มนัส สัตยารักษ์ | วิปริตเกิดก่อนวิกฤต

หลังวิกฤตไวรัส “โควิด-19” ระบาดไปทั่วโลก ทะเลไทยที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่งถูกปิด คาดว่าจะใช้เวลาหลายปีเพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นฟูตัวเอง แต่เพียงไม่นานก็มีเรื่องดีเกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดหมาย นั่นคือ ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศใต้ทะเลเริ่มฟื้นตัว สัตว์ทะเลหายากปรากฏให้เห็น

มีภาพหญ้าทะเล ปลาดาว และปะการังที่สมบูรณ์ให้เราได้เห็นอีกครั้ง

มีภาพสัตว์ทะเลหายากหรือที่เราไม่เคยเห็นตัวจริงมาก่อน เช่น พะยูน ฝูงโลมา วาฬ ปลาการ์ตูนและสัตว์ทะเลสวยงาม ฯลฯ

การที่ธรรมชาติช่วยฟื้นตัวเองได้เร็วทำให้มีความหวังว่าอีกไม่นานเราจะได้กลับไปสู่จุดเดิม หรือก้าวพ้นวิกฤตไปสู่โลกใหม่ที่ปลอดจากไวรัสโควิด-19

แม้ว่าวันถัดมาเราได้เห็นภาพขยะเกลื่อนเต็มชายหาดบางแสนหลังจากที่เปิดให้ประชาชนเข้าไปใช้ได้เพียงวันเดียว แต่ทุกคนคงพยายามคิดในแง่ดีว่าเป็นธรรมชาติของชายหาดริมทะเล หรือเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนไทยที่ไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมจนกลายเป็นนิสัยประจำตัว

ดังนั้น จึงไม่ควรท้อถอยจนยอมแพ้

ปรากฏการณ์ของ “ตู้ปันสุข” ที่ส่งกระแสชื่นชมอย่างสูงอยู่ในสังคมไทย ทำให้นึกย้อนไปถึงเทวดาเดินดินทั้งหลาย ตั้งแต่บิณฑ์ บันลือฤทธิ์ กับพวก อาทิวราห์ คงมาลัย กับพวก และคนอื่นๆ อีกหลายชุดหลายคน

พวกเขาถูกคุกคามข่มขู่ กระแหนะกระแหน รวมทั้งถูกจ้องจับผิดอย่างไม่น่าเชื่อ

ตอนที่บิณฑ์ใช้เงินส่วนตัวไปบรรเทาทุกข์ชาวอุบลราชธานีที่ถูกน้ำท่วมนั้น บิณฑ์ทำก่อนรัฐบาลเสียอีก วันรุ่งขึ้นมีประชาชนร่วมบริจาคสมทบจำนวนมากจนเวลาผ่านไประยะหนึ่ง บิณฑ์ต้องบอกยุติการรับบริจาคและให้สัมภาษณ์ต่อสื่อแจ้งยอดเงิน 44 ล้าน

ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจัดรายการเรี่ยไรทางทีวี (ตามรูปแบบโบราณ) ได้เงินบริจาคเพียง 30 ล้าน โดยส่วนหนึ่งเป็นเงินจาก 2 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง

ผมจำได้ว่ามีกระทาชายนายหนึ่งแสดงความจำนงจะขอตรวจสอบการใช้จ่ายของบิณฑ์ เป็นเหตุให้สื่อรุมประณามอย่างรุนแรงถึงการ “เผือก” โดยไม่มีสาเหตุ แต่ตัวบิณฑ์เองกลับเต็มใจชี้แจงด้วยอาการปกติ

ย้อนไปเมื่อครั้งที่อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ “ตูน บอดี้สแลม” ทำโครงการ “ก้าวคนละก้าว” เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยวิ่งจากอำเภอใต้สุดของประเทศ (อ.เบตง จ.ยะลา) ไปเหนือสุด (อ.แม่สาย จ.เชียงราย) เป็นระยะทางเกือบ 2,200 กิโลเมตร โดยตั้งเป้าระดมเงินบริจาคให้ได้ไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท จากคนไทยคนละ 10 บาท

สุดท้ายเกินเป้าไปถึง 1,143 ล้านบาท!

เงินจำนวนนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการดูแลประชาชนที่เจ็บไข้ได้ป่วยและเข้ามารับรักษาพยาบาลจาก 11 โรงพยาบาล

แต่พิธีกรของทีวีช่องหนึ่งพูดกระแหนะกระแหน เยาะเย้ยและถากถาง “ตูน” เกือบทุกรายการ จนกระทั่งมีผู้สื่อข่าวไปขอสัมภาษณ์ตูนในจุดนี้ก่อนออกวิ่ง “ตูน” ตอบเรียบๆ ว่าเขาถนัดทำมากกว่าพูด

ทั้งสองเรื่องข้างต้น ถูกนักวิเคราะห์อ่านว่า เป็นเพราะมีกลุ่มนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นว่าหน้าที่สนับสนุนโรงพยาบาลต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ไม่ควรให้ประชาชนเข้าไปรับภาระ

ความจริงแล้วกลุ่มการเมืองไม่ได้มองผิดไปแต่อย่างใด หลายครั้งที่เราเองก็รู้สึกว่ารัฐบาลละเลยในหลายปัญหาที่เกิดขึ้น ปล่อยให้ประชาชนแก้ปัญหาเอง คล้ายกับรัฐบาลมีงานอื่นหลายอย่างที่ต้องรีบทำ หรือไม่ก็รัฐบาลยังไม่มีสมองคิดหรือไม่มีน้ำยาที่จะทำ

ก่อนจะมี “ตู้ปันสุข” เรามี “โรงทาน” นับพันตามพระดำริของสมเด็จพระสังฆราช ครบ 77 จังหวัดจากการประสานงานของสำนักงานพระพุทธศาสนา (พศ.) โดยได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน ตลอดจนแม่ครัวและพ่อครัวจิตอาสา ทั้งหมดทั่วประเทศ 914 โรงทาน

“ตู้ปันสุข” คล้ายกับ “ตุ่มน้ำใจ” ตามวัฒนธรรมของคนไทยสมัยก่อน ผมเกิดทันได้เห็นหลายบ้านที่ต่างจังหวัด จะมีตุ่มน้ำเล็กๆ ใส่น้ำฝนโรยดอกมะลิหรือเหยาะน้ำยาอุทัยไว้บริการแก่ผู้สัญจรผ่านไปมา

ขณะที่เขียนนี้มีผู้ใจบุญบริจาคตู้ วางตู้ เติมของแห้งใส่ตู้เพื่อบริการผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ครบทุกจังหวัด จังหวัดละหลายตู้ นอกจากเอกชนแล้ว หน่วยงานราชการหลายแห่งต่างวางตู้และแสดงน้ำใจไทย เท่าที่นึกออกขณะนี้ก็คือ จังหวัดอุดรธานี หน้าโรงเรียนเสนาธิการทหารบก กองบัญชาการตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

“ตู้ปันสุข” ก็เช่นเดียวกับงานของอาทิวราห์ คงมาลัย และบิณฑ์ บันลือฤทธิ์ กล่าวคือ มาก่อนรัฐบาล (ฮา)

มีบางพฤติกรรมน่ารังเกียจเกิดขึ้นที่บริการ “ตู้ปันสุข” จนเป็นข่าวอื้อฉาวในสื่อทุกสาขา นั่นคือ มีคนพวกหนึ่งที่โลภจนไม่ยอมแบ่งปันให้ใครอื่น ใช้ยานพาหนะรถยนต์หรือจักรยานยนต์ ขนพวกพร้อมด้วยถุงหรือกระเป๋าใส่ของมากวาดไปจนเกลี้ยงตู้ภายในเวลา 2 นาที

ผู้ตั้ง “ตู้ปันสุข” รายหนึ่งขอถอนตัวออกจากความเป็นคนไทยใจบุญ เพราะเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย เนื่องจากถูกคุกคามจากผู้ที่มาแล้วไม่พบตู้ ที่เจ้าของเก็บเข้าบ้านเพราะฝนตกและของบริจาคในตู้หมด

ข้อความที่เขาเกาะรั้วตะโกนบอกแม่บ้านก็คือ เรียกร้องให้เจ้าของตู้ต้องรับผิดชอบ เขาเดินทางมาไกล เสียค่าเดินทางสูง

ขณะเดียวกัน นักสังเกตการณ์ทางการเมืองพบว่า มีนักการเมืองกลุ่มหนึ่งกระจายข่าวว่ากำลังรวบรวม “ความคับแค้น” เพื่อบรรจุใส่ “ตู้ปันทุกข์” ที่พรรคของตัวเองตั้งขึ้น

เท่านั้นยังไม่พอ พล.อ.ประยุทธ์ยังให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาคนโลภว่า จะสั่งให้ติดกล้อง CCTV เพื่อเล่นงานคนโลภ ซึ่งเท่ากับเป็นการขยายความขัดแย้งเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่เรื่องของคนโลภที่วิปริตทำนองนี้มันจะค่อยๆ หายไปเอง ไม่ใช่เรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นจากงบประมาณของแผ่นดิน

และการให้สัมภาษณ์ราวกับตัวเองเป็นเจ้าของโครงการ “ตู้ปันสุข” ครั้งนี้ ดูเหมือนจะช่วยให้เข้าทางของนักการเมืองที่ขุดล่อเอาไว้

เพื่อนนักเขียนของผมหลายท่านให้ความคิดเห็นเชิงปราชญ์ไว้ใน FB ที่น่ารับฟัง ผมขออนุญาตนำมากล่าวย้ำตรงนี้อีกครั้ง…

“ตู้ปันสุขก็เหมือนกับเทน้ำใส่ขวด บางหยดมันก็กระเด็นไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ลงขวด”… โดม วุฒิชัย เขียนประเสริฐ

“ตู้ปันสุข…เมื่อให้แล้วก็จบ มนุษย์ต่างมีที่มาไม่เท่ากัน จงให้จนกว่าเขาจะรู้จักพอ นั่นคือธรรมแห่งการบริจาค”… Rungruang Preechakul

“มีคนถามมาว่า รู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นคนยกโขยงกันไปขนของจากตู้แบ่งปันเหมือนโจรปล้น ผมบอกไปว่าเฉยๆ เพราะไม่ใช่คน…เป็นเปรตฝูงหนึ่งต่างหากเล่า!”… Akeakkee Ake

ส่วนตัวผมยังมีความเป็นตำรวจอยู่ในสายเลือด แค่อดกังขาไม่ได้ว่า ทำไมเราจึงต้องทำภาพเบลอกับใบหน้าคนและหมายเลขทะเบียนรถของคนโลภในคลิป ทั้งที่พวกเขาเป็นคนไม่มีวินัยและน้ำใจ มันเหมือนกับเราช่วยกันปกป้องสิทธิ์ของอาชญากรตัวร้าย และสนับสนุนความวิปริตของสังคม

“ตู้ปันสุข” ควรจะเป็นวัฒนธรรมของคนไทย แทน “ตุ่มน้ำใจ” ที่ร้างลาไป เพราะเราคงจะอยู่กับโควิด-19 หรือไม่ก็อยู่กับรัฐบาลแบบนี้ไปอีกนาน