เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | ศีลธรรมใหม่ของโลกใหม่

ศัพท์ใหม่ในคำเก่าที่กล่าวขานกันวันนี้คือคำ NEW NORMAL แปลตรงๆ ก็คือ ปกติใหม่ ขยายความได้เป็น ความเป็นปกติในวิถีใหม่ หรือวิถีใหม่แห่งความเป็นปกติสุขนั่นเอง

วิถีในที่นี้หมายถึงวิถีชีวิต ซึ่งเป็นความหมายโดยรวมของคำวัฒนธรรมอันยังไม่จำแนกดีเลว เพราะวัฒนะเป็นคำกลางๆ ถ้าวัฒนะดีก็จะเป็นอารยะ วัฒนะไม่ดีก็จะเป็นหายนะ

เพราะฉะนั้น วิถีใหม่ของความเป็นปกติจึงควรมีความหมายมุ่งไปที่ปกติสุขเป็นสำคัญ

NORMAL นั้นเป็นความปกติธรรมดา แต่ NEW NORMAL จึงควรขยายความไปถึงความเป็นปกติสุข อันเป็นเป้าหมายของชีวิต ของสังคม และของโลกโดยรวมเป็นสำคัญ

NEW NORMAL ในที่นี้ก็คือวิถีแห่ง MORAL ที่แปลว่าศีลธรรม อันมีนัยยะหมายถึงความเป็นปกติสุขอยู่ด้วย

โลกหลังวิกฤตโควิด-19 จะเป็น “โลกใหม่” ที่ต้องมี “วัฒนธรรมใหม่” ให้เราต้องทบทวนและสร้างสรรค์

วัฒนธรรมใหม่นี่แหละที่ต้องเข้าใจร่วมกันเป็นเบื้องต้น

หนังญี่ปุ่นเรื่อง “ราโชมอน” เป็นตัวอย่างอธิบายความหมายโดยรวมของคำว่า “ธรรม” ได้ดียิ่ง ด้วยแจกแจงพฤติกรรมของสิ่งที่เรียกว่า คุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม สัจธรรม ยุติธรรม และมนุษยธรรม รวมแทรกในเรื่องนี้ทั้งหมด

อันจัดเป็นมโนธรรมสำนึกที่มนุษย์ที่แท้พึงมี

หนังดีๆ ทำนองนี้น่าจะนำมาฉายประกอบการศึกษา อบรม และในกิจกรรมต่างๆ ฝากท่านผู้เกี่ยวข้องด้วย

นี่ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่ง NEW NORMAL ของโลกใหม่

วัฒนธรรมใหม่จะมีผลต่อการปรับเปลี่ยนค่านิยมใหม่ทั้งหมดของคำว่า คุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม สัจธรรม ยุติธรรม และมนุษยธรรม

สถาบันเกี่ยวข้องมีหน้าที่เรื่องนี้โดยตรงคือสถาบันการศึกษา กับสถาบันการศาสนา

สองสถาบันนี้ต้องตื่นตัวนำร่องในเรื่องนี้ให้ดีที่สุด

เพราะการพัฒนาเปลี่ยนแปลงดีๆ ใดๆ ต้องมีพื้นฐานที่มั่นคงเป็นเบื้องต้น พื้นฐานจิตใจที่เป็นจิตสำนึกถูกต้องดีงามของผู้คนจึงเป็นพื้นฐานสำคัญสุด

การศึกษาในหลักความรู้

การศาสนาให้หลักคิด

ความรู้หมายรวมถึงความคิดด้วย ขณะที่หลักคิดอาจมิได้หมายถึงความคิดโดยรวม

ตัวอย่าง การศึกษาในโลกใหม่ที่ควรเสริมกิจกรรมให้ผู้ศึกษาสามารถนำความรู้มาปฏิบัติได้ เช่น กิจกรรมการอ่านสร้างกระบวนคิด ด้วยการให้ทุกคนได้อ่านและได้ร่วมวิจารณ์แสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่ได้อ่านด้วยกัน เป็นต้น

การศาสนาเช่นกัน นอกจากพิธีกรรมแล้วควรมีวิธีการให้คนได้เข้าใจประจักษ์ในหลักธรรมที่เป็นแก่นหรือหัวใจของศาสนาที่แท้อันเป็นปัญญาคือ “หลักคิด” นอกไปจากศรัทธาที่เป็นองค์ประกอบเพียงเท่านั้น

ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยกล่าวไว้ว่า

ศาสนาที่หนักไปข้างไสยศาสตร์นั้นมักมีแต่พิธีกรรม

ส่วนพุทธศาสตร์นั้นมักมีแต่วิธีการ

คุณสุวิทย์ เมษินทรีย์ จากกระทรวงการอุดมศึกษาฯ มีหนังสือใหม่สามเล่ม ชื่อ “โลกเปลี่ยนคนปรับ” มีนัยอธิบายในเล่มหนึ่งคือ “เตรียมคนไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในโลกหลังโควิด-19”

มนุษย์ที่สมบูรณ์ก็คือคนที่มีพื้นฐานทั้งความรู้และความคิดที่ถูกต้องเป็นเบื้องต้นสำคัญสุด

โลกใหม่ที่จะเปลี่ยนไปจึงต้องเตรียมคนที่จะปรับให้เข้ากับวิถีวัฒนธรรมใหม่ไปพร้อมกัน

สถาบันสำคัญที่จะปูพื้นฐานวัฒนธรรมใหม่ให้กับโลกใหม่ สังคมใหม่ ก็คือการศึกษากับการศาสนา

จะว่าไปให้แรงๆ ก็ได้ว่าที่ประเทศเราพัฒนางุ่มง่ามตามหลังเขาอยู่นี่ก็เพราะเรายังอ่อนด้อยทั้งในหลักกระบวนการความรู้และหลักคิดที่ถูกต้องเป็นสำคัญ

จะกล่าวอย่างเอาใจก็อาจว่า ที่ประเทศเราเริ่ม “เอาอยู่” กับวิกฤตครั้งนี้ได้ก็เพราะพลัง “ศรัทธา” ของผู้คนในสังคม อันเป็นผลจากความอ่อนด้อยของเบ้าหลอมด้านความรู้และหลักคิดอยู่เป็นส่วนหนึ่งด้วยนี่เอง

ศรัทธาในที่นี้คือ ความเชื่อต่ออำนาจอันดำรงอยู่ของกระบวนการนำ

โดยหลักธรรมนั้น ศรัทธากับปัญญาต้องมีและต้องใช้ให้เสมอกัน

ศรัทธานำปัญญา ก็จะหนักไปข้างงมงายไสยศาสตร์

ปัญญานำศรัทธา ก็จะหนักไปข้างสุดโต่งโกร่งกร่างไม่ฟังใคร

ศรัทธากับปัญญาจึงต้องมีและต้องใช้คู่กันเสมอกันอยู่เสมอ โบราณเปรียบเป็นวัวคู่เทียมเกวียนให้เดินจูงเกวียนไปด้วยพลังเสมอกันตลอดเส้นทาง

โลกใหม่สังคมใหม่ต้องการดุลยภาพของพลังสองภาคส่วนนี้ คือพลังศรัทธากับพลังปัญญาที่เติมเต็มให้กับผู้คนของเรา ก่อนจะไปพัฒนาสิ่งอันควรพัฒนาอื่นใด

หลัก NORMAL ถือปกติเป็นสำคัญ วิถีปกติใหม่หรือ NEW NORMAL จึงต้องถือเอาความปกติสุขเป็นเป้าหมายสูงสุด

ศีลธรรมคือ NORMAL โดยศัพท์ ศีลแปลว่า ปกติ ธรรมแปลว่า สิ่ง ศีลธรรมจึงแปลว่า สิ่งปกติโดยมีนัยยะที่หมายถึงปกติสุขนั่นเอง

NEW NORMAL ก็คือศีลธรรมใหม่ที่เหมาะกับวิถีวัฒนธรรมใหม่ของโลกใบใหม่

วิกฤตโควิด-19 เป็นบทเรียนใหญ่บทใหม่ที่ให้แก่โลก เพื่อให้มนุษย์ได้ตระหนักถึง

มโนธรรมสำนึกของความเป็นมนุษย์ที่แท้

โลกาภิวัตน์ใหม่

เพราะเห็นโลกรกเรื้อและรุงรัง

ไม่เหมาะเป็นที่ยังที่อยู่ได้

ร้อนก็นานหนาวก็เนิ่นจนเกินไป

มีแต่สิ่งขัดใจ ไม่เพียงพอ

มนุษย์จึงคิดขจัดปัดกวาดโลก

เขย่าโขยก ยาวบั่น ที่สั้นต่อ

ทั้งขุดเจาะจาบจ้วงเข้าล้วงคอ

โลกถึงขั้นจวนจ่อจะมรณา

โลกถึงคราวอับจนทนไม่ได้

จึงรุกไล่ ปัดกวาด สาหัสสา

เริ่มสำแดงแผลงฤทธิ์มหิทธา

เกณฑ์โลกาภิวัตน์ สะบัดพรม

เปลี่ยนระเบียบโลกใหม่ให้มนุษย์

ให้รู้หยุด รู้ทำความเหมาะสม

รู้คุณค่าแผ่นดิน ถิ่นอุดม

รู้เกลียวกลมโลกา อย่าเนรคุณ

โลกต้องเปลี่ยน คนต้องปรับ ร่วมรับรู้

ปรับเป็นอยู่เอื้อเฟื้อร่วมเกื้อหนุน

ความสมบูรณ์ของคนคือต้นทุน

สร้างสมดุลสมค่า โลกาภิวัตน์ ฯ

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์