็นกระดานหกไปเขย่าเก้าอี้สำคัญใน ครม.

โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

หาเชื้อ โดยนำเอาภาพความไม่พอใจของประชาชนจากมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด ผ่านโครงการเราไม่ทิ้งกัน ซึ่งเป็นเงินในงบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท มาผสมโรง

ถึงขนาดแยกวง ส.ส.เตรียมพร้อมรับมือการอภิปรายศึกใหญ่อันเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล

โชว์ขุมพลัง นับหัว ส.ส.กลุ่มใครก็ทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์ปกป้องในทีมกันเอง

ผสมเอาทุกเรื่องปักใส่กัน ผลร้ายเข้าตัวเอง จนคนไม่เชื่อมั่นรัฐบาลในการใช้จ่ายเงินกู้

 

จึงไม่แปลกที่ตามจังหวะที่ซีกพรรคค้านนำโดยพรรคก้าวไกล ยื่นญัตติให้มีการตั้ง กมธ.เพื่อตรวจสอบการใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาภายใต้วิกฤตการระบาดของโคโรนา 2019 เพื่อติดตามมาตรการเยียวยาประชาชน และการใช้งบประมาณของรัฐบาล จึงถูกขานรับจากพรรคประชาธิปัตย์ที่มีมติให้ยื่นญัตติในทำนองเดียวกันต่อวิปรัฐบาล เพื่อประกบญัตติของพรรคก้าวไกลด้วย

แม้ท่าทีของพรรคพลังประชารัฐต่อกรณีนี้ยังไม่ชัด แต่การประกาศยื่นญัตติประกอบกับพรรคก้าวไกลของพรรคประชาธิปัตย์ ส่งนัยยะชัดในการขอร่วมวงติดตามตรวจสอบ

ติดตามตรวจสอบในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน ตามกลไกของสภา

เป็นศึก “ภายใน” อีกชั้นที่ พล.อ.ประยุทธ์น่าจะหงุดหงิด หงุดหงิดเพราะมีต้นเหตุมาจากตัวเอง

ที่ออกกู้เงิน วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ จากรวมศูนย์สั่งการ โดยไม่มีความเห็นของสภา หรือแม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลในการร่วมตัดสินเลยแม้แต่นิดเดียว