ความจริง-ความยุติธรรม และความตาย 99 ศพ 10 ปี พฤษภาเลือดปี “53 คำถามเดิม-ใครสั่งฆ่า?

ครบรอบ 10 ปี เหตุสลายการชุมนุมทางการเมืองกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 ในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เป็นเหตุให้ประชาชนเสียชีวิต 99 คน บาดเจ็บพิการเกือบ 2 พันคน

หลายคนยังเฝ้ารอความยุติธรรมทั้งครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บต้องการเอาผิดผู้สั่งการกระชับวงล้อมขอคืนพื้นที่

ใช้กระสุนจริงซุ่มและกราดยิงใส่ประชาชน

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ครอบครัวผู้สูญเสียต่างเดินหน้าทวงถามและติดตาม จนได้ความจริงจากเหตุการณ์นองเลือดเมษายน-พฤษภาคม 2553 บางส่วน เมื่อศาลมีคำสั่งถึงสาเหตุการตายจำนวน 18 ศพว่า

ตายเพราะถูกกระสุนปืนจากฝั่งเจ้าหน้าที่

18 ศพที่ศาลมีคำสั่งว่าถูกกระสุนจากฝั่งเจ้าหน้าที่ยิงใส่ ประกอบด้วย

1. นายพัน คำกอง คนขับแท็กซี่ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ย่านราชปรารภ

ศาลอาญามีคำสั่งเสียชีวิตขณะเจ้าหน้าที่กำลังควบคุมสถานการณ์การชุมนุมตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ซึ่งมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการศูนย์

ต่อมาครอบครัวนายพัน คำกอง ยื่นฟ้องศาลเองและถือเป็นคดีแรก

อย่างไรก็ตาม ศาลอาญามีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีเนื่องจากจำเลยเป็นนายทหาร คดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลอาญา

ภรรยานายพัน คำกอง จึงยื่นคำร้องอุทธรณ์เนื่องจากเห็นว่า จำเลยเป็นนายทหารปฏิบัติตามคำสั่งของ ศอฉ. ที่สั่งให้ใช้กำลังตำรวจและพลเรือนเข้าร่วมปฏิบัติการปิดล้อม จึงเห็นว่าคดีนี้เป็นกรณีทหารร่วมกระทำความผิดกับพลเรือน

เดิมศาลนัดฟังคำสั่งวันที่ 21 เมษายน 2563 แต่เนื่องจากเกิดสถานการณ์โรคโควิด จึงเลื่อนนัดฟังคำสั่งออกไป

2. นายชาญณรงค์ พลศรีลา คนขับรถแท็กซี่ ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ย่านราชปรารภ

3. นายชาติชาย ชาเหลา ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 บริเวณถนนพระราม 4

4. ด.ช.คุณากร หรืออีซา ศรีสุวรรณ อายุ 14 ปี ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ย่านราชปรารภ

5. พลทหาร ณรงค์ฤทธิ์ สาละ ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 28 เมษายน 2553 บริเวณหน้าอนุสรณ์สถาน ถ.วิภาวดีรังสิต ขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ชุดลาดตระเวนเคลื่อนที่เร็ว ก่อนถูกกระสุนปืนความเร็วสูงจากฝั่งเจ้าหน้าที่

6. นายฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพชาวอิตาลี ถูกยิงเสียชีวิตวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 บริเวณถนนราชดำริ

 

รายที่ 7 ถึง 12 จำนวน 6 ศพ

นายรพ สุขสถิต พนักงานขับรถรับจ้าง, นายมงคล เข็มทอง เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิ, นายสุวัน ศรีรักษา เกษตรกร, นายอัฐชัย ชุมจันทร์ บัณฑิตคณะนิติศาสตร์, นายอัครเดช ขันแก้ว หนุ่มรับจ้างทั่วไป และ น.ส.กมนเกด อัคฮาด หรือน้องเกด พยาบาลอาสา

ทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม เขตอภัยทาน ในวันสิ้นสุดเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2553

กรณีวัดปทุมวนาราม ศาลมีคำสั่งว่าทั้ง 6 ศพถูกยิงจากกระสุนฝั่งเจ้าหน้าที่ ส่วนผลการตรวจจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ไม่พบเขม่าดินปืนและร่องรอยการยิงต่อสู้ของทั้ง 6 ศพ ศาลยังระบุด้วยว่า

ไม่มี “ชายชุดดำ” ในที่เกิดเหตุ

รายที่ 13-14 นายจรูญ ฉายแม้น และนายสยาม วัฒนนุกูล ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา วันที่ 10 เมษายน 2553

15. นายถวิล คำมูล ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณสวนลุมพินี วันที่ 19 พฤษภาคม 2553

16. นายนรินทร์ ศรีชมภู ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณทางเท้าหน้าคอนโดฯ ถนนราชดำริ วันที่ 19 พฤษภาคม 2553

17. นายเกรียงไกร คำน้อย ศพแรกในเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองเมษายน-พฤษภาคม 2553 ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ข้างกำแพงกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553

18. ชายไทยไม่ทราบชื่อ ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณหน้าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553

“เผาบ้านเผาเมือง” วาทกรรมที่ฝ่ายตรงข้ามใช้โจมตีทำลายกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.คนเสื้อแดง

จากเหตุการณ์เพลิงไหม้ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ หลังเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมพื้นที่ชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ วันที่ 19 พฤษภาคม 2553

อีก 9 ปีต่อมาหลังเกิดเหตุ ศาลแพ่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2562 ถึงความจริงเหตุการณ์ดังกล่าว

เมื่อกองทุนรวมธุรกิจไทย 4 รวมถึง บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา, บริษัทเซ็นทรัลเวิลด์ และบริษัท ห้างเซ็นทรัล ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัทประกันภัย เป็นจำเลยในความผิดสัญญาประกันวินาศภัย

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พฤติกรรมดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง และไม่ปรากฏชัดว่าเป็นการกระทำของผู้เข้าร่วมชุมนุมคนใด หรือสั่งการจากแกนนำแต่อย่างใด ที่สำคัญเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ฟังไม่ได้ว่าเป็นการก่อการร้าย

ต่อมาวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัท ศูนย์รับฝากทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท แฟมิลี่ โนฮาว จำกัด เป็นโจทก์ที่ 1-3 ยื่นฟ้อง 6 บริษัทประกันภัย

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ไม่ใช่การลงมือของกลุ่ม นปช.ที่ต่อต้านรัฐบาล แต่เป็นการกระทำของกลุ่มคนที่ปิดบังใบหน้า หวังผลให้เกิดความเสียหาย ที่สำคัญการก่อเหตุเป็นช่วงหลังจากการชุมนุม และเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมพื้นที่หมดแล้ว

จึงเข้าเงื่อนไขการประกันภัย สอดคล้องกับคำพิพากษาศาลแพ่งก่อนหน้านี้

เนื่องในวาระ 10 ปีเหตุการณ์พฤษภา “53

19 พฤษภาคม 2563 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือองค์การนิรโทษกรรมสากล ได้ออกแถลงการณ์ถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ความยุติธรรมยังไม่บังเกิดว่า

นอกจากการดำเนินคดีอาญากับแกนนำและผู้ชุมนุมประท้วงบางส่วนแล้ว

ความยุติธรรมยังคงไม่เกิดขึ้น ไม่มีการเปิดเผยความจริง และไม่เยียวยาต่อครอบครัวผู้ถูกสังหารครั้งนั้น

ในโอกาสครบรอบ 10 ปีวันสุดท้ายในการปราบปรามรุนแรง แอมเนสตี้ฯ เรียกร้องทางการไทยให้นำตัวผู้มีส่วนรับผิดชอบทั้งหมดมาลงโทษทันที ตามกระบวนการที่เป็นธรรมของศาลพลเรือน และเยียวยาอย่างเป็นผลต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต

แอมเนสตี้ฯ เน้นย้ำการขาดความยุติธรรม ความจริงและการเยียวยาจากรัฐบาล สำหรับผู้ถูกสังหารและทำร้ายระหว่างการชุมนุมปี 2553 เน้นให้เห็นถึงปัญหาการลอยนวลพ้นผิดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยังเกิดขึ้นต่อไป

รัฐบาลเพิกเฉยต่อกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมและการใช้กำลัง

เหตุที่ทางการไม่สามารถแก้ไขปัญหาจากการละเมิดเหล่านี้ได้ ทำให้เกิดบรรยากาศความหวาดกลัวโดยทั่วไป ที่สำคัญเปิดโอกาสให้ปฏิบัติมิชอบและการละเมิดเช่นนี้อีก โดยผู้กระทำไม่ต้องถูกลงโทษ

ดังนั้น ทางการไทยต้องดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ทั้งในปัจจุบันและอดีต

รวมถึงบุคคลที่มีส่วนรับผิดชอบและผู้ทำหน้าที่สั่งการ

 

ส่วนความเห็นจากฟากฝั่งพรรคการเมืองแกนนำรัฐบาลขณะนั้น

นายราเมศ รัตนเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาชี้แจงเหตุสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.คนเสื้อแดงปี 2553 ว่า

เรื่องนี้ผ่านการพิสูจน์จากกระบวนการยุติธรรมจนสิ้นกระแสความแล้วว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้อำนวยการ ศอฉ.

ไม่ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา

หลักฐานจากรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ยืนยันชัดเจนการชุมนุมปี 2553 เป็นการชุมนุมไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุชัด

ศาลยุติธรรมมีคำสั่งยกฟ้องทั้ง 3 ศาล ขณะที่ผลวินิจฉัยของ ป.ป.ช.เป็นที่ยุติว่าการกระทำของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย โดยให้เหตุผลว่าอยู่ในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง

เป็นข้อเท็จจริงสอดคล้องต้องกันตามที่ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

ก่อนสรุปรวบรัดเรื่องนี้ควรยุติได้แล้ว เพราะผ่านการค้นหาความจริงด้วยกระบวนการยุติธรรม ไม่ควรใช้วาทกรรมปลุกปั่นให้ประชาชนเข้าใจผิดในข้อมูล

ทั้งนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพผ่านกระบวนการตรวจสอบการพิสูจน์ด้วยกระบวนการยุติธรรมว่าไม่ได้กระทำผิดตามที่กล่าวหา ไม่ได้สั่งฆ่าประชาชน

ฉะนั้น หากใครนำความเท็จในลักษณะดังกล่าวมาใส่ร้ายนายอภิสิทธิ์ ต้องเตรียมตัวเตรียมใจถูกดำเนินคดี

ที่มาภาพ : redphanfa2day.wordpress.com/

เหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 อันเป็นเหตุให้เกิดการตาย 99 ศพ

ยังเป็นประวัติศาสตร์ทางการเมืองรอการพิสูจน์ทั้งในแง่ความจริง และความยุติธรรม

เวลาล่วงผ่าน 10 ปี ความจริง-ความยุติธรรมอาจถูกปกปิด บิดเบือนด้วยชั้นเชิงเทคนิคด้านข้อกฎหมายที่ทำงานสอดประสานเป็นเครือข่าย

ถึงกระนั้น ลักษณะพิเศษของความจริง-ความยุติธรรมคือ ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถปกปิด บิดเบือนได้ตลอดไป

ครอบครัวผู้สูญเสียยังเฝ้ารอวันกระบวนการยุติธรรมทำหน้าที่เสาะแสวงหาความจริง

นำตัวผู้สั่งการและผู้ร่วมกระทำผิดล้อมปราบประชาชนผู้บริสุทธิ์มาลงโทษ

ไม่ว่าผ่านไปอีกกี่ปีหรืออีกกี่สิบปีก็ยังรอ

พร้อมเดินหน้าทวงถามความยุติธรรมโดยไม่ท้อถอย