วิเคราะห์ : “อ” นอร์มอล “จำปี” โรย “ซอฟต์” แลนดิ้ง?

19 พฤษภาคม 2563 ถือเป็นวันเปลี่ยนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หลังจากก่อตั้งและให้บริการครบรอบ 60 ปีในปีนี้

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เห็นชอบให้ “การบินไทย” เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย

พร้อมกับมติให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นใน “การบินไทย” ต่ำกว่า 50% เพื่อให้หลุดพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจโดยเด็ดขาด

เรียกว่าเป็นการ “กดปุ่มรีเซ็ต” เปลี่ยนสถานะของ บมจ.การบินไทย จากที่เดิมเป็น “รัฐวิสาหกิจ” พร้อมกับเป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหุ้น (โดยกระทรวงการคลังหรือรัฐถือหุ้นใหญ่)

แต่หลังจากที่กระทรวงการคลังดำเนินการขายหุ้นในการบินไทยออกไปราว 3-4%

ก็จะทำให้ “การบินไทย” พ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ มีสถานะเป็นบริษัทมหาชน ภายใต้กฎหมายมหาชนเท่านั้น และจะส่งผลให้ “สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย” ถูกยุบไปโดยอัตโนมัติ

เป้าหมายก็เพื่อ “ปลดล็อก” หรือ “เคลียร์ทาง” ให้สามารถเดินเข้าสู่เส้นทางฟื้นฟูกิจการภายใต้กฎหมายล้มละลายได้อย่างราบรื่น

เพราะสถานะทางการเงินของการบินไทยอยู่ใน “ขั้นวิกฤต” เนื่องจากขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง และผลกระทบจากโควิด-19 ที่ปรึกษาการเงินคาดว่าจะทำให้ปี 2563 การบินไทยจะขาดทุนสูงถึง 59,062 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยรวมอยู่ที่ 219,198 ล้านบาท และจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 47,297 ล้านบาท

ที่สำคัญกระแสเงินสดของบริษัทจะหมดในเดือนมิถุนายน 2563

แม้ว่าผลกระทบจากโควิด-19 จะทำให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกระเนระนาด ต่อแถวเข้าคิวฟื้นฟูกิจการในศาลล้มละลายทั่วโลก แต่สำหรับการบินไทย แม้ไม่มีโควิด-19 สถานการณ์ก็ย่ำแย่ต้องผ่าตัดใหญ่อยู่แล้ว

เพียงแต่ที่ผ่านมา “ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง” ทั้งหลายยังมุ่งรักษาผลประโยชน์ส่วนตนและเครือข่าย ทำให้ความพยายามฟื้นฟูกิจการที่ผ่านมาไม่สำเร็จ และโควิด-19 จึงกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดจุดเปลี่ยน “การบินไทย”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า พื้นฐานในการตัดสินใจครั้งนี้มองว่า การบินไทยควรเป็นองค์กรที่ช่วยสร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับคนไทย และมีความสามารถในการแข่งขัน มีความเข้มแข็งในตัวเองได้อย่างไร และรัฐบาลจะสนับสนุนการฟื้นฟูการบินไทยอย่างเต็มที่ เพื่อให้ดำเนินกิจกรรมต่อไปได้ แม้ไม่ได้รับเงินจากรัฐบาล จึงให้เข้าไปอยู่ภายใต้การคุ้มครองและการฟื้นฟูของศาล เพื่อแต่งตั้งมืออาชีพเข้ามาบริหารฟื้นฟูการบินไทย เป้าหมายก็เพื่อการบินไทยกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติที่คนไทยจะภาคภูมิใจ และกลับมาเป็นองค์กรที่แข็งแกร่งช่วยสร้างความรุ่งเรืองให้กับประเทศไทยได้

โดยกระบวนหลังจากนี้ก็คือ “กระทรวงการคลัง” ต้องเร่งดำเนินการขายหุ้นการบินไทยออกไปให้กับ “กองทุนวายุภักษ์” ซึ่งไม่ได้มีสถานะเป็น “รัฐ”

 

ฟาก “กระทรวงคมนาคม” ซึ่งถือว่าเป็น “ผู้กำกับ” การบินไทย และมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้การบินไทยเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในศาลล้มละลายครั้งนี้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จากนี้การบินไทยจะเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาลทันที โดยจะมีการยื่นขอฟื้นฟูทั้ง “ศาลไทยและสหรัฐ” และปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐเหลือต่ำกว่า 50% เพื่อหลุดพ้นการเป็นรัฐวิสาหกิจโดยเด็ดขาด และพ้นจากข้อจำกัดของ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูให้สำเร็จ

รวมทั้งพ้นจากข้อจำกัดของ พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ 2518 ซึ่งช่วยให้สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาได้

“อย่างไรก็ตาม การบินไทยจะยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคมแม้จะไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจแล้วก็ตาม”

นายศักดิ์สยามอธิบายชะตากรรมการบินไทยหลังจากนี้ว่า ในการดำเนินการฟื้นฟู มี 10 ขั้นตอน การบินไทยจะต้องยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลเพื่อตรวจบัญชีลูกหนี้ และเมื่อศาลรับคำร้อง การบินไทยจะได้รับคุ้มครองพักชำระหนี้ (Automatic Stay)

จากนั้นการบินไทยจะต้องตั้งคณะทำงานเจรจากับเจ้าหนี้ทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อแสดงให้เห็นว่าแผนฟื้นฟูสามารถทำให้ฐานะการเงินของการบินไทยกลับมาแข็งแกร่งได้ จากนั้นศาลจะต้องนัดไต่สวนและอนุมัติตั้งผู้ทำแผนต่อไป

สำหรับการตั้ง “ผู้ทำแผน” ตามแนวทางคือให้ “การบินไทย” (ลูกหนี้) เสนอตัวเป็น “ผู้ทำแผน” ต่อศาล

แต่จะเป็น “New การบินไทย” ที่หลุดพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ชุดใหม่เข้าไป ซึ่งตามข้อบังคับบริษัท ตั้งได้สูงสุด 15 คน

สอดคล้องกับที่นายศักดิ์สยามระบุว่า ขณะนี้ระหว่างทาบทามบุคคลประมาณ 15 รายชื่อ ที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ด้านต่างๆ เช่น ด้านบุคคล การเงิน บริหาร การบิน ที่ปราศจากการแทรกแซง ให้เข้าเป็นผู้ทำแผน โดยจะเสนอชื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาในสัปดาห์หน้า และเมื่อศาลเห็นชอบผู้ทำแผนก็จะเข้าควบคุมกิจการและดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูเสนอที่ประชุมเจ้าหนี้เพื่ออนุมัติ และส่งให้ศาลพิจารณาเห็นชอบพร้อมแต่งตั้ง “ผู้บริหารแผน” เพื่อดำเนินการตามแผนฟื้นฟูต่อไป

“ส่วนรายชื่อจะมีนายจรัมพร โชติกเสถียร อดีตดีดีการบินไทย หรือนายชาติชาย พยุหนาวีชัย เอ็มดีธนาคารออมสินหรือไม่นั้น ขอให้เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ตัดสินใจ แต่คนที่เข้ามาจะต้องเป็นคนที่เป็นมืออาชีพและทุกคนยอมรับ โดยคาดว่าในเดือนมิถุนายน การบินไทยจะสามารถยื่นขอฟื้นฟูต่อศาลได้ ขณะที่ 10 ขั้นตอนฟื้นฟูจะใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี ส่วนที่จะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูเมื่อไหร่ขึ้นอยู่กับผู้จัดทำแผนและการบินไทย แต่จากโมเดลของสายการบินแจแปนแอร์ไลน์ใช้เวลา 14 เดือน ออกจากการฟื้นฟู และกลับมามีกำไรปีละ 2 พันล้านเหรียญ” นายศักดิ์สยามกล่าว

ขณะที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลนั้น บริษัทการบินไทยก็ยังสามารถดำเนินกิจการให้บริการได้ตามปกติ ซึ่งตามแผนป้องกันแพร่ระบาดโควิด-19 การบินไทยจะเริ่มกลับมาบินใหม่หลังเดือนมิถุนายนนี้

แหล่งข่าวกระทรวงคมนาคมอธิบายถึงเหตุผลที่ต้องยื่นขอฟื้นฟูที่ศาลสหรัฐด้วยเพราะว่า การบินไทยมีเจ้าหนี้ต่างประเทศด้วย และส่วนใหญ่หนี้สัญญาเช่าเครื่องบินราว 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งการยื่นขอฟื้นฟูต่อศาลสหรัฐจะทำให้การบินไทยได้รับการคุ้มครองพักชำระหนี้ หรือ Automatic Stay ครอบคลุมทั่วโลก ในกรณีที่การบินไทยมีทรัพย์สินอยู่ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอาคารสำนักงานหรือเครื่องบิน ก็จะได้รับการคุ้มครองไม่ให้ถูกยึดทรัพย์

และทำให้การบินไทยยังสามารถเปิดให้บริการเส้นทางบินเข้าประเทศต่างๆ ได้โดยไม่ถูกยึดเครื่องบิน

 

อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนกระบวนการฟื้นฟูนั้นยังมีปัญหาอุปสรรคอีกมากมาย โดยเฉพาะการเจรจากับ “เจ้าหนี้” ทั้งหลายเพื่อให้ยอมรับในกระบวนการต่างๆ

โดยเฉพาะในตัว “15 อรหันต์” ที่จะมานั่งเก้าอี้บอร์ดใหม่การบินไทย (ลูกหนี้) เพื่อรับบท “ผู้ทำแผน” ซึ่งกำลังเป็นที่จับตาว่าเป็นใคร

เพราะในกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ นั่นหมายความว่า “เจ้าหนี้” ทุกรายจะต้องยอมรับต่อ “ความเสียหาย” ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่การยืดชำระหนี้ออกไป -ลดหนี้ (แฮร์คัต) -แปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งหมายถึงการที่เจ้าหนี้จะไม่ได้รับหนี้คืนเต็มจำนวน

นอกจากนี้ เพื่อความแข็งแรงของการบินไทยยังอาจจำเป็นต้องหา “พันธมิตร” เข้ามาเพิ่มทุนหรือใส่เงินเข้าไปเพื่อที่จะทำให้กิจการกลับมาเดินอย่างแข็งแรงได้

ขณะเดียวกันก็ต้องทำแผนปรับโครงสร้างธุรกิจ รวมถึงการปรับลดขนาดองค์กร พนักงานกว่า 2 หมื่นคน ซึ่งคาดว่าจะต้องมีการปรับลดอย่างน้อย 30% หรือประมาณ 6,000 คน รวมถึงการยกเครื่องแผนธุรกิจเส้นทางบิน วิธีขายตั๋ว เพื่อให้สอดรับกับแผนการปรับโครงสร้างหนี้ซึ่งต้องอยู่บนพื้นฐานว่า “การบินไทย” จะสามารถกลับมาทำกำไรเพื่อที่จะนำเงินไปใช้คืนหนี้ได้ตามแผน

และแผนทุกอย่างต้องผ่านความเห็นชอบจากเจ้าหนี้และศาล

เช่นที่รัฐมนตรีคมนาคมระบุว่า ตามกระบวนการฟื้นฟู 10 ขั้นตอนจะใช้เวลาไม่ถึงปี แต่ที่การบินไทยจะสามารถเดินตามแผนฟื้นฟูและออกจากแผนได้เมื่อไหร่นั้นต้องขึ้นอยู่กับแผนฟื้นฟูที่ทั้งการบินไทยและเจ้าหนี้ร่วมกันทำให้สำเร็จ

นี่จึงเป็นมหากาพย์บทใหม่ “การบินไทย” หรือเจ้าจำปี ที่จะต้องดูว่าจะสามารถซอฟต์แลนดิ้ง เพื่อแปลงร่างและเหินฟ้าได้อีกครั้งหรือไม่