ความมั่นคง หรือ ความมั่งคั่ง

สิ่งที่มั่นคงก็ คือ สิ่งที่เสียหายหรือล้มหายตายจากได้ยาก เพราะมีพื้นฐานและการป้องกันอันตรายที่ดี

ในอดีตเรามักจะได้ยินคำว่าความมั่นคงจากฝ่ายทหาร แต่ปัจจุบันหน่วยงานอย่างสภาความมั่นคงแห่งชาติก็ต้องมาดูแลเรื่องโควิด ความมั่นคงทางสุขภาพจึงมีความสำคัญไม่แพ้ด้านการทหาร เรายังมีความมั่นคงอื่น ๆ อีกหลายมิติ เช่น ความมั่นคงทางเศรษฐกิจซึ่งตอนนี้เริ่มสั่นคลอนจากโควิดอีกเหมือนกัน เรายังมีความมั่นคงด้านอื่น ๆ ที่พอไปได้ถูกกระทบจากโควิดน้อยหน่อย เช่น ความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากไวรัสตัวนี้ไม่ทำร้ายพืชและสัตว์เศรษฐกิจและวิถีชีวิตทางการเกษตรมากนัก เรายังผลิตอาหารส่งออกเลี้ยงประชากรโลกได้อีกมาก นอกจากนี้ความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นนิดหน่อยเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์น้อยลงทำให้ห่วงโซ่อาหารจากต้นน้ำลำธารและป่าชายเลนและท้องทะเลได้มีเวลาพักตัว ผลิดอาหารเลี้ยงคนไทยต่อไป

วันนี้ ผมขอคุยเฉพาะเรื่องความมั่นคงทางสุขภาพ

ความมั่นคงทางสุขภาพเป็นประเด็นที่มีความสำคัญระดับโลก แต่มีสองมิติที่ไม่เหมือนกันและบังเอิญมาชนกันตอนมีปัญหาโควิด

แต่ไหนแต่ไรมา กลุ่มนักวิจัยในสหรัฐนำโดย National Institutes of Health หรือ NIH เห็นว่าโรคระบาดเป็นประเด็นที่สำคัญทางด้านความมั่นคงระดับโลก (Global Health Security) งานวิจัยของกลุ่มนี้จะเน้นด้านชีวการแพทย์ (bio-medical) เพื่อให้เกิดความเข้าใจในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย และ เชื้อโรคติดต่อที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ความช่วยเหลือที่สหรัฐฯให้แก่ประเทศต่าง ๆ ก็เป็นการวิจัยและการควบคุมโรคติดเชื้อเกือบทั้งสิ้น เมื่อโรคอีโบล่าระบาดในอัฟริกา สหรัฐฯนำหน้าเพื่อนส่งกองทัพสาธารณสุขออกสกัด เพื่อป้องกันไม่ไห้โรคแพร่กระจาย ถือเป็นวีรกรรมที่สำคัญ

สหรัฐฯเก่งเรื่อง bio-medicine แต่มีปัญหาเรื่องความเท่าเทียมอันเกิดจากระบบเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขแบบตัวใครตัวมัน อดีตประธานาธิบดีโอบาร์ม่าส่งกำลังไประงับการระบาดของอีโบล่านอกบ้านสำเร็จ แต่ในบ้านความพยายามทำให้คนจนได้รับหลักประกันมากขึ้นก็โดนต่อต้านทำไม่สำเร็จ

 

ด้านยุโรปและญี่ปุ่นซึ่งความเจริญก้าวหน้าทาง bio-medicine ยังอ่อนกว่าสหรัฐฯ กลับมีความก้าวหน้าทางระบบสาธารณสุขมากกว่า ประเทศเล็กประเทศน้อยผ่านการรบราฆ่าฟันในประวัติศาสตร์จนเบื่อ หลังสงครามโลกครั้งที่สองเกิดรวมตัวกันจนในทึ่สุดยุโรปกลายเป็นสหภาพยุโรปด้วยความคิดว่าต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน (solidarity) ทั้งยุโรปและญี่ปุ่นได้พัฒนาระบบประกันสุขภาพไปก้าวหน้ามาก เรียกการมีระบบประกันสุขภาพว่าความมั่นคงทางสุขภาพ (Health security) ทศวรรษที่ 1990 ยุโรปให้ความช่วยเหลือกระทรวงสาธารณสุขไทยโดยให้ทุนคุณหมอไปเรียนวิชาสาธารณสุข แล้วต่อด้วยวิชาเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขหลายทุนมาก ทีมคุณหมอพวกนี้ (หนึ่งในนั้นคือ หมอหงวน หรือ สงวน นิตยารัมภพงศ์) กลับมาปฏิรูประบบประกันสุขภาพ และต่อมาขายไอเดียให้พรรคการเมือง ออกกฎหมายหลักประกันสุขภาพ และตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพ เพื่อให้คนไทยทุกคนมีประกันสุขภาพได้สำเร็จ สำนักงานนี้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า National Health Security Office ซึ่งเป็นการระบุว่าการมีหลักประกันสุขภาพ คือ การมีความมั่นคงทางสุขภาพ

ความสำเร็จของไทยในการสร้างหลักประกันสุขภาพให้คนไทยทุกคนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก เกิดความเชื่อที่ว่าความมั่นคงทางสุขภาพจะนำมาซึ่งความมั่นคงทางเศรษฐกิจชองครัวเรือน สหประชาชาติจึงตั้งเป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Development Goal – SDG) ไว้ในตอนหนึ่งว่า ประชาชนทั่วโลกต้องมีหลักประกันสุขภาพภายในปี 2030 หรืออีกสิบปีข้างหน้า

ประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเป็นอันดับสองคู่แข่งสหรัฐฯ คือ ประเทศจีน อาเฮียแกค่อนข้างสนใจความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมากกว่าความมั่นคงทางสุขภาพของประชาชน ดูไปก็คล้ายสหรัฐฯอยู่เหมือนกัน ระบบประกันสุขภาพของจีนเป็นระบบที่ประชาชนต้องร่วมจ่าย (co-pay) ให้โรงพยาบาลเวลามีการใช้บริการรักษาพยาบาล โรงพยาบาลเป็นของรัฐและควบคุมโดยพรรค ฯ ก็จริง แต่ต้องหาเงินจากการรักษาพยาบาลมาเลี้ยงตัวเอง ต่างกับโรงพยาบาลรัฐไทยที่ใด้การสนับสนุนด้านสิ่งก่อสร้างและกำลังคนจากกระทรวงสาธารณสุข และได้ค่าบริการจาก สปสช.

ผมเคยไปตามดูลูกศิษย์ทำวิจัยในเมืองแห่งหนึ่งของประเทศจีนซึ่งมีไข้ไทฟอยด์ระบาดหนัก ปรากฏว่าผู้ป่วยต้องร่วมจ่ายทุกรายการตั้งแต่การเจาะเลือดตรวจเพาะเชื้อ หรือ เอ็กซเรย์เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้เป็นโรคอื่น ๆ เหลือแต่ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อไทฟอยด์เท่านั้นที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ไข้ไทฟอยด์เป็นโรคติดต่อร้ายแรง เป็นปัญหาความมั่นคงทางสุขภาพของคนในเมืองทั้งเมือง คนทั้งเมืองจึงขาดความมั่นคง ในขณะเดียวกันคนเหล่านั้นก็ขาดความมั่นคงด้านการรักษาพยาบาล คนจนต้องขอร้องหมอลดรายการตรวจลงจะได้ไม่ต้องจ่ายเงินให้โรงพยาบาลมาก แทนที่จะตรวจเลือดเพาะเชื้อให้แน่ใจว่ามีเชื้อไทฟอยด์จริง เมื่อผู้ป่วยไม่มีเงินจ่าย คุณหมอก็ต้องรักษาแบบเดาเอาโดยให้ยาไปเลย ถ้าไม่หายค่อยกลับมาว่ากันใหม่

เรื่องนี้ผ่านมาสิบกว่าปีแล้ว ปัจจุบันคนจีนมั่งคั่งกว่าคนไทย ผมให้ลูกศิษย์รุ่นใหม่วิจัยว่าผู้ป่วยวัณโรคดื้อยามีปัญหาแบบเดียวกับผู้ป่วยไทฟอยด์ในอดีตที่ผมเจอไหม เป็นที่น่าเสียใจว่าเหตุการณ์ก็ยังคงเหมือนเดิม ผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาเกือบครี่งนึงเลิกกินยา ไม่ไปหาหมออีก เพราะไม่มีเงินรักษา ส่วนที่รักษาก็มีโอกาสสิ้นเนื้อประดาตัว

ความมั่งคั่งของจีนก็ดี สหรัฐฯก็ดี ไม่สามารถแก้ปัญหาความมั่นคงให้ประชาชนให้ปลอดจากโรคติดต่อ ตราบใดที่ประเทศมหาอำนาจทั้งสองยังไม่คิดว่าความมั่นคงทางสุขภาพเป็นสินค้าสาธารณะ ที่สังคมโดยรวมได้ประโยชน์ การไม่มีหลักประกันสุขภาพ นอกจากจะทำให้คนที่มีรายได้น้อยกลายเป็นคนจนโดยสมบูรณ์เพราะมารักษาพยาบาล (impoverished by medical treatment) แล้ว ยังทำให้โรคแพร่ต่อไปในสังคมทั้งสังคมด้วย

 

ลงท้ายด้วยโควิดหน่อยครับ ผมไม่ได้ข่าวว่าทั้งจีนและสหรัฐฯจัดระบบประกันสุขภาพเป็นพิเศษสำหรับโรคนี้หรือเปล่า ผมเดาว่าใช่ในประเทศจีน ถ้าให้ประชาขนต้องจ่ายค่าตรวจหาเชื้อคงจะมีคนไม่ยอมตรวจ เพราะค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพง รัฐคงออกกฎพิเศษว่าถ้าเป็นโรคนี้ฟรีหมด แต่ถ้าตรวจพบว่าเป็นโรคติดต่ออย่างอื่นที่คล้าย ๆ กันแต่ไม่ใช่โควิด อย่างเช่นไข้หวัดใหญ่ ผมคิดว่าคงไม่ฟรี

ในสหรัฐฯ เรื่องโควิดมีหลักประกันอย่างไรบ้างหนอ ถ้าผมเป็นคนจนและคนเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย ผมคงคิดแล้วคิดอีกว่าจะไปหาหมอดีไหม ถ้าไปหาจะโดนทรัมพ์ส่งเนรเทศกลับบ้านไหม ในสหรัฐฯและอังกฤษ ผู้ป่วยโควิดที่เป็นชาวผิวดำจะมีโอกาสตายมากกว่าผู้ป่วยผิวขาวอย่างชัดเจน สีผิวและพันธุกรรมไม่น่าจะเป็นต้นตอของปัญหา ผมเดาว่า เรื่องนี้น่าจะเกี่ยวกับปัญหาหลักประกันสุขภาพด้วยแน่ ๆ

ผมอ่านไลน์จากเพื่อนแชร์มาว่า โรงแรมหรูในกรุงเทพ ฯ โฆษณาให้คนไปกินอาหาร จ่ายค่าอาหารแล้วจะแถมตั๋วให้พักโรงแรมนั้นฟรีในอนาคต ผมตอบเพื่อนไปว่า เรามีโรงแรมที่พักฟรี อาหารฟรี เน็ตฟรีอยู่ที่ชายแดน ขอให้คุณเข้ามาจากมาเลเซียทางบกคุณจะได้สิทธิ์นั้นทันที หมายเหตุด้วยว่า คุณจะปฏิเสธสิทธิ์ก็ไม่ได้ และต้องพักให้ครบ 14 วัน

ใครจ่ายค่าที่พักสำหรับคนไทยที่กลับมาจากต่างประเทศแล้วถูกกักตัวเหล่านี้ครับ ก็ระบบหลักประกันสุขภาพต่าง ๆ ทั้ง สปสช. ประกันสังคม และ สิทธิข้าราชการไงล่ะครับ แถมเรายังมีเจ้าบ้าน อบจ. สงขลาใจดีช่วยจ่ายในระยะที่เรื่องต่าง ๆ ยังไม่ลงตัวด้วย

คนไทยเราใจดีและใจถึงครับ ทุกฝ่ายเชื่อว่าจ่ายเงินให้โรงแรมเพื่อกักตัวผู้ที่อาจจะมีเชื้อ ดีกว่าปล่อยให้คนผ่านไปแพร่เชื้อติดต่อคนอื่น ๆ รวมทั้งท่านนักรบเสื้อกราวน์ด้วย

เมืองจีนก็เคยทำแบบนั้นในตอนแรก แต่ตอนนี้เปลี่ยนแล้วครับ คนจีนกลับประเทศจีนต้องโดนกักตัวที่โรงแรมในเมืองที่เครื่องบินลงจากต่างประเทศเป็นเวลา 14 วัน แล้ว ย้ายสถานที่กักตัวไปจังหวัดที่ปลายทางอีก 14 วัน ผู้เดินทางต้องจ่ายค่าห้องค่าอาหารและอื่น ๆ ทั้ง 28 วันครับ

เค้าคงจะคิดว่าคนเดินทางกลับจากต่างประเทศน่าจะมีเงินจ่ายได้ คนเดินทางต้องแบกรับความมั่นคงทางสุขภาพปลอดจากโรคติดเชื้อของคนอื่น ๆ ถ้ามั่งคั่งก็คงโอเคกระมังครับ

 

อ่านมาถึงตรงนี้ คนไทยคงรักชาติไทยมากขึ้นอีกเป็นกอง

แต่ก็อย่าลืมนะครับ จากนี้ไป เรานับวันจะมีแต่รายจ่าย รายได้ยังไม่รู้จะเอามาจากไหน รัฐบาลต้องกู้จนเกือบจะชนเพดานความมั่นคงทางการคลังแล้ว

เราเคยทรนงตนว่าเป็นหนี้ไอเอ็มเอ็ฟ เมื่อปี พศ. 2540 เพียงไม่กี่ปีก็ใช้หนี้หมด คราวนั้นทุกอย่างยังพร้อม คู่แข่งยังมีไม่มาก คราวนี้ไม่รู้ว่าจะติดกับดักโควิดนานกี่ปี

เราคงมีเศรษฐกิจพอเพียงที่ทำให้เราอยู่รอด ชาติไทยไม่ล่มสลาย แต่การใช้หนี้อาจจะไม่ง่าย ประเทศทางยุโรปใต้จวนเจียนจะล้มละลายเพราะหนี้สาธารณะอยู่หลายรอบ ต้องกู้เงินประเทศอื่นมาจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ถ้าจนแล้วยังฟุ่มเฟือยมือเติบ เราก็อาจจะตกอยู่ในสถานะนั้นก็ได้

ความมั่นคงทุกมิติต้องมีความไม่ประมาทเป็นที่ตั้งครับ