พิศณุ นิลกลัด : โยนผ้าขาว

พิศณุ นิลกลัด

เมื่อต้นเดือนมีนาคม อดีตแชมป์มวยโลกชาวอังกฤษสองคนชกกันดุเดือดมาก

การต่อสู้มีขึ้นที่สนามโอทู กรุงลอนดอน ระหว่าง เดวิด เฮย์ (David Haye) วัย 36 ปี อดีตแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวต องค์กรมวยโลก (WBO) กับ โทนี่ เบลลิว (Tony Bellew) วัย 34 ปี อดีตแชมป์โลกรุ่นครุยเซอร์เวต ของสภามวยโลก (WBC)

การชกเป็นไปอย่างสูสีคู่คี่ จนกระทั่งถึงยกที่ 6 เดวิด เฮย์ มาพลาดท่าเสียหลัก จนข้อเท้าขวาแพลง แต่ไม่รู้ตัวว่ารุนแรงถึงขนาดเอ็นข้อเท้าฉีก จึงยังสู้ต่อ แล้วถูกชกร่วงโดนนับ 8

เดวิด เฮย์ ยังกัดฟันชกจนกระทั่งยก 11 ถูก โทนี่ เบลลิว ไล่ต่อยจนหลุดออกนอกเชือกกั้นเวที

แม้ เดวิด เฮย์ พยายามมุดกลับเข้าเวทีเพื่อสู้ต่อ

แต่พี่เลี้ยงของเขาตัดสินใจโยนผ้าขาวเป็นสัญลักษณ์ของการขอยอมแพ้

หลังการชก โทนี่ เบลลิว พูดชื่นชม เดวิด เฮย์ ว่าใจสู้จริงๆ ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ซึ่ง โทนี่ เบลลิว บอกว่า ที่ เดวิด เฮย์ ฮึดสู้ไม่ถอยก็เพราะมีลูกชายมาเชียร์อยู่ข้างเวที จึงไม่อยากให้ลูกผิดหวัง

ส่วน เดวิด เฮย์ เข้ารับการผ่าตัดเอ็นข้อเท้าขวา เจ้าตัวบอกว่า พักฟื้นเสร็จแล้วจะกลับมาชกมวยต่อ ยังไม่แขวนนวม

การชกครั้งนี้มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจสองอย่างที่นานทีจะมีหน คือ ชกกันตกเวที และพี่เลี้ยงโยนผ้าขาว

ในกรณีที่นักมวยถูกชกกระเด็นออกนอกเชือกหรือตกเวที กรรมการจะนับ 1 ถึง 20 มีเวลาประมาณ 20 วินาที ให้นักมวยกลับขึ้นมายืนบนเวทีชก โดยห้ามให้ใครช่วยพยุงขึ้นเวที แม้แต่พี่เลี้ยงนักมวยก็ห้ามช่วย

หากพี่เลี้ยงช่วยพยุงกลับขึ้นเวที นักมวยจะถูกตัดคะแนน หรืออาจถูกปรับแพ้ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของกรรมการบนเวที

สำหรับการที่พี่เลี้ยงข้างเวที เห็นนักมวยของตัวเองเป็นรองนักชกฝ่ายตรงข้ามมาก สู้ต่อไปไม่ไหวแล้วและโยนผ้าขนหนูขึ้นเวที (มักเป็นผ้าขนหนูสีขาวที่ใช้เช็ดตัวนักมวย) เพื่อเป็นสัญญาณการยอมแพ้ให้กรรมการห้ามบนเวทียุติการชกนั้น…

ถามว่า ตามกฎการแข่งขันชกมวยถือว่าการชกสิ้นสุดลงหรือไม่ กรรมการห้ามบนเวทีต้องยุติการชกทันทีที่เห็นพี่เลี้ยงโยนผ้าขนหนูขึ้นเวทีหรือเปล่า?

ตอบว่า ตามกติกาการชกมวย ไม่มีเขียนบัญญัติว่า เทรนเนอร์หรือพี่เลี้ยงข้างเวที สามารถยุติการชกด้วยการโยนผ้าขนหนูขึ้นเวที

ผู้ที่มีอำนาจยุติการชกแต่เพียงผู้เดียวคือกรรมการบนเวที

อย่างไรก็ตาม การที่พี่เลี้ยงโยนผ้าขนหนูขึ้นบนเวทีได้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ยอมรับกันทั่วโลกว่า เมื่อใดที่พี่เลี้ยงเห็นนักมวยตัวเองสู้ไม่ได้ โยนผ้าขนหนูขึ้นบนเวที กรรมการบนเวทีจะยุติการชกทันทีเพื่อเป็นการป้องกันนักมวยฝ่ายที่สู้ไม่ได้ ไม่ให้บาดเจ็บยิ่งขึ้น

ไม่เคยมีกรรมการห้ามบนเวทีคนใดโยนผ้าขนหนูกลับและไม่ยุติการชก

 

ที่มาของการโยนผ้าขาวของพี่เลี้ยงขึ้นเวทีเพื่อยุติการชก มีการบันทึกว่าเกิดครั้งแรกในปี 1913 โดยการชกมีขึ้นวันที่ 1 มกราคม 1913 ที่ซานฟรานซิสโก ระหว่าง ทอมมี่ เมอร์ฟี่ (Tommy Murphy) และ แฟรงกี้ เบิร์นส์ (Frankie Burns) เป็นการชกกำหนด 20 ยก

ในยกที่ 17 พี่เลี้ยงของ แฟรงกี้ เบิร์นส์ เห็นว่าแฟรงกี้สู้ไม่ไหวแล้ว จึงตัดสินใจโยนผ้าขนหนูขึ้นบนเวที

หนังสือพิมพ์ เดอะ ฟอร์ต เวย์น เจอร์นัล กาเซ็ตต์ (The Fort Wayne Journal-Gazette) แห่งรัฐอินเดียน่า ฉบับเช้าวันรุ่งขึ้นบรรยาย

Murphy went after him, landing right and left undefended face. The crowd importuned referee Griffin to stop the fight and a towel was thrown from Burns” corner as a token of defeat.

เมอร์ฟี่ไล่ถล่มแฟรงกี้ เบิร์นส์ สาดกำปั้นซ้ายขวาเข้าใบหน้าที่หมดปัญญาป้องกัน ผู้ชมตะโกนให้กรรมการยุติการชก แล้วผ้าขนหนูก็ถูกโยนมาจากมุมของเบิร์นส์ เป็นสัญลักษณ์แห่งความพ่ายแพ้

นับจากนั้น การโยนผ้าขนหนูขึ้นเวที เพื่อแสดงการยอมแพ้ก็กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ยอมรับกันในการชกมวย

Throw in the Towel กลายเป็นสำนวนภาษาอังกฤษที่แปลว่ายอมแพ้ ซึ่งใช้ได้ในทุกเรื่อง ทุกสาขา ไม่เฉพาะแต่เรื่องมวย