ลึกแต่ไม่ลับ : 8+2+1+1+3+5 จุดลงตัว“โหมดเลือกตั้ง”โดยไม่มี“เงื่อนไขพิเศษ”

หมายกำหนดการ “พระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560” ลงวันที่ 1 เมษายน ความว่า วันที่ 6 เมษายน “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เสด็จฯ ไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชเลขานุการในพระองค์ฯ เชิญรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว

พระราชทานแก่นายกรัฐมนตรี เจ้าพนักงานอาลักษณ์ กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประทับพระราชลัญจกรและเชิญไปประดิษฐานบนพานทองที่เสาบัวหน้ามหาสมาคม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์ฯ อ่านกระแสพระราชปรารภ “ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560”

“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560” เป็นไปตามกลไกของ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2558” ที่ได้บัญญัติให้มี “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” มีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อใช้เป็นหลักในการปกครอง และเป็นแนวทางในการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น

โดยได้กำหนดกลไกเพื่อจัดระเบียบและสร้างความเข้มแข็งแก่การปกครองประเทศขึ้นใหม่ด้วยการจัดโครงสร้างของหน้าที่และอำนาจขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ และสัมพันธภาพ “ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร” ให้เหมาะสม การให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่นซึ่งมีหน้าที่และอำนาจรัฐสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สุจริต เที่ยงธรรม และมีส่วนในการป้องกันหรือแก้ไขวิกฤตของประเทศ ตามความจำเป็นและความเหมาะสม การรับรอง ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยให้ชัดเจนและครอบคลุมอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

โดยถือว่าการมีสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก การจำกัดตัดสิทธิเสรีภาพเป็นข้อยกเว้น แต่การใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ เพื่อคุ้มครองส่วนรวม การกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต่อประชาชนเช่นเดียวกับการให้ประชาชนมีหน้าที่ต่อรัฐ การวางกลไกป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่เข้มงวด เด็ดขาด เพื่อมิให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลเข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง หรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ และการกำหนดมาตรการป้องกันและบริหารจัดการวิกฤตการณ์ของประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนได้กำหนดกลไกอื่นๆ ตามแนวทางที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ระบุไว้

เพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาประเทศตามแนวนโยบายแห่งรัฐและยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งผู้เข้ามาบริหารประเทศแต่ละคณะ จะได้กำหนดนโยบายและวิธีดำเนินการที่เหมาะสมต่อไป ทั้งยังเป็นกลไกการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ที่สำคัญและจำเป็นอย่างร่วมมือร่วมใจกัน

“รวมตลอดทั้งการลดเงื่อนไขความขัดแย้งเพื่อให้ประเทศมีความสงบสุข บนพื้นฐานของความรู้จักสามัคคีปรองดอง การจะดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ให้ลุล่วงไปได้ จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประชาชนทุกภาคส่วนกับหน่วยงานทั้งหลายของรัฐ ตามแนวทางประชารัฐภายใต้กฎเกณฑ์ตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560” มีทั้งหมด 16 หมวด จำนวน 279 มาตรา ประกาศใช้ ณ วันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2560 ซึ่งตรงกับ “วันจักรี” วันที่ระลึกถึง “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” ปฐมบรมราชวงศ์จักรี ซึ่งเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ดำรงราชอาณาจักรสยามประเทศ และทรงสร้างกรุงเทพมหานครขึ้นเป็นเมืองหลวงไทย

เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ของประเทศไทย เป็นฉบับแรกใน “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสิทธิ” ซึ่งเสด็จขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559

เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ณ วันที่ 6 เมษายนแล้ว วันเวลาแห่งการคาดคะเน โรดแม็ปว่าด้วยการโหมดเลือกตั้งใหญ่ จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

ไล่ลำดับไปทีละขั้นตอนดังต่อไปนี้ คือ

1. คณะกรรมการยกร่าง จัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ “กฎหมายลูก” 10 ฉบับ แต่ 4 ฉบับ ให้แล้วเสร็จก่อนประกอบด้วย พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส., พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว., พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง และร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ภายในกรอบเวลา 240 วัน หรือ 8 เดือน

นับหนึ่งจากวันที่ 6 เมษายน ไปมีจุดลงตัวใน 8 เดือน ไม่เกินวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2560

2. เมื่อ “กรธ.” ร่างกฎหมายลูกเสร็จสมบูรณ์ ส่งร่างให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ “สนช.” พิจารณาร่าง ภายใน 60 วัน ไม่เกินวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561

3. “สนช.” เมื่อพิจารณาแล้วเสร็จ ส่งเรื่องให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ. ในข้อไหนขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ มีหรือไม่มีจุดบกพร่อง มีกรอบเวลา 30 วัน จบขั้นตอนที่ 3 ไม่เกินวันที่ 1 มีนาคม 2561

4. นำรัฐธรรมนูญส่งให้นายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นกราบบังคมทูลเกล้าฯ ภายใน 30 วัน ไม่เกินวันที่ 1 เมษายน 2561

5. รอประกาศใช้กฎหมายลูก หรือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับภายใน 90 วัน หรือ 3 เดือน มีจุดลงตัวในวันที่ 30 มิถุนายน 2561 โดยประมาณ

6. เมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ ก้าวถัดไปคือ กำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน หรือ 5 เดือน

นำของแต่ละคาบช่วง ของทุกขั้นตอนจากลำดับที่ 1 ถึงขั้นตอนที่ 6 มาตั้งโจทย์ ยกยอดมาเป็นตัวเลข เท่ากับ 8+2+1+1+3+5

ลากโยงจากจุดสตาร์ต ณ วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 วันที่ 6 เมษายน 2560 ศิโรราบรวม 19 เดือน

ดังนั้น จุดลงตัวโหมดเลือกตั้งของประเทศไทย จะได้นับหนึ่งราวเดือนพฤศจิกายน 2561

โดยมี “หมายเหตุ” ไว้ในวรรคท้ายกันเหนียวหน่อยว่า กรณีที่ว่า หมายถึงปกติ รื่นไหล ไม่มี “เงื่อนไขพิเศษ” ใดๆ มาคั่นรายการ