อภิญญา ตะวันออก : “ลี บุนยึม” แรงบันดาลใจสู่ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมหนังเขมร

อภิญญา ตะวันออก

ลี บุนยึม กับโลกฉบับภาพยนตร์เขมร (2)

หาก “ครอบครัวเจ้าเสน่ห์” มีที่มาจากแรงบันดาลใจในภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่งของลี บุนยึม ซึ่งเรื่องนั้นก็คือ “กรรไกรแดง” (Red Scissors/Golden Eagle) (*) ออกฉายราวปี พ.ศ.2503 ที่กรุงพนมเปญและได้รับความนิยมมากในหมู่แฟนหนังเขมร รองแต่ก็ภาพยนตร์อินเดียที่ฉายยืนโรงกว่าหกเดือนเลยทีเดียว

“กรรไกรแดง” จึงเป็นหลักฐานว่า ขณะนั้นอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยได้เกิดขึ้นแล้วก่อนหน้ากัมพูชา

และยังก่อแรงบันดาลใจอย่างมากต่อเด็กหนุ่มคนหนึ่งซึ่งต่อมากลายเป็นผู้กำกับฯ หนุ่มแถวหน้าของกัมพูชาขณะวัย 19 ปีเท่านั้น

กล่าวคือ เมื่อ “ครอบครัวเจ้าเสน่ห์” ออกฉายในปี พ.ศ.2504 นั้น ลี บุนยึม มีอายุเพียง 19 ปี แต่หากนับแบบเขมรถือว่า 20 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ก็เหลือเชื่ออยู่ดีที่เด็กหนุ่มคนหนึ่งจะลงมือสร้างหนังบู๊แอ๊กชั่นด้วยกล้องตัวเดียว และสามารถทำรายได้ชนะหนังไทยเป็นครั้งแรก

ลี บุนยึม ยังสร้างสถิติต่อไปในปีถัดมาด้วยหนังเรื่องที่ 2 ของตนที่ดัดแปลงจากนิทานพื้นบ้านเรื่อง “สรรพสิทธิ์” ภาพยนตร์เรื่องนี้ยืนโรงฉายถึง 6 เดือน เป็นรองก็แต่หนังอินเดีย

 

มันคือแฟนตาซีที่ลี บุนยึม ตีโจทย์ความสำเร็จอย่างงดงาม เริ่มจากไอเดียหนังไทย “กรรไกรแดง” ที่แม้จะรู้ว่าด้อยศักยภาพด้านโปรดักชั่น แต่ลี บุนยึม ก็ทดแทนด้วยบทตลกร้ายโปกฮาที่โดนใจแฟนหนัง

ไม่ว่าจะเป็นฉากนางเอกถูกวายร้ายจับแขวนต่องแต่งบนต้นไม้ พอพรานป่ามาพบโดยบังเอิญ แทนที่จะเข้าช่วย กลับคิดว่าเป็นผีสาง ส่วนฝ่ายนางเอกก็สำคัญผิดว่าเป็นโจรป่ามาฆ่าตน

พลันมุขตลกแห่งความโกลาหลของการต่อสู้นี้ได้กลายเป็นแบบฉบับหนังบู๊ในเรื่องต่อๆ มาของกัมพูชาอีกด้วย

และนั่นก็ทำให้ความพร่องของโปรดักชั่น ตั้งแต่อุปกรณ์ประกอบ เช่น ดาราสมทบในบทโปลิศที่ต้องมีปืน ก็หยิบยืมปืนของพ่อมาเข้าฉาก ส่วนผู้กำกับฯ บุนยึมกับมอเตอร์ไซค์โซเล็กซ์คันหนึ่ง ก็ตระเวนขนถ่ายอุปกรณ์ไปตามที่ต่างๆ เช่นเดียวกับทีมงาน ที่เดินทางโดยจักรยานถีบขนเสบียงกรัง ยกขบวนกันไป

และทุกคนก็สนุกสนาน เหมือนไปพักผ่อนตากอากาศ

ว่าแต่มีอะไรให้ลี บุนยึม เชี่ยวชาญในกล้องภาพยนตร์ 16 ม.ม. เช่นนั้น เมื่อเขาเล่าว่า หลังจากได้รับฟิล์มคืนทางไปรษณีย์จากปารีสแล้ว เขาก็เช่าโปรเจ็กเตอร์แผนกข่าวสารอเมริกัน (USIS) และนั่งตัดต่อหนังอยู่ที่บ้าน ด้วยความแม่นยำด้านแสงและภาพที่เคยศึกษาจากตำรามาก่อน ความเสียหายจากการถ่ายทำจึงเกิดขึ้นน้อยมาก

เมื่อตัดหนังแล้ว ลี บุนยึม จึงทำเพลงประกอบโดยผสมผสานกันระหว่างดนตรีคลาสสิคและเพลงเขมรสมัย รวมทั้งการทำซาวด์อื่นๆ เช่น ฉากต่อสู้กลางป่า โดยบันทึกเป็นคาสเส็ตความยาว 2 ชั่วโมงสำหรับใช้ประกอบขณะหนังกำลังฉาย

ไม่เพียงเท่านั้น ความตื่นตาตื่นใจของแฟนหนังยังเกิดขึ้นจากคัตเอาต์ที่เขียนโดยนายช่างสา เรือน ผู้เคยเขียนใบปิดหนังในกรุงเทพฯ มาก่อน เขาเขียนภาพลี บุนยึม ยืนควงปืนประกบนางเอกสาวที่หน้าโรงหนังขนาดใหญ่ยักษ์ สร้างความประทับใจแก่ชาวพนมเปญอย่างมากเวลานั้น

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จนี้มิได้ทำให้ลี บุนยึมหลงตน ตรงกันข้าม เขากลับรู้ตัวดีว่าไม่เหมาะจะเล่นหนัง จากนั้นมา ลี บุนยึม ก็มั่นคงกับอาชีพผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับภาพยนตร์เมื่ออายุเพียง 20 เท่านั้น

ทั้งยังเป็นบุคลากรแถวหน้าแห่งวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์กัมพูชา ตั้งแต่ยุคบุกเบิก รุ่งเรือง ตราบจนวาระสุดท้าย ก่อนล่มสลายในปี 1975

 

สิ่งที่ลี บุนยึม มีคือความเป็นนักการตลาด ตั้งแต่พบว่าแฟนหนังเขมรนิยมดูหนังอินเดียย้อนยุค ถึงขนาดบางเรื่องนั้นฉายยืนโรงกว่าครึ่งปีและทำรายได้เป็นอันดับ 1 ในบรรดาทุกประเภทที่ฉายขณะนั้น

ด้วยรสนิยมคอหนังชาวเขมร ทำให้ลี บุนยึม ได้ที ดัดแปลงนิยายพื้นบ้านที่ชาวเขมรทุกคนรู้จักและเป็นแบบเรียนที่เด็กๆ ทุกคนต้องเรียนในโรงเรียนเรื่อง “สรรพสิทธิ์” ออกมาชิมลางเป็นเรื่องแรกของประเทศและเป็นเรื่องที่ 2 ของตน

“สรรพสิทธิ์” สร้างสถิติรายได้สูงสุดอีกครา แม้จะยืนโรงฉายสั้นกว่า “โอ้เอ๋ยสรัยโอน” ที่เขากำกับฯ และฉายยืนโรงนานถึง 6 เดือน! แต่หนังเรื่องนี้ก็ทำให้ลี บุนยึม ได้ออกแบบเทคนิคพิเศษและเป็นสิ่งที่ชาวเขมรสมัยนั้นไม่เคยพบเห็นมาก่อน รวมทั้งหนังเรื่องอื่นๆ ของเขา ไม่ว่าจะเป็นฉากเหาะเหินเดินอากาศ ฉากเมียอารักษ์ (ยักษ์) ไหลพุ่งออกมาจากปากยักษ์

ลี บุนยึม ทำแฟนตาซีจนคนดูรู้สึกตัวเองเหมือนเหาะเหินไปกับตัวละครที่โลดแล่นบนจอหนัง ปากต่อปาก แฟนหนังต่อแฟนหนัง พากันบอกเล่า และอยากไปเห็นมันด้วยตาตัวเอง

เมื่อเล่าเทคนิคจากเด็กหนุ่มคนหนึ่งเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษก่อน เทคนิคบลูสกรีนก้อนหินสีดำ และการกรอฟิล์มกลับมาถ่ายซ้ำในฉากเมียอารักษ์ไหลจากปากยักษ์ที่กำลังอ้าปากหาวนั้น ลี บุนยึม หัวเราะและบอกว่า “ไม่เห็นจะยากเลย” เมื่อการคิดค้นทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพื่อประหยัดงบประมาณล้วนๆ

“ในเมื่อเราไม่มีแผนกสเปเชียลเอฟเฟ็กต์เหมือนหนังฮอลลีวู้ด เราต้องอาศัยตำแหน่งกล้องทั้งหมด ถ่ายไปแก้ไป เช่น ทำให้นักแสดงตัวสูงเทียมเมฆ ทำให้แผ่นดินแยก เราก็ทำในแบบของเรา”

ความสำเร็จของ “สรรพสิทธิ์” ทำให้บริษัทหนังกัมพูชานำนิทานพื้นบ้านมาผลิตเป็นภาพยนตร์จำนวนมาก ส่วนลี บุนยึมนั้นยังเดินหน้าทำหนังแนวนี้จนถึงขั้นสร้างโรงถ่ายขนาดใหญ่บนถนนกัมปูเจียกรอมในนามบริษัทรถเพชรโปรดักชั่น

เมื่อพบว่าหนังเขมรแนวดังกล่าวเป็นที่ต้องการของประเทศเพื่อนบ้าน ลี บุนยึม ก็เพิ่มงบฯ ถ่ายทำ เช่นเรื่อง “นางสิบสอง” ที่เขาต้องใช้เวลาถ่ายทำแรมปี มีการสร้างฉากพระราชวังอย่างวิจิตรงดงาม ด้วยลายกบัจ-ประติมากรรมเขมรโบราณ จากการออกแบบของนิสิตศาลารัจนา (วิทยาลัยช่างศิลป์)

ด้วยความสำเร็จที่ท่วมท้น ทำให้พี่น้องทั้งห้าแห่งตระกูลลีหันมาทำธุรกิจบริษัทภาพยนตร์-โปรดักชั่นเฮาส์ ธุรกิจโรงถ่ายและโรงภาพยนตร์อย่างครบวงจรถึง 5 บริษัท

 

ชีวิตส่วนใหญ่ในยุค “60 ของลี บุนยึม จึงหมดไปกับการดูหนัง ถึงกับกล่าวว่า เขาผลาญเวลาไปกับการอยู่ในโรงหนังและเหลาภัตตาคารมากกว่าการทำหนังอย่างจริงจัง

ก็เมื่อความสำเร็จช่างมาเยือนง่ายดายถึงเพียงนั้น สำหรับการยืนหนึ่งในฐานะผู้กำกับฯ ที่ทำเงินสูงสุดตลอดกาลและตีคู่มากับเขา นั่นคือ โปรดักชั่นเฮาส์ของเตีย ลึมกุน

อย่างไรก็ตาม 4-5 บริษัทภาพยนตร์คุณภาพ แต่ก็ยังไม่ใช่บริษัทที่ดีที่สุดในสายตาของลี บุนยึม!

แล้วผู้กำกับฯ เขมรคนไหนที่เก่งกาจเล่า?

ในจำนวนนี้น่าจะเป็นซึน บุนลี อดีตนายตำรวจที่ยูซีสอเมริกันชักชวนมาอบรมด้านภาพยนตร์ ต่อมาเขาได้ลาออกจากราชการและก่อตั้งบริษัทนาคพันโปรดักชั่นเฮาส์ ผลิตภาพยนตร์สีแต่ไร้เสียงเรื่องแรกของกัมพูชายุค “50 ภาพยนตร์เรื่องนั้นคือ “การเปียร์พรหมจารีสรัยทุรคต” (ปกป้องพรหมจารีผู้หญิงคนยาก)

ซึน บุนลี ยังกำกับหนังคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

ส่วนลี บุนยึมนั้นนอกจากจะสร้างคุณูปการแก่วงการภาพยนตร์เขมร ไม่ว่าจะเป็นพระ-นาง-ตลก-ดาวร้ายที่มากด้วยพรสวรรค์ ได้ชื่อว่า อยู่เบื้องหลังการร่วมทุนกับโปรดักชั่นเฮาส์ในต่างประเทศ รวมทั้งหนังของเขาทุกเรื่องมักสอดแทรกคติสอนใจในหนังทุกเรื่อง

โดยเฉพาะ “สรรพสิทธิ์” ที่ให้บทเรียนบุรุษเพศในความเห็นแก่ตัวและมักคิดว่าสตรีเป็นของตาย

(*) น่าจะเป็นภาพยนตร์ “อินทรีแดง” ฉบับมิตร ชัยบัญชา (2502) จากบทสัมภาษณ์ไรยุม (2544)