วิกฤติศตวรรษที่ 21 | การเมืองเรื่องไวรัส

วิกฤตินิเวศ สงครามและการยับยั้งสงคราม (6)

การเมืองเรื่องไวรัส

การเมืองเป็นเรื่องของการแข่งขันเพื่อการควบคุมสถานการณ์หรือการนำ ดังนั้น เรื่องราวทั้งหลาย ประเด็นและสถานการณ์ทั้งหลายสามารถแปรเป็นเรื่องการเมืองได้ทั้งสิ้น ในท่ามกลางการแข่งขันเพื่อการควบคุมและการนำ

การเมืองมี 3 ระดับใหญ่ คือ

ก) ระดับต่ำกว่ารัฐ ประกอบด้วยครอบครัว องค์กรธุรกิจ เช่น บริษัทต่างๆ ก็มีการเมืองมาก กับทั้งมีการจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีอิทธิพลสูง เช่น สมาคมอุตสาหกรรม หอการค้า องค์กรประชาชนและเอ็นจีโอ และองค์กรอื่น คือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น กลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น กลุ่มผลประโยชน์หลากหลาย เช่น สมาคมอุตสาหกรรม ไปจนถึงกลุ่มค้ายาเสพติด ค้าของเถื่อน

ข) ระดับรัฐ ซึ่งแม้อยู่ในกระบวนโลกาภิวัตน์ ก็ยังคงเป็นผู้แสดงหลัก

ค) ระดับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ จัดตั้งเป็นกลุ่มองค์กรที่เรียกกันว่า “องค์กรเหนือรัฐ” เช่น องค์การสหประชาชาติ กลุ่มสหภาพยุโรป เป็นต้น

ในสามระดับนี้ มักเน้นสองระดับท้าย แต่ในระดับแรกก็มีความสำคัญในแง่เป็นพื้นฐาน บ่อยครั้งมีอิทธิพลครอบงำรัฐบาลในบางเรื่องบางสถานการณ์

สำหรับโควิด-19 การกลายเป็นเรื่องการเมืองมีลำดับเหตุการณ์ดังนี้คือ

วันที่ 31 ธันวาคม 2019 ทางการจีนได้แจ้งต่อองค์การอนามัยโลกว่าได้เกิดโรคระบาดปอดอักเสบลึกลับ กระจุกตัวอยู่ในเมืองอู่ฮั่น ในขณะนั้น การเมืองเรื่องไวรัสจำกัดอยู่แต่ในประเทศจีน

วันที่ 13 มกราคม 2020 พบผู้ติดเชื้อไวรัสนอกประเทศจีนรายแรกในไทย การเมืองเรื่องไวรัสได้ลามสู่ไทย มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลต่างๆ นานา (เมื่อถึงกลางเดือนพฤษภาคมที่รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ การเมืองเรื่องไวรัสในไทยจึงได้ซาลง)

วันที่ 23 มกราคม จีนประกาศให้เมืองอู่ฮั่นเป็นเขตกักกันโรค ต่อมาไม่กี่วันก็ขยายไปรวมทั้งมณฑลหูเป่ย เป็นการเสี่ยงครั้งใหญ่ สหรัฐและตะวันตกเฝ้าดูว่า การระบาดของโควิด-19 จะกลายเป็น “เชอร์โนบิลของจีน” หรือไม่

วันที่ 30 มกราคม องค์การอนามัยโลกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทางการสาธารณสุขระดับโลก การเมืองเรื่องโควิด-19 ก็ยกระดับสู่ระดับโลกเช่นกัน วันรุ่งขึ้น ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศห้ามชาวจีนและบุคคลชาติใดที่ไปเมืองจีนในระยะ 14 วันที่ผ่านมาเข้าประเทศ

ในเดือนมีนาคม โควิด-19 ได้ระบาดหนักในยุโรปและสหรัฐ เป็นภาระใหญ่ที่รัฐบาลเหล่านี้จะต้องควบคุมสถานการณ์ให้ได้ มาตรการหนึ่งที่ปฏิบัติกันตามแบบจีนคือการตั้งเขตกักกันโรค การปิดกิจกรรมนอกบ้านที่ไม่จำเป็นทั้งหมด เป็นต้น เมื่อถึงวันที่ 31 มีนาคม ประชากรโลกมากกว่า 1 ใน 3 ต้องอยู่แบบถูกกักบริเวณในแบบใดแบบหนึ่ง การเมืองเรื่องไวรัสได้ลามสู่ระดับครัวเรือนและระดับต่ำกว่ารัฐ

การเมืองเรื่องไวรัสระดับครอบครัวมีหลายอย่าง ที่ควรกล่าวถึงได้แก่

รายงานข่าวจากหลายประเทศทั่วโลกว่า ได้เกิดมีความรุนแรงในครัวเรือนมากขึ้น หลังห้ามคนออกจากบ้านถ้าไม่จำเป็น

เช่น ในกลุ่มประเทศคาบสมุทรบอลข่าน สตรีนางหนึ่งที่นครซาเกร็บ ประเทศโครเอเชีย ร้องเรียนว่า “ก่อนหน้าการกักกัน เขาเพียงแต่ด่าว่าฉันต่างๆ หาว่าฉันเป็นโสเภณีบ้าง หาว่าไปจูบกับชายอื่นบ้าน แต่เขาไม่เคยทุบตีฉัน จนกระทั่งวันนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เขาต่อยฉันอย่างแรงที่หัว เป็นครั้งแรก”

นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาปัญหาครอบครัวในประเทศมาซิโดเนียเหนือให้ทัศนะว่า

“ผู้ที่อยู่ในครอบครัวที่ไม่ดี ในช่วงเวลาของการกักกันให้อยู่โดดเดี่ยว เพิ่มความเสี่ยงในความรุนแรงขึ้นอีก เนื่องจากมีความเครียด ความผิดหวัง และความขมึงตึงที่เพิ่มขึ้น ส่งเสริมตัวแบบพฤติกรรมที่ไม่ดีเหล่านี้ให้สูงขึ้นในครอบครัวดังกล่าว”

(ดูบทความของ Xhorxhina Bami และคณะ ชื่อ Covid-19 and Domestic Abuse : When Home is not the Safest Place ใน balkaninsight.com 21/04/2020)

การเมืองเรื่องเชอร์โนบิลของจีน

สื่อตะวันตกหลายสำนักหลายประเทศ วิเคราะห์การระบาดของโควิด-19 ว่าอาจคล้ายกับอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิลของสหภาพโซเวียตปี 1986 นั่นคือเหตุการณ์นั้นก่อความเสียหาย ความไม่พอใจและอาการขวัญเสียให้แก่ชาวโซเวียตอย่างรุนแรง

จนถึงขั้นทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย

มิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำสหภาพโซเวียตคนสุดท้ายกล่าวว่า “อุบัติเหตุโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิล มีผลกระทบต่อการรณรงค์ปฏิรูปพรรคโซเวียต มากกว่า (เปเรสทรอยกา) ของผมเสียอีก บางทีมันอาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สหภาพโซเวียตต้องล่มสลายในอีกห้าปีต่อมา” (ดูบทความของ Liubomir K. Topaloff ชื่อ Is Covid19 China”s “Chernobyl Moment”? ใน thediploamt.com 04/03/2020)

การสร้างเรื่องดังกล่าวขึ้นเกิดจากเจตนาเบื้องลึกของตะวันตก ที่ต้องการเห็นความเพลี่ยงพล้ำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในทำนองเดียวกับที่เคยเกิดกับพรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียตมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม มีนักวิเคราะห์ตะวันตกบางคนเห็นต่างไปโดยชี้ว่า การที่ตะวันตกเฝ้ารอการล่มสลายของจีนจากอุบัติเหตุใหญ่หรือรอคอยเชอร์โนบิลของจีนนั้น ยากที่จะเป็นจริง

เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็รักษาการนำของตนได้อย่างไม่ลำบาก

ยกตัวอย่าง ปี 2008 เกิดเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ที่มณฑลเสฉวน ก่อความเสียหายต่ออาคารโรงเรียน บ้านเรือนเป็นอันมาก ผู้คนเสียชีวิตถึง 70,000 คน

ในปลายปีนี้มีเด็กเล็กต้องล้มป่วยเนื่องจากกินนมที่ปนเปื้อนซึ่งสะท้อนระบบอาหารที่เปราะบางของจีน

ในปี 2011 เกิดอุบัติเหตุรถไฟความเร็วสูง มีผู้เสียชีวิต 38 คน บาดเจ็บ 192 คน ก่อความตกใจและความโกรธเกรี้ยวรุนแรงต่อสาธารณชนจีน ที่เห็นว่ารัฐบาลพยายามปกปิดความจริง

นักวิเคราะห์ผู้นี้ชี้ว่าการระบาดของโควิด-19 ที่แพร่เชื้อไปรวดเร็ว มีผู้คนล้มตายและทางการจีนมีพฤติกรรมปกปิดเหตุการณ์ในช่วงต้น ที่สำคัญคือการปิดปากนายแพทย์หลี่เหวินเหลียง และเพื่อน ไม่ให้แพร่เรื่องนี้ออกไป แต่ชาวอเมริกันก็ไม่ควรคิดว่าเป็นการ “ล่มสลายของประเทศจีน”

ทั้งนี้เพราะว่า จีนมีกลไกและข้อปฏิบัติจำนวนหนึ่งที่รักษาความบริสุทธิ์และการนำของพรรคได้ ได้แก่

ก) หาเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นมาเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะแม้ระบบปกครองของจีนจะมีลักษณะรวมศูนย์ แต่ก็มีการกระจายความรับผิดชอบให้แก่ท้องถิ่นในการปฏิบัติและทำนโยบายให้เป็นจริง ในกรณีโควิด-19 ปรากฏว่าเลขาธิการพรรคประจำหูเป่ยถูกปลดจากตำแหน่ง

ข) ใช้ลัทธิปฏิบัติการเฉียบพลัน (Actionism) หรือตอบโต้เชิงรุกหรือกระทั่งมากเกินไป มีการระดมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติจำนวนมากลงพื้นที่ การสร้างโรงพยาบาลสนามนับพันๆ เตียงในเวลาอันสั้น และที่เป็นข่าวใหญ่ก็คือการปิดมณฑลหูเป่ย ซึ่งกล่าวกันว่ามีผู้คนถึง 50 ล้านคน ภาพการปฏิบัติการดังกล่าวเผยแพร่ทั่วประเทศจีน และเป็นที่ชื่นชม

ค) ควบคุมเรื่องเล่าข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 อย่างเข้มงวด คล้ายกับว่าทางการสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างเด็ดขาด เป็นผู้นำที่ควรแก่การยอมรับนับถือ

ผู้เขียนบทความนี้ชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในจีนที่สำคัญมาจากข้างบน ดังนั้น สีจิ้นผิงที่ทำทีเหมือนกับว่าจะเป็นผู้นำไปตลอดชีวิต แต่ในทางเป็นจริงคงจะต้องส่งมอบอำนาจให้แก่ผู้นำอื่นในปี 2022 ซึ่งหมายถึงว่า จะมีการต่อสู้ทางการเมืองภายในพรรคตลอด 2 ปีข้างหน้านี้ (ดูบทความของ Rory Truex ชื่อ China”s Chernobyl Never Seems to Arise ใน theatalntic.com 17/02/2020)

การเมืองเรื่องเชอร์โนบิลของจีนถือว่าจุดไม่ติด

การเมืองเรื่อง “ไวรัสของจีน”

ขณะที่การเมืองเรื่องเชอร์โนบิลของจีนจุดไม่ติด ก็มีการเปิดเกมการเมืองใหม่ที่แรงกว่า นำโดยผู้บริหารระดับสูง ได้แก่ ประธานาธิบดีทรัมป์ และนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศ ข้อหาสำคัญคือ โควิด-19 นี้เป็นไวรัสของจีน เกิดในประเทศจีน

และเป็นไปได้ที่จะหลุดจากห้องปฏิบัติการทางชีวภาพที่เมืองอู่ฮั่นของจีน

ในประการต่อมาคือ จีนมีพฤติกรรมไม่โปร่งใส ปกปิดความรุนแรงในการระบาดของเชื้อทำให้สหรัฐเกิดความประมาท จนเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นอันมาก

สำหรับการขู่และข้อเรียกร้อง ได้แก่ การเรียกค่าเสียหายจากเป็นจำนวนนับแสนล้านดอลลาร์ และเรียกร้องให้ตั้งคณะอิสระไต่สวนเรื่องนี้ ปฏิบัติการดังกล่าวขยายวงไปสู่การโจมตีองค์การอนามัยโลก วันที่ 12 เมษายน ทรัมป์ประกาศตัดเงินอุดหนุน 400 ล้านดอลลาร์ที่จะให้แก่องค์การนี้ กับทั้งกดดันพันธมิตรตนให้เข้าร่วม ซึ่งมีประเทศเข้าร่วมสำคัญ ได้แก่ ออสเตรเลียและเยอรมนี

ปฏิบัติการจริง มีรัฐมิสซูรีของสหรัฐฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจีนที่ประพฤติไม่เหมาะสมในการจัดการโควิด-19 ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2020 ก่อนหน้าหนังสือพิมพ์ “บิลด์” ที่ขายดีที่สุดของเยอรมนีออกบทความว่าจีนเป็นหนี้เยอรมนีเกือบ 150 พันล้านยูโรในกรณีนี้ ส่วนออสเตรเลียเรียกร้องให้มีการไต่สวนเชื้อไวรัสโดยองค์การอิสระ

จีนตอบโต้ข้อกล่าวหาทุกประเด็นและต่อทุกคนอย่างรุนแรง กราดเกรี้ยว การเมืองเรื่องไวรัสของจีนยังไม่จบ แต่มันก็ได้ชี้สถานการณ์การเมืองโลกใหญ่สองประการ ได้แก่

ก) โอกาสทองในการรุ่งเรืองอย่างสันติของจีนได้สิ้นสุดลง นับแต่นี้ไปจีนจะต้องเผชิญกับอุปสรรคความยากลำบากอย่างไม่เคยประสบมาก่อนในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา

ข) โลกเข้าสู่ยุคสงครามเย็น 2.0 เต็มรูปแบบ เป็นสงครามพันทางระหว่างสหรัฐและคณะ (คาดว่าจะได้แก่ อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และอิสราเอล) ฝ่ายหนึ่ง กับจีน-รัสเซียอีกฝ่ายหนึ่ง ล่อแหลมที่จะเกิดความปั่นป่วนและสงครามใหญ่

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการเมืองเรื่องทำให้เส้นโค้งของการระบาดราบลง และโควิด-19 กับความเหลื่อมล้ำ และความยากจน